ให้ต่างชาติเช่าที่ 99 ปี ซื้อคอนโด 75% คนไทยจะไร้ที่ซุกหัวนอน

24 มิ.ย. 2567 - 10:07

  • ราคาบ้านแพง ก็เพราะต้นทุนสูงขึ้น มุ่งจับตลาดต่างชาติ

  • แก้กฎหมาย อ้างเหตุผลเดิม คือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • ส่งผลกระทบในระยาวต่อคนไทย

economy-law-foreigners-rent-land-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อไม่นานมานี้ สักปีกว่า ๆ ตอนที่ทักษิณ ชินวัตร ยังรอวันกลับบ้าน ฆ่าเวลาด้วยการเป็นลุงโทนี่ ออกรายการ Care Talk X CareClubhouse เรื่องการให้ต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยว่า 

“ให้ต่างชาติซื้อบ้าน 1 ไร่ ผมขัดข้องนะ จริง ๆ แล้วมันก็ดี แต่ถ้าเราเพิ่มความต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อได้ แสดงว่าราคามันจะสูงขึ้นนะ ที่ดินก็ดี บ้านก็ดี แล้วคนมีรายได้น้อยที่กำลังจะเริ่มดาวน์บ้านได้ อ้าว ราคาขยับขึ้นไปอีกละ แล้วคนจบใหม่จะอยู่อย่างไร”

ตอนนั้น ราว ๆ เดือนพฤศจิกายน 2565 กระทรวงมหาดไทยโดยการผลักดันของ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการ กำลังจะเสนอ ครม. ให้แก้กฎกระทรวงขายที่ดิน 1 ไร่ ให้ต่างชาติ ที่นำเงินเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท แต่ถูกกระแสวาทกรรม “ขายชาติ” กระหน่ำ จนพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ ต้องขอถอนวาระออกจาก ครม.

การวิ่งเต้น กดดันให้รัฐบาลเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดิน ซื้อคอนโดมิเนียม ของกลุ่มทุนบ้านและที่ดิน มีมาโดยตลอด ภายใต้เสื้อคลุม “กระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่ภายใต้เสื้อคลุมนั้น คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการกำลังซื้อใหม่ ๆ จากต่างชาติ  เพราะคนไทย ไม่มีปัญญาซื้อ เนื่องจากราคาบ้านและที่ดินปรับตัวสูงขึ้น จนซื้อไม่ไหว

ราคาบ้านแพง ก็เพราะต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าที่ดิน เพราะบริษัทสร้างบ้าน สร้างคอนโดขาย มุ่งจับตลาดต่างชาติ แข่งกันซื้อที่ดินในทำเลดี ๆ ของกรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ราคาแพงแค่ไหนก็สู้ ส่งผลให้ราคาที่ดินโดยรวมในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาแพงขึ้น สวนทางกับเสียงโอดโอย ให้รัฐเข้ามาอุ้ม ให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย จากผู้ประกอบการสังหาริมทรัมทรัพย์ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังจะล้ม เพราะขายไม่ได้ สต็อคเหลือบานเบอะ

แทนที่จะช่วยตัวเอง ด้วยหลักการพื้นฐานง่าย ๆ เรื่อง ดีมานด์ ซัพพลาย คือ ขายบ้าน ขายคอนโดไม่ได้ เพราะซัพพลายล้น ก็หยุดสร้างบ้าน สร้างคอนโดสัก 4-5 ปี ให้ซัพพลายลดลงมาเท่ากับดีมานด์  หรือ ใช้หลักการตลาด ขายบ้าน ขายคอนโดไม่ได้ เพราะราคาสูงเกินไป ก็ลดราคาลงมาให้คนส่วนใหญ่ซื้อได้ ไม่ต้องจ่ายค่างวดแพง ๆ เวลาผู้ซื้อไปขอกู้แบงก์ จะได้ไม่ถูกปฏิเสธ เพราะค่างวดสูงเกินกว่ารายได้ 

แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับเรียกร้อง ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยอุ้ม โดยอ้างว่า เป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งไม่จริงเลย ทุก ๆ ธุรกิจล้วนมีความสำคัญ เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทำไมรัฐบาลจะต้องช่วยอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีมหาดไทย ผนึกกำลังกันผลักดัน การแก้กฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมได้ 75% จากปัจจุบันซื้อได้ 49% โดยอ้างเหตุผลเดิม ๆ คือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงคือ เพื่อช่วยขยายตลาด เพิ่มกำลังซื้อให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ทิ้งลูกค้าคนไทย ไปจับคนต่างชาติ เพราะได้ราคา ได้กำไรดีกว่า

ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม ยังไงเสีย ต่างชาติเอาไปไหนไม่ได้ ยังอยู่ที่ประเทศไทย แต่การถือครองทรัพย์สินนั้น เขาดูกันที่กรรมสิทธิ์ วาทกรรมขายชาตินั้นหมายถึงการขายกรรมสิทธิ์ ขายสิทธิครอบครอง สิทธิในการใช้ประโยชน์ต่างหาก

ผลกระทบสำคัญของการแก้กฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99  ปี ซื้อคอนโดฯได้ 75% ลุงโทนี่ อธิบายไว้ชัดเจนว่า จะทำให้ราคาที่ดิน ราคาคอนโด ซึ่งปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว ขยับสูงขึ้นไปอีก เพราะกลุ่มลูกค้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ คือ ต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ที่รวยกว่าคนไทย มีกำลังซื้อมากกว่าคนไทย แล้วคนรุ่นต่อไปจะไปอยู่ที่ไหน ราคาที่ดินหลังจากหมดสัญญาเช่า ในปีที่ 99 จะพุ่งขึ้นไปกว่าตอนนี้อีกกี่สิบเท่า คนไทยจะมีปัญญาไปเช่าต่อหรือ

การแก้กฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมได้ 75% ไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจเลย เป็นเพียงข้ออ้างของนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง รมต.มหาดไทย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อ้างว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนกัน

แต่แท้จริงแล้ว เป็นการช่วยอุ้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้มีตลาด มีกำลังซื้อใหม่ ๆ ที่สูงกว่าคนไทย  ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ บริษัทไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย ลองไปดูงบการเงิน ของบริษัทในตลาดหุ้น บางบริษัทในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แจกโบนัสพนักงาน 5 เดือนสูงสุดในรอบ 4  ปี

การแก้กฎหมายครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ มีกำไรมากขึ้นไปอีก แต่จะส่งผลกระทบในระยาวต่อคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะไม่มีปัญญาซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้เลย

ที่เขาเรียกว่า เป็นกฎหมายขายชาติ น่ะ ถูกแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์