เงินหมื่นดิจิทัล มาจากไหน?

28 มีนาคม 2567 - 07:56

DEEP-SPACE-economy-money-digital-wallet-SPACEBAR-Hero.jpg
  • หลังจากเลื่อนมาหลายครั้งเงิน 10,000 ดิจิทัล ก็หาทางออกได้

  • รัฐบาลหาสารพัดแนวทางเพื่อหาเงินมาทำนโยบายนี้

  • สุดท้ายก็บรรลุเป้าหมาย แต่วิธีการที่ใช้ก็ยังมีปัญหาอยู่ ต้องรอพิสูจน์ ‘น้ำยา’ ของรัฐบาล

ถึงแม้คนไทยจะต้องรอคอยมายาวนานถึงกว่า 7 เดือน แต่ในที่สุดก็เชื่อว่าการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ผ้าขาวม้าหลากสีเป็นประธาน ในวันที่ 10 เมษายนนี้ โครงการ ‘แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่เป็น ‘เรือธง’ของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา คงน่าจะมีบทสรุปทั้งหมด และเริ่มขยับเดินไปตาม ‘ไทม์ไลน์’ ใหม่ที่รัฐบาลหวังว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตน่าจะไปถึงมือประชาชนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ต้องยอมรับว่าตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา โครงการนี้เดินหน้าไปไม่ได้ เพราะติดปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องของ ‘แหล่งเงิน’ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน เนื่องจากต้องใช้เงินถึงราว 5 แสนล้านบาท เพื่อเอามาแจกเงินหมื่นให้กับคนไทยจำนวนถึงราว 50 ล้านคน

ในตอนแรกรัฐบาลเล็งไปที่การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน แต่ก็มาติดขัดในเรื่อง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 53 ที่รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

เมื่อมีเสียงทักท้วงมาจากหลายทาง แต่ไม่สามารถปลดล็อกในเรื่องนี้ได้ การจะเดินหน้าลุยไฟต่อไปทั้ง ๆ ที่มีอุปสรรคขวากหนามรออยู่ข้างหน้า ทั้งในรัฐสภา และอาจจะต้องไปฝ่าด่านสำคัญที่อาจจะมีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐบาล ‘ลังเล’ และต้องให้การบ้านทั้งสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ไปพิจารณาหาทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้มากกว่า 

หากฟังจากการแถลงข่าวหลังการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายกฯ เศรษฐาเปลี่ยนนิยามเศรษฐกิจไทยจาก ‘วิกฤต’ เป็น ‘เศรษฐกิจมีปัญหา’ เพื่อยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ

พร้อมทั้งแย้มว่ากระทรวงการคลังได้เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ซึ่งเท่ากับบอกเป็นนัยชัดเจนว่า รัฐบาลคง ‘พับ’ แนวคิดในเรื่องการออกพรบ.เงินกู้ใส่ลิ้นชักไปค่อนข้างแน่นอนแล้ว 

คำถามคือ อะไรคือทางเลือกอื่น คนที่ให้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด คือ ‘ลวรณ แสงสนิท’ ปลัดกระทรวงการคลัง โดยระบุว่ามี 3 แนวทางที่เป็นไปได้

แนวทางแรก คือ การใช้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการอย่างเดียวตามแนวทางเดิม

แนวทางที่สอง คือ การใช้งบประมาณปกติ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 หากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้โครงการนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็สามารถที่จะดำเนินการได้โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนวงเงินในการจัดทำงบประมาณปี 2568 ในขณะที่จะดึงงบประมาณปี 2567 บางส่วนเข้ามาช่วยในโครงการนี้ด้วย

แนวทางที่ 3 คือ การใช้ผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้หากมีความเหมาะสม

แต่ทั้ง 3 แนวทาง จะเห็นว่าแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือแนวทางที่สอง แต่ต้องอาศัยเทคนิคพิสดารในเรื่องการจัดทำงบประมาณ ในการดึงเม็ดเงินบางส่วนจากงบประมาณปี 2567 ราว 2 แสนล้านบาท มารวมกับการปรับกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เพิ่มขึ้นอีก 3 แสนล้านบาท เพื่อให้ได้เม็ดเงินรวมกัน 5 แสนล้านบาท

มีความเป็นไปได้ในการดึงเม็ดเงินราว 2 แสนล้านบาท จากงบประมาณปี 2567 ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาและรอประกาศใช้ เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาการใช้งบประมาณที่เหลืออีกเพียง 5 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ ที่อาจจะทำให้หน่วยราชการบางแห่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน โดยเฉพาะในส่วนของงบก่อสร้าง หรืองบลงทุนที่จะเป็นต้องมีกระบวนการประมูลจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน

แต่หากจะดึงงบจากปี 2567 มาใช้ รัฐบาลก็จะต้องใช้วิธีการออก ‘พ.ร.บ.โอนงบประมาณ’ เพื่อเปลี่ยนแปลงรายการนำมารวมเป็นงบประมาณก้อนใหม่เพื่อใช้ในโครงการนี้ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็เคยใช้วิธีนี้ เช่นรัฐบาลของ ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณเกือบทุกปี และในปี 2563 ก็มีการโอนมาเข้างบกลางถึง 8.8 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองจ่ายในกรณีเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19

ในส่วนเม็ดเงินอีกราว 3 แสนล้านบาท จะใช้วิธีเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณในปี2568 ที่กำลังจัดทำร่างอยู่ โดยจะเพิ่มจาก 3.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของการจัดทำงบประมาณของไทย

ตามกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 จำนวน 3.6 ล้านล้านบาทนั้น มีการประมาณการรายได้เอาไว้ที่ 2.887 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขาดดุลงบประมาณราว 7.13 แสนล้านบาท แต่จะมีการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณอีกราว 3 แสนล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อเนื่องจากปี 2567 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณราว 1 ล้านล้านบาท !!! 

คาดว่าผลจากการขาดดุลงบประมาณถึง 1 ล้านล้านบาท จะทำให้สัดส่วนการขาดดุลการคลังต่อ GDP ของไทย ขึ้นไปแตะระดับ 4% จาก 3.56% ตามกรอบเดิมและจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะขยับจาก 63.73% ขึ้นไปที่ระดับ 66% ต่อ GDPที่มีขนาดราว 19 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังไม่ถึงเพดานสูงสุดที่มีการขยายไปเป็น 70% ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งหมดพิสูจน์ให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ‘จังหวะเวลา’ บางครั้งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาบางอย่างถูก ‘ปลดล็อค’ หากไม่ถอดใจไปเสียก่อน 

ที่เหลือก็คงต้องดูกันต่อไปว่า รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จะช่วยระดมสรรพกำลังมาช่วยเข็นเรือธงลำนี้ให้ลงน้ำแล่นไปต่อได้สำเร็จหรือไม่ โดยมี ‘เรทติ้ง’ ของรัฐบาลเป็นเดิมพัน...

ข่าวที่น่าสนใจ
economy-digital-wallet-thai-money-SPACEBAR-Thumbnail.jpg

แจกเงินหมื่นของจริง? หรือแค่บริหารความคาดหวัง

Deep SPACE -- ถ้ารัฐบาลแจกเงิน 10,000 ดิจิทัล ตามกำหนดระยะเวลาเดิม ไม่เลื่อนไป เลื่อนมาแบบนี้ ประชาชนทั้งประเทศก็คงใช้จ่ายไปจนหมดนานแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่เหมือนสิ่งที่พูด การแจกเงินจึงเลื่อยแล้ว เลื่อนอีก ครั้งนี้ท่าทางเอาจริง มีการกำหนดไทม์ไลน์การทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเงินถึงมือประชาชน หากครั้งนี้ยังเลื่อนอีก หรือมีอุบัติเหตุสุดวิสัย รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ต้องหาเหตุผลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ และเชื่อว่าปัจจัยการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น ทำให้เพื่อไทย ต้องตัดสินใจว่า เลื่อน หรือ ทำต่อ เล่นกันประชาชนที่ถูกหลอก อันตรายมาก ติดตามใน Deep SPACE..ลึกกว่าที่รู้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์