เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสะเทือนใจที่ทำให้คนในแวดวงนักลงทุนพูดถึงกันมากบนโลกออนไลน์ จากเพจของ Elliott Wave by WaveAholic ในเฟซบุ๊ก ที่เขียนเล่าให้ฟังถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนคนหนึ่งที่ประสบความล้มเหลวจากการลงทุนถึงขั้นฆ่าตัวตายจากการฝากเทรด
เพจดังกล่าวบรรยายเรื่องราวทั้งหมดว่า มีนักลงทุนรายหนึ่งที่ได้รับเงินมรดกจากครอบครัวมา 20 ล้านบาท และมีความคิดอยากให้เงินก้อนนี้เติบโตขึ้น จึงพยายามจะหาความรู้เรื่องของการลงทุน โดยได้ลงเรียนใน ‘คอร์ส’ เกี่ยวกับการลงทุนและการเทรดของสถาบันหนึ่ง
เมื่อเข้าไปเรียนแล้ว ได้มีการเข้าร่วมกิจกรรม ‘นำเทรด’ กับสถาบันฯ ซึ่งในช่วงแรกประสบการขาดทุน ทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหายไปกว่า 5 ล้านบาท จึงเกิดความกังวลและได้ไปปรึกษา ‘โค้ช’ ในสถาบันนั้น
โค้ชได้เสนอทางออกโดยเสนอตัวว่าจะรับ ‘ฝากเทรด’ให้ โดยที่กำไรแบ่งกัน 50/50 ส่วนกรณีหากขาดทุนไม่มีข้อมูลว่าจะรับผิดชอบหรือไม่
ผลปรากฏว่าหลังจากเอาเงินที่เหลือไปฝากเทรด สุดท้ายก็ยังคงติดลบอีกถึง 2 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนไปกว่า 7 ล้านบาท
เพราะความเครียดและกังวลของเจ้าของเงิน เนื่องจากกลัวคนในครอบครัวจะตำหนิว่านำเงินมรดกมาทำเสียหาย จึงตัดสินใจ ‘ฆ่า’ ตัวตาย !!!
หลังจากมีการโพสต์เล่าเรื่องราวดังกล่าวออกไปก็ปรากฏว่ามีคนเข้ามาอ่านและแชร์ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกเหนือจากการแสดงความเสียใจ ยังมีการตั้งคำถามในเชิงสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และบางส่วนก็พยายามสอบถามว่าสถาบันไหนที่มีการกระทำดังกล่าว
สิ่งที่น่าสนใจไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ก็สะท้อนให้เห็น **‘ความจริงเชิงประจักษ์’**ถึงสภาพปัญหาของนักลงทุนไทยที่กำลังเผชิญอยู่ตามลำพัง
คงไม่มีใครปฎิเสธว่าในยุคสมัยปัจจุบัน คนไทยจำนวนมากที่เริ่มตื่นตัวและสนใจในเรื่องของการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ทั้งคนในวันทำงานและวัยเกษียณ เพราะตระหนักดีว่าลำพังรายได้จากการทำงาน หรือเงินที่เก็บออมไว้หลังเกษียณ อาจจะไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสบายอย่างที่ตัวเองคาดหวังหรือมีภาพฝันเอาไว้
ยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่โลกแห่งการลงทุนมีความสลับซับซ้อน และราคาสินทรัพย์ต่างๆมีความผันผวนเป็นพิเศษ ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดเงิน หรือตลาดสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ คนจำนวนหนึ่งจึงพยายามดิ้นรนที่จะแสวงหาความรู้จากบรรดา **‘กูรู’**หรือ ‘โค้ช’ ที่อาศัยช่องว่างทางการตลาด ในการเปิด ‘คอร์ส’ อบรม จนสามารถทำเงินจากการเปิดสอนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แถมบางรายยังก้าวข้ามบทบาทไปจนถึงขั้นรับฝากเทรดอย่างที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวขึ้น
สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ และ ‘สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ’ หรือ กลต. รวมทั้งภาคเอกชนอย่าง ‘สภาธุรกิจตลาดทุนไทย’ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเคยมีแนวทางที่จะป้องกันปัญหาในเรื่องนี้บ้างหรือไม่
ถึงเวลาหรือยังที่ควรจะมี หน่วยงานที่จะเข้ามากำกับ และสร้างกฎกติกาเพื่อควบคุมการจัดตั้งสถาบัน หรือคอร์สอบรม ที่เปิดขึ้นเป็นดอกเห็ดอยู่ทุกวันนี้ ที่ควรจะมี **‘มาตรฐานวิชาชีพ’**ของผู้สอน ตลอดจนกำหนดหลักสูตรการสอนที่มีมาตรฐาน แทนที่จะปล่อยให้มีการเปิดกันอย่างเสรีแบบไร้การควบคุมแบบที่เป็นอยู่
ในอดีต ตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยมี ‘ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน’ หรือ TSI ที่ทำหน้าที่ในการให้ความรู้แก่นักลงทุน ซึ่งต่อมามีการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนรูปแบบเหลือเป็นเพียงฝ่ายที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องการลงทุน
แต่มาถึงวันนี้ หน่วยงานดังกล่าวควรจะมีการปรับบทบาท และยกระดับขึ้นมาเป็นสถาบันที่จะเข้ามากำกับดูแลบรรดาสถาบันเอกชนที่เปิดคอร์สอนในเรื่องการลงทุนให้มีมาตรฐาน เพื่อปกป้องนักลงทุนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อเหมือนที่เกิดขึ้นหรือไม่
‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน’
ไม่อยากจะคิดว่าบรรดาผู้คนในแวดวงตลาดทุนจะปล่อยให้นักลงทุนไทยต้องพึ่งพาตัวเอง และยังคงพร่ำท่องคาถาเดิม ๆ เอาไว้เตือนนักลงทุน และปล่อยให้เกิดโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายแบบที่เกิดขึ้นไปอีกนานแค่ไหน...