โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เป็นโครงการรถไฟฟ้า โครงการสุดท้ายตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า สารพัดสี ระยะที่ 1 หลังจากนี้ คงไม่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพอีกแล้ว ยกเว้น ส่วนที่หายไป และส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีแดง
ถึงแม้ว่า กรมการขนส่งทางราง กำลังทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับที่ 2 รวม 33 เส้นทาง แต่แผนก็คือแผน โอกาสที่รถไฟฟ้าตามแผนระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ยากเต็มที เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ 1.เกินความจำเป็น รถไฟฟ้า ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่กำลังจะเปิดอีก 2 สายในอีก 4-5 ปีข้างหน้า น่าจะเพียงพอแล้ว 2.ภาระการเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ รถไฟฟ้าแต่ละสาย ใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท รฟม. ต้องแบกภาระการก่อสร้างงานโยธา ส่วนเอกชนรับภาระระบบเดินรถ ซื้อรถ เดินรถ เก็บค่าโดยสาร ซึ่งเป็นเงินลงทุนน้อยกว่า แต่รับรายได้ไปเต็ม ๆ แบ่งให้ รฟม. นิดเดียวเท่านั้น
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรม ที่เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระหว่าง รฟม. กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน 30 ปี และวันนี้ (23 ก.ค.) BEM เซ็นสัญญาจ้าง บริษัทลูกคือ ช.การช่าง เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา และวางระบบรถไฟฟ้าทั้งสาย
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น_งานโยธา ประมาณ 96,000 ล้านบาท งานระบบรถไฟฟ้า การเดินรถ ซ่อมบำรุง 32,000 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท_
รฟม. ต้องจ่ายเงินอุดหนุนงานโยธา ตามที่ BEM ขอมา 85,432 ล้านบาท โดยจ่ายเมื่อการก่อสร้างเสร็จ และเปิดบริการแล้ว ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า BEM ลงทุนเองทั้งหมด
ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ ตลอดระยะ 30 ปี รฟม. ได้แค่ 10,000 ล้านบาท ถ้าผลตอบแทนการลงทุนของโครงการต่ำกว่า 9.5% ซึ่งโครงการใหญ่ขนาดนี้ โอกาสที่ผลตอบแทนจะมากกว่า 9.5% เป็นไปได้ยาก
เฉลี่ยแล้ว รฟม.จะได้ผลตอบแทนแค่ปีละ 300 กว่าล้านบาทเท่านั้น เทียบกับเงินลงทุนทั้งเงินอุดหนุนและค่าเวนคืนที่ดินรวมกันแล้ว 97,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ๆ
นี่ยังไม่รวมค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออกที่ รฟม. ลงทุนสร้างงานโยธาเอง ประมาณ 80,000 ล้านบาท ที่ต้องยกให้ BEM เอาไปเดินรถเก็บค่าโดยสาร30 ปี
ในขณะที่ BEM ลงทุนแค่ 32,000 ล้านบาท ได้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นไป 30 ปี โดยแบ่งให้ รฟม. แค่ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น
ของฟรีไม่มีในโลก มีแต่ของถูก และถูกมาก ๆ เหมือนได้ฟรี อย่างเช่นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ BEM ได้ไป