ถอดรหัสกระทรวงคลัง ขอแบงก์ชาติลดตั้งสำรองหนี้

17 พ.ค. 2567 - 09:19

  • การพบกันระหว่าง รัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าแบงก์ชาติเกิดขึ้นอีกครั้ง

  • รัฐมนมตรีคลัง เจรจา กับแบงก์ชาติเรื่องสินเชื่อธุรกิจ

  • วาระลดดอกเบี้ยไม่อยู่ในการพูดคุย

economy-money-thai-bot-SPACEBAR-Hero.jpg

ภาพการพบปะกันกว่า 2 ชั่วโมง ของ รมว.คลัง ‘ป้ายแดง’ พิชัย ชุณหวชิร กับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ในสายตาของสื่อมวลชนและคนทั่วไปอาจเชื่อว่าเป็นการสางปมร้าวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับแนวคิดที่แตกต่างกันในการกำหนดนโยบายการเงินและการคลัง

เนื่องจากที่ผ่านมาแบงก์ชาติมีท่าที ‘ไม่ขานรับ’ ข้อเรียกร้องของนายกฯ เศรษฐาผ้าขาวม้าหลากสี ซึ่งต้องการให้มีการใช้นโยบายผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการกดอัตราดอกเบี้ยให้ลดลง และการทุ่มเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท แจกเงินหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

แต่หากถอดรหัสเนื้อหาในการหารือกันในรายละเอียดแล้วจะพบว่า เป้าหมายการพบปะกันครั้งนี้ของ รมว.พิชัย กลับ**‘ไม่ได้ให้ความสำคัญ’** กับเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างที่สื่อให้ความสนใจมากสักเท่าไร แต่กลับพุ่งเป้าไปที่เรื่องข้อเสนอให้ ‘แบงก์ชาติมีการผ่อนปรนมาตรการในการปล่อยสินเชื่อ’ ภาคธุรกิจมากกว่า 

เป้าหมายสำคัญ คือต้องการให้แบงก์ชาติปรับเกณฑ์ในการตั้งทุนสำรองหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบให้ลดลง เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดึงเงินทุนสำรองในส่วนนี้ออกมาจากพอร์ตสินเชื่อโดยรวมที่ระบุว่ามีกว่า 4 ล้านล้านบาท เพื่อให้มีเม็ดเงินที่จะนำไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

ที่น่าสังเกต รมว.พิชัย ไม่ได้ ‘กดดัน’ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ในเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยเหมือนนายกฯเศรษฐา แถมยังมีท่าที ‘เข้าใจบทบาท’ ของแบงก์ชาติว่า จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ และมองภาพรวมของเศรษฐกิจไปข้างหน้าในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้สามารถรักษากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ1-3% โดยระบุว่ายังคงให้ ‘อิสระ’ ในการดำเนินการตามวิถีทางของแบงก์ชาติ เพียงแต่อาจจะต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันเป็นระยะ ๆ 

ประเด็นที่ดูเหมือน รมว.พิชัยให้ความสำคัญมากกว่า คือ การเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยระบุว่าเพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ทั้ง ธุรกิจ SME ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่

เขามีความเชื่อว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหา ไม่สามารถฟื้นตัวจาก โควิด-19 และติดอยู่ใน ‘กับดัก’ สินเชื่อ โดยส่วนใหญ่ยังคงมีภาระหนี้จำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจจากสถาบันการเงิน ซึ่งหากแก้ไขในส่วนนี้ได้ ผลที่ตามมาคือจะทำให้ **‘ยอดหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ก็จะลดลง’ ** ซึ่งจะช่วยให้ภาระการตั้งสำรองหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ก็จะลดลงตามไปด้วย

เชื่อว่าก่อนจะเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลัง พิชัยทำการบ้านมาแล้ว โดยเห็นว่าสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและเป็นสิ่งแรกที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ การเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจ ที่ส่วนใหญ่ากำลังติด ‘กับดักสภาพคล่อง’ เพราะถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลง 0.25-50% ก็ไม่มีประโยชน์ หากภาคธุรกิจและประชาชนส่วนใหญ่ยังคง ‘ถูกปฎิเสธ’ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และต้องดิ้นรนไปหาแหล่งเงินกู้นอกระบบเหมือนที่ผ่านมา  

คงเพราะเหตุนี้จึงทำให้ ในการแบ่งงานระหว่างเขา กับ รมช. อีก 3 คน ที่กลายเป็นชนวนให้ อดีตปลัดฯคลัง กฤษฎา จีนะวิจารณะ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรมว.พิชัย จึงให้ความสำคัญกับ การดึงงานกำกับดูแล ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์  และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่กำกับดูแลหน่วยงานของกระทรวงการคลังเพียงหน่วยงานเดียวคือ กรมบัญชีกลาง

การดึงแบงก์รัฐขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่ง รวมทั้ง ธนาคารอิสลามฯ มาดูแลเอง น่าจะมีเป้าหมายที่จะหาวิธีการ ‘เร่งอัดฉีด’ เม็ดเงิน โดยการปล่อยสินเชื่อเข้าไปช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านธนาคารของรัฐให้มากขึ้น

เชื่อว่า รมว.พิชัย มีข้อมูลในมืออยู่แล้วว่า ปัจจุบันบรรดาบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังติดกับดักหนี้ ทั้งจากการเป็นหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน และจากการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ และกำลังกลายเป็นระเบิดเวลาอยู่ในระบบ

เฉพาะหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ มีมูลค่ารวมๆกันสูงถึง 8.9 แสนล้านบาท และเริ่มมีหลายรายที่มีปัญหาในการระดมทุนออกหุ้นกู้เพื่อ Roll Over หนี้ก้อนเดิม จนหลายรายมีการ ‘ผิดนัดชำระหนี้’ กลายเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยอยู่ในเวลานี้  

ธนาคารของรัฐจึงอาจจะเป็น ‘กลไก’ สำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในการปล่อยสินเชื่อ โดยอาจจะมีการออกมาตรการ ‘อัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ’ เพื่อช่วยพยุงธุรกิจให้กับบรรดาธุรกิจที่ประสบปัญหาจาก โควิด-19 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นมุมมองที่ตรงกับที่ปรึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับ นายกฯ เศรษฐา คือ ‘ เบ้ง’ ทศพงษ์ จารุทวี อดีตเจ้าของและผู้บริหาร NPARK บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน)

เพราะเหตุนี้หากต่อ ‘จิ๊กซอว์’ ทั้งหมด จึงไม่น่าประหลาดใจ หากเป้าหมายใหม่ของรัฐบาล นายกฯเศรษฐา ในยุค รมว.คลังที่ชื่อ พิชัยคือ การใช้ธนาคารของรัฐเป็นเครื่องมือ และกลไกสำคัญในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปช่วยบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ที่กำลังตกอยู่ในอาการใกล้จะล้มเหล่านี้ แต่ก็จำเป็นต้องมีการ **‘ปลดล็อค’**ผ่อนปรนกฎเกณฑ์หลายอย่างจากแบงก์ชาติ 

คงต้องจับตามองท่าทีของแบงก์ชาติ ว่าจะส่งสัญญาณตอบกลับมาในลักษณะไหน แต่เชื่อว่ามาถึง พ.ศ.นี้ ‘วงจรอุบาทว์’ ที่ธนาคารรัฐ ต้องตกไปอยู่ในสภาพ ‘ขุมทรัพย์’ ของนักการเมือง และข้าราชการแสวงหาประโยชน์ จะไม่หวนกลับมาอีก 

เพราะหากยังจำกันได้ ในยุคนั้นมีการใช้ธนาคารรัฐเป็น ‘บ่อเงิน’ ในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจในเครือข่าย และบริวารของนักการเมือง แต่ก็มีการยักย้ายถ่ายเทเงินออกไป จนสุดท้ายก็ปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสีย ตกเป็นภาระของธนาคารรัฐที่ต้องเอาภาษีประชาชนมาชดใช้ จนนำไปสู่การล่มสลายครั้งประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจไทยกลายเป็น ‘บทเรียน’ ที่แสนเจ็บปวดมาจนถึงทุกวันนี้...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์