สิ้นสุดข้อสงสัยของประชาชนย่านรามคำแหง บางกะปิ ลำสาลี มีนบุรีว่า เมื่อไรจะมีรถไฟฟ้ามาวิ่งบนแท่งคอนกรีต เหนือถนนรามคำแหงสักที เพราะก่อสร้างเสร็จมาปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่มีราง ไม่มีรถ
หลังจากศาลปกครองสูงสุด พิพากษา ‘ยืนตามศาลชั้นต้น’ยกคำฟ้อง ที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ที่ฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา36 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ 2562 ว่า ออกกติกาการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตกไม่เป็นธรรม ทำให้บีทีเอสซีเสียหาย ถูกกีดกันออกจากการประมูล
ผลจากคำพิพากษานี้ ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ( บางขุนนนท์ -ศูนย์วัฒนธรรม) ซึ่งล่าช้ามา 3 ปีกว่าแล้วได้เดินหน้าเสียที หลังจากนี้ รฟม. ‘สามารถเซ็นสัญญา’ กับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีอีเอ็ม ในเครือ ช.การช่าง ของ ‘ปลิว ตรีวิศวเวทย์’ ซึ่งชนะการประมูลไปตั้งแต่เดือน กันยายน 2564
หลังจาก รฟม. ล้มประมูลรอบแรกไป แต่ในการประชุมครม. ช่วงท้ายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทวงคมนาคม บรรจุเรื่อง การเซ็นสัญญาเป็นวาระจร มีรัฐมนตรีหลายคนที่ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย เห็นว่า ‘ควรรอ’ ให้คดีในศาลปกครองถึงที่สุดก่อน พลเอกประยุทธ์จึงสั่งให้ กระทรวงคมนาคม ถอนวาระนี้ออกไปก่อน และคาราคาซังมาจนถึงวันนี้
รถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรม ถึงมีนบุรี มีแต่โครงสร้าง ไม่มีราง และระบบเดินรถ สัญญาสร้างระบบรางอยู่ในฝั่งตะวันตกจากบางขุนนท์ -ศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งยังไม่มีการเซ็นสัญญาร่วมลงทุน
คาดว่าการเซ็นสัญญาจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ ซึ่งการก่อสร้างจะใช้เวลา 4-5 ปี แต่ในส่วนของระบบราง และการเดินรถ ของสายสีส้มฝั่งตะวันออก จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี
สิ้นสุดข้อสงสัย แต่ไม่สิ้นสุดการรอคอย ต้องรอไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ประชาชนย่านรามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ มีนบุรี จึงจะได้นั่งรถไฟฟ้าสายสีส้มจากเดิมที่จะได้ใช้บริการปีหน้า
รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่โครงการสุดท้าย ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า หลังจากนี้ไม่น่าจะมีโครงการรถไฟฟ้าใน กทม. เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะที่เปิดให้บริการแล้ว และที่กำลังก่อสร้าง น่าจะครอบคลุมพอแล้ว อีกทั้งต้องใช้งบประมาณแต่ละโครงการหลายหมื่นถึงหลักแสนล้าน
ถ้าจะมีก็เป็นการขยายเส้นทางที่มีอยู่แล้ว คือรถไฟฟ้าสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ขยายไป ม .ธรรมศาสตร์ รังสิต หัวหมาก โรงพยาบาลศิริราช และนครปฐม
ปัจจุบัน บีอีเอ็ม หรือ ช.การช่าง เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รับจ้างเดินรถสายสีม่วง และคาดว่า จะได้เดินรถสายสีม่วงใต้ (เตาปูน – ราษฎร์บูรณะ) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ด้วย รวมกับสายสีส้มทั้งสาย จากบางขุนนนท์ -มีนบุรี ระยะทาง35.9 กิโลเมตร ‘ผงาดขึ้นเป็นผู้นำ’ ขนส่งมวลชนระบบรางแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม มีการเปรียบเทียบเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างที่ บีอีเอ็ม ขอจาก รฟม. กับที่ บีทีเอส ขอ ในการยื่นประมูลรอบแรกที่ รฟท. สั่งล้มประมูลไป ปรากฏว่า บีอีเอ็มขอสูงถึง 78,000 ล้านบาท ในขณะที่ บีทีเอสขอเพียง 9,675 ล้านบาท ‘สูงกว่ากันถึง 70,000 ล้านบาท’ จนมีข้อสงสัยว่ามีการ ‘สมคบคิด’ กับนักการเมืองหาผลประโยชน์หรือเปล่า เพราะเงินอุดหนุนสูงขนาดนี้ เหมือนบีอีเอ็ม ได้รถไฟฟ้าสายสีส้มไปทั้งสายแบบฟรี ๆ
บีทีเอสไม่มีสิทธิเข้าประมูลครั้งที่ 2 เพราะ รฟม. เขียนกติกาใหม่ กำหนดสเปกว่า
ผู้เข้าประมูลต้องเคยมีผลงานขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน ไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งบีทีเอสและพันธมิตรไม่มีผลงานเรื่องนี้ จึงขาดคุณสมบัติ
ส่วนกลุ่มอิตาเลียนไทย ที่เข้าประมูลด้วย เสนอขอเงินอุดหนุนสูงถึง 1 แสนกว่าล้านบาท ทำให้บีเอ็มอี ชนะการประมูลไป
หวังว่าเมื่อมีการขออนุมัติเซ็นสัญญาใน ครม. เศรษฐา คงไม่มีใครทักท้วงประเด็นนี้เพราะ เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น และการประมูลเป็นไปตามกติกาที่ รฟม. เขียนขึ้นใหม่ทุกอย่าง