ประเทศไทยไม่มีรัฐมนตรีคลัง

27 ก.พ. 2567 - 08:47

  • นั่งบริหารงานทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง ดูแลงานเศรษฐกิจ

  • แต่บทบาทของรัฐมนตรีคลัง กลับไม่มีความชัดเจน

  • จนมีคนถามหาว่า รัฐบาลนี้ไม่มีรัฐมนตรีคลัง

economy-minister-finance-SPACEBAR-Hero.jpg

คนในแวดวงเศรษฐกิจต่างสงสัยและไม่เข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งไปเพื่ออะไร ถ้าตัวเองไม่ได้ให้ความสำคัญกับภารกิจในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังอย่างจริงจัง

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา นายกฯถุงเท้าหลากสี เดินสายไป ‘ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ’ ทั้งลงพื้นที่ต่างจังหวัด เดินสายไปต่างประเทศ ชนิด ‘ชีพจรลงเท้า’ แต่อย่าได้ถามว่านายกฯ เศรษฐาเข้าไปที่กระทรวงการคลัง ริมคลองประปา สามเสน สักกี่ครั้ง  ยิ่งไม่ต้องถามว่า รู้จักข้าราชการระดับสูงของคลังครบทุกกรมหรือยัง 

ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นายกฯ เศรษฐาควรจะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตัวนายกฯ เศรษฐาเอง ย้ำคิดย้ำพูดมาตลอด 6เดือนว่า ‘วิกฤต’ และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน   

แต่แทนที่จะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการคลัง เพื่อเร่งออกมาตรการออกมาเพื่อคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจ นายกฯเศรษฐา กลับดูจะเพียงต้องการเน้นคำว่า ‘วิกฤต’ เพื่อเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มากกว่าต้องการจะลงไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

แม้แต่คนในกระทรวงการคลังก็หาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมถึงไม่มีการสั่งการให้ หามาตรการด้านการคลังที่เหมาะสมและสามารถกระทำได้ เพื่อช่วยประคับประคองหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะนี้ไปก่อน ระหว่างที่ยังต้องรอให้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ผ่านสภาฯ ซึ่งตอนนี้ล่าช้ามาถึง 5 เดือนแล้ว 

ตรงกันข้าม นายกฯ เศรษฐา ที่สวมหมวก รมว.คลัง กลับมีเวลาและไปให้ความสำคัญในเรื่องอื่นที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของตัวเอง เช่นการไปกดดันให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาทันทีอย่างน้อย 0.25% ถึงขั้นเปิดวิวาทะกันทางสื่อ จนสร้างความสับสนในทิศทางเศรษฐกิจของไทยในสายตาต่างชาติ และทำให้ต่างชาติเทขายหุ้นมาโดยตลอดตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่ง 

มันจึงเป็นเรื่องแปลกมากขึ้นไปอีก เมื่อล่าสุดในระหว่างวันหยุด นายกฯ เศรษฐา ก็กลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดทุน โดยเชิญประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ พิชัย ชุณหวชิร มาคุยเรื่องการส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ไทยให้ยกระดับขึ้นเป็น Regional Hub ถึงขนาดระบุว่า อยากเห็นไทยเป็น Wall Street ของอาเซียน

ความจริงหากเพียงแต่ นายกฯ เศรษฐา หันกลับมาสนใจทำการบ้าน ย้อนดูบทบาทของตัวเองในฐานะ รมว.คลัง และลองเปิดใจ ‘ลดอคติ’ รับฟังฟังความเห็นต่างของบรรดากูรู นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ หรือ ผู้มีประสบการณ์ในตำแหน่งสำคัญๆ ระดับอดีต รมว.คลัง หรือ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ก็จะพบว่าหลายคนก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและทางออกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยไว้อย่างน่าสนใจ  

ในมุมมองของบรรดากูรูด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน-การคลัง ส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจจริงและจำเป็นต้องเร่งแก้ไข ซึ่งเป็นมรดกบาปที่ต่อเนื่องมาในอดีต แต่ยังไม่วิกฤตร้ายแรงถึงขั้นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือยาแรง โดยการอัดฉีดเม็ดเงินแจกเงินแบบหว่านแห หรือต้องเร่งลดอัตราดอกเบี้ยลง 

ปัญหาด้านโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมืองที่มีการตั้งรัฐบาลล่าช้า จนทำให้งบประมาณปี 2567 ยังไม่ผ่านสภาฯ ทำให้ไม่มีเม็ดเงินจากภาครัฐออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนจากตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2566 ที่สภาพัฒน์ฯ เพิ่งเปิดเผยออกมา จะเห็นว่าตัวฉุดสำคัญที่ติดลบ คือ การอุปโภคภาครัฐ (-3%) และการลงทุนภาครัฐ (-20.1%) ในขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าและบริการยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

การใช้นโยบายการเงินโดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดได้ เพราะไม่ต่างอะไรกับ การฉีดน้ำเกลือที่ฉีดเข้าเส้นเลือดหลักเพื่อรักษาอาการขาดน้ำหรือขาดแร่ธาตุจำเป็นของร่างกายโดยรวม แม้ว่าจะช่วยให้คนไข้ดูสดชื่นขึ้นบ้าง แต่น้ำเกลือไม่สามารถแก้ไขอาการป่วยที่ต้องการยาเฉพาะทาง หรือรักษาอวัยวะบางจุดที่เส้นเลือดอาจตีบตันได้

ในมุมมองของอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนล่าสุด ‘ดร.ก้อ’ วิรไท สันติประภพ รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังควรกลับมาให้ความสำคัญและเน้นบทบาทกับ**‘นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน’** มากกว่า ‘นโยบายการเงิน’ คือ ต้องแก้ปัญหาเส้นเลือดเส้นเล็กตามจุดต่าง ๆ ตีบตัน เพื่อให้อวัยวะน้อยใหญ่ทั่วร่างกายได้รับสารอาหารอย่างทั่วถึง โดยกำหนดเป้าหมายเฉพาะจุดที่ชัดเจน 3 จุด

จุดแรก คือ การเพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินให้ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ โดย กระทรวงการคลังควรเร่งรัดเบิกจ่ายเงินให้เร็วขึ้น ส่วน SMEs ทั่วไปก็ควรส่งเสริมให้เกิดธุรกิจ e-factoring ที่เปิดกว้างเพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้นเพื่อให้มีสภาพคล่อง

จุดต่อมาคือ เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนให้เท่าทันกับขนาดและความรุนแรงของปัญหา โดยใช้แนวการทำงานของ ‘คลินิกแก้หนี้’ ที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิดเป็นต้นแบบหนึ่งได้ และควรขยายผลให้กว้างไกลขึ้น อย่างรวดเร็ว อาจจะถึงขึ้นยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ของ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ ที่เป็นหนี้ผ่านกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ

จุดสุดท้าย คือ เร่งรัดกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจ SMEs กระบวนการการไกล่เกลี่ยและบังคับคดี และกระบวนการจัดการหลักประกันที่สถาบันการเงินยึดมา ให้รวดเร็วและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้

มาตรการด้านการเงินดังกล่าวเป็นเพียงบางตัวอย่างที่จะช่วยกระจายสภาพคล่องทางการเงินให้ตรงจุด ซึ่งในเวลานี้ควรได้รับความสนใจและให้ความสำคัญมากกว่าจะเสียเวลาวิวาทะเรื่องนโยบายการเงินในทัศนะของอดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

ปัญหาก็คือหมอใหญ่ คือ  เมื่อไรนายกฯ เศรษฐา ที่ควบ รมว.คลังอีกตำแหน่ง จะกลับมาเข้าเวรดูแลคนไข้ และวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องเสียที เพื่อจะเลือกมาตรการหรือ ยาเฉพาะทางในการรักษาให้ตรงจุด เพื่อทะลวงให้เส้นเลือดที่ตีบตันกลับมาสูบฉีดได้ใหม่อีกครั้ง 

แต่ถ้ายังคงปล่อยให้ ประเทศดูเหมือนไร้ รมว.คลังเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถึงจุดหนึ่งเศรษฐกิจไทยคงยากเกินเยียวยา...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์