เก้าอี้เลขาธิการ กสทช.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่างมา3 ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่เลขาฯ คนก่อน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ พ้นวาระไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563
ล่าสุดการประชุมบอร์ด กสทช. ล่าสุด วันที่ 17 มกราคม บอร์ด กสทช. 4 คนจาก 7 คน โหวตไม่เห็นชอบ กับกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ประธาน คือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เสนอชื่อ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาฯ และรักษาการ เลขาฯ เป็นเลขาธิการ โดยอ้างว่า ประธาน กสทช. มีอำนาจเลือกเลขาธิการเอง ไม่ต้องใช้มติบอร์ด
แต่บอร์ด 4 คนที่ค้านเห็นว่า การเลือก เลขาธิการ กสทช. ต้องผ่านความเห็นชอบของบอร์ด ไม่ใช่อำนาจของประธานบอร์ดแต่เพียงผู้เดียว
บอร์ด กสทช. มี 7 คน แบ่งออกเป็น 2 ก๊ก ตั้งแต่วันแรก ๆ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง
ก๊กที่ 1 คือ ประธานกรรมการ นพ.สรณ ,พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร และ ต่อพงศ์ เสลานนท์
ก๊กที่ 2 คือ พลอากาศโทธนพันธ์ หร่ายเจริญ ซึ่งเคยเป็นรอง เลขาธิการ กสทช. มาก่อน, ดร.พิรงรอง รามสูต, ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
แต่ละคนกินเงินเดือน ไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท ประธานฯฟาดไปเกือบ 5 แสน มีงบบินไปดูงานต่างประเทศปีละ 3-5 ล้านบาท แต่ทะเลาะกันแบบเด็ก ๆ หากมีวาระที่เห็นไม่ตรงกัน ก็จะโดดประชุม เพื่อให้การประชุมล่ม จนทำให้มีวาระการประชุมค้างบานเบอะ
กสทช. เป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีความเป็นอิสระเลย ถูกแทรกแซงจากอำนาจการเมือง และทุน
บอร์ด กสทช มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่ กสทช. ชุดก่อน อยู่ยาวถึง 10 ปี เพราะอยู่ในยุค คสช. มีการใช้ ม.44 ยกเลิกการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ โดยอ้างว่า รอ กม. กสทช.ใหม่
คสช. ยังให้อำนาจ เลขาธิการ กสทช. ในตอนนั้น คือ ฐากร เป็นมารดาแห่งบอร์ด กสทช. มีอำนาจเหนือบอร์ดทั้งหลาย คือ ให้อำนาจในการประมูลคลื่น 4 จี และการคืนใบอนุญาต ทีวีดิจิทัล บอร์ดไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉย ๆ เลขาธิการ จัดการเองทุกอย่าง
เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. รับผิดชอบการรับและจ่ายเงินรายได้ของ กสทช. ที่มีวงเงินมหาศาล และผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กสทช. ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. ต้องรับผิดชอบงบประมาณเงินกองทุน และตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมอีกปีละนับหมื่นล้านบาท
ยังไม่นับอำนาจในการประสานและขับเคลื่อนความเป็นไปในวงการสื่อสารมวลชนและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีมูลค่านับแสนล้าน ผู้ประกอบการ จะให้ความนับถือเกรงใจและเคารพ ‘เลขาธิการ กสทช.’ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนด ความเป็นไปในธุรกิจสื่อและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
ไตรรัตน์ เป็นอดีตข้าราชการสำนักงบประมาณที่ฐากรหอบหิ้วมาทำงานด้วยกัน ที่ กสทช. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชนเคียงคู่กับฐากรมาโดยตลอด เข้าใจทุกความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมแสนล้านนี้ แถมยังเป็นทั้งน้องรักและเสมือนทายาท ที่ถูกวางตัวในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.
ตอนที่ ทรูจะควบรวมดีแทค ไตรรัตน์ พยายามผลักดันให้ บอร์ด กสทช. ซึ่งเป็นมือใหม่หัดขับ เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง พิจารณา ‘รับทราบ’ การควบรวม โดยเร็ว ใช้อำนาจหน้าที่ เลขาฯ ที่เป็นคนจัดทำวาระการประชุม บอร์ด สอดแทรกวาระพิจารณา ทรู ควบรวม ดีแทค โดยเขียนมติให้เลยว่าบอร์ด ‘รับทราบ’ ซึ่ง ก๊ก ประธาน กสทช. ซึ่งตอนนั้น เห็นด้วยกับ ไตรรัตน์
แต่อีกก๊กหนึ่ง เห็นว่า บอร์ดกสทช. ต้อง ‘เห็นชอบ’ ด้วย ไม่ใช่ ‘ รับทราบ’ เท่านั้น และตำหนิไตรรัตน์หลายครั้งว่า อย่ามามัดมือชก บอร์ด กสทช.
เป็นตัวอย่างของ การพยายามสืบทอด ‘อำนาจเหนือบอร์ด’ ในยุคฐากร ของไตรรัตน์
บังเอิญว่า ‘หมอไหน่’ นพ.สรณ ประธาน กสทช. เอาด้วยกับ ไตรรัตน์ หมอไหน่ เป็นหมอผ่าตัดหัวใจ เป็นแพทย์ประจำตัว พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เข้ามาเป็นบอร์ด กสทช. ในสายคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นประธานบอร์ด ด้วยการผลักดันของเครือญาติ พลเอกประวิทย์ ที่คุมการสรรหา บอร์ดองค์กรอิสระสำคัญ ๆ
หมอไหน่ มีความมั่นใจในตัวเองสูง มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน มีนักกฎหมายมหาชนเป็นที่ปรึกษา คอยพลิกข้อกฎหมาย หาช่องที่จะเอาชนะบอร์ดก๊กตรงข้าม ด้วยข้อกฎหมาย เช่น ตอนที่บอร์ด กสทช. ยังมีเพียง 6 คน
ก๊กที่ 1 กับ ก๊กที่2 มี 3 เสียงเท่ากัน ในการพิจารณาเรื่อง ทรูควบรวมดีแทค ครั้งหนึ่ง หมอไหน่ใช้วิธี ‘ดับเบิ้ลโหวต’ โหวตครั้งแรกในฐานะบอร์ด เสียงเท่ากัน เลยใช้สิทธิประธาน โหวตครั้งที่สอง โดยอ้างว่า ทำได้ตามระเบียบ กสทช.
กรณีการเสนอชื่อ ไตรรัตน์ เป็นเลขาธิการ กสทช. ก็เช่นกัน ที่ นพ. สรณ อ้างกฎหมายว่า ประธาน มีอำนาจ ‘จิ้ม’ คนที่จะมาเป็นเลขา กสทช. ไม่ต้องให้บอร์ดเห็นชอบ เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้
ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว ไตรรัตน์ ถูกบอร์ด กสทช. ลงมติ 4 ต่อ 2 ต่อ 1 (ประธาน งดออกเสียง) ปลดจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. เพราะเห็นว่า การเอาเงิน กองทุน กทปส. 400 ล้านบาท ไปสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ผิดวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน ต้องถูกสอบวินัย รักษาการ เลขาธิการ คนใหม่
แต่ไตรรัตน์ ก็ยังเป็นรักษาการ เลขาธิการ กสทช. จนถึงตอนนี้ โดยไม่ถูกสอบวินัย เพราะ นพ. สรณ ไม่เซ็นตั้ง ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. เป็นรักษาการ ตามมติบอร์ดเสียงข้างมาก แถมยังจะเลือก ไตรรัตน์ เป็นเลขาธิการตัวจริงด้วย
การเลือก เลขาธิการ กสทช. ครั้งนี้ เต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการฟ้องร้องเป็นคดีในศาลปกครอง ตั้งแต่ ไตรรัตน์ ฟ้อง บอร์ด กสทช. 4 คนที่ลงมติปลดตนให้พ้นตำแหน่งรักษาการ เพื่อทำให้บอร์ดทั้ง 4 ไม่สามารถร่วมประชุมเลือก เลขา กสทช.ได้ ด้วยข้ออ้างว่า มีคดีฟ้องร้องกันอยู่ ๆไม่เป็นกลาง
ผู้สมัครรับการสรรหา เป็นเลขาฯ คนหนึ่งฟ้องประธาน และบอร์ด ต่อศาลปกครอง ให้ยกเลิกผลการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. รอบก่อนหน้านี้
ภูมิศิษฐ์ ฟ้อง นพ. สรณ ต่อศาลอาญาคดีทุจริต ที่ไม่แต่งตั้งเป็นรักษาการเลขาธิการ ตามมติบอร์ด และร้องเรียนวุฒิสภา ให้สอบ นพ. สรณ ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
ถ้า กสทช. เป็นองค์กรอิสระจริง คงไม่ต้องมีเรื่องวุ่นวายกันขนาดนี้ แค่เลือกเลขาธิการ คนเดียว 3 ปีกว่าแล้วยังเลือกไม่ได้ เพราะไม่อิสระ เป็นผู้กำกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่ถูกกำกับด้วยอำนาจการเมือง และอำนาจทุน