สนามบินพะเยา แค่ขายฝัน ค่า EIA 100 ล้าน เข้ากระเป๋าใคร?

19 มี.ค. 2567 - 08:17

  • จังหวัดพะเยา พื้นที่ของรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า จะขยับฐานะจังหวัด

  • ถูกปรับเมืองรอง ให้เป็นเมืองหลักในแผนการท่องเที่ยว

  • สนามบินพะเยา กำลังถูกจัดวาง และผลักดันให้เป็นจริงด้วยงบ 4,000 ล้านบาท

economy-phayao-airport-SPACEBAR-Hero.jpg

คนพะเยาคงรู้สึกโชคดีที่มีผู้แทนแสนดีอย่าง _‘พี่แป้ง’ _ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ทุ่มเทงานการเมืองแบบสุดตัว จนทะยานขึ้นมานั่งในตำแหน่งใหญ่อย่าง รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้สำเร็จ เพราะไม่อย่างนั้น ‘พะเยา’ จังหวัดเล็กๆ ที่อยู่เกือบเหนือสุดของไทย คงไม่มีทางได้เป็นเจ้าภาพในการประชุม ครม.สัญจร นอกสถานที่เป็นครั้งที่ 2 ของปี ในวันนี้ (19 มีนาคม 2567)

ที่สำคัญ ถ้าไม่ใช่บารมีพี่แป้ง _‘พะเยา’ _ คงไม่ทางอยู่ในสายตาของ นายกฯ เศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี จนถึงขนาดถูกยกระดับจากเมืองรองขึ้นมาเป็นเมืองหลักของการท่องเที่ยวไทย พร้อมกับการประกาศจะสร้างสนามบินเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยงบประมาณไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท !!!

พะเยา เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่แยกตัวออกมาจากเชียงรายเมื่อปี 2520 อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครราว 740 กม. ทิศเหนือติดเชียงราย ทิศใต้ติดแพร่และลำปาง ทิศตะวันตกติดลำปาง และทิศตะวันออกติดน่านและแขวงห้วยทรายของ สปป.ลาว มีเนื้อที่ 6,335 ตารางกม. มี 9 อำเภอ คือ อำเภอเมือง ดอกคำใต้ ภูกามยาว แม่ใจ จุน เชียงคำ ปง ภูซาง และเชียงม่วน มีประชากรเพียง 454,983 คน 

พะเยา เป็นเมืองที่สงบ สวยงาม และมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย โดยมีทั้ง ป่าไม้ ที่ราบสูง และภูเขา ยังมีทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่คือ กว๊านพะเยา แถมยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของคนเมืองเหนือ และยังเป็นแหล่งอารยธรรมในยุคเชียงแสน

ระหว่างการลงพื้นที่ นายกฯ เศรษฐา ‘หยอดยาหอม’ ให้ชาวบ้านมีความหวังเรื่องสนามบิน โดยบอกว่าจะเร่งศึกษาความเป็นไปได้ และเชื่อว่าการก่อสร้างสนามบินจะเป็นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลักได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่ ทำให้มั่นใจว่าพะเยามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองหลักได้

ตามข้อเสนอเบื้องต้นในการสร้างสนามบินระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปเยือนพะเยาเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.86 แสนคน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 11.15% ในแต่ละปี แต่การเดินทางไปพะเยาในปัจจุบัน ต้องใช้สนามบินใกล้เคียงทำให้ไม่สะดวก ทั้ง ๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ก็มีสนามบินที่อยู่รอบๆ ใกล้เคียงระยะเดินทางไม่เกิน 1-1.30 ชม.ถึง 5 สนามบินให้เลือกใช้บริการได้

สนามบินที่อยู่ใกล้เคียงมีที่ไหนบ้าง ใกล้ที่สุดคือ ‘สนามบินน่านนคร’ อยู่ห่าง 88 กม. ‘**สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ ** 89 กม. ‘สนามบินลำปาง’ 112 กม. ‘สนามบินแพร่’ 114 กม. และ ‘สนามบินเชียงใหม่’ 120 กม. 

ขณะเดียวกันหากจะไปจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ ก็สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 และไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านกำแพงเพชร ตาก ลำปาง แล้วเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ระยะทาง 969 กิโลเมตร

อีกเส้นทางหนึ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 32 แต่แยกเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 117 ที่นครสวรรค์ ไปจนถึงพิษณุโลก แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 12 ไปจนถึงสุโขทัย เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 ผ่านอำเภอร้องกวาง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านอำเภองาว เข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ระยะทางจะสั่นกว่าราว 782 กิโลเมตร

ส่วนทางรถไฟ ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการวางราง สายเด่นชัย-พะเยา-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม.ที่เพิ่งลงมือก่อสร้างกันในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามแผนการสร้างสนามบิน ซึ่ง รมว.คมนาคม ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่เปิดไฟเขียวโร่ให้พี่แป้งแบบน่าประหลาดใจ ระบุว่าจะใช้พื้นที่ราว 2,813 ไร่ ที่ ต.ดอนสีชุม อ.ดอกคำใต้ โดยใช้งบประมาณราว 4 พันล้านบาท โดยแยกเป็นงบก่อสร้างราว2,201 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 1,700 ล้านบาท และ ค่าศึกษาและจัดทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ราว 100 ล้านบาท

ทั้งนี้จะแบ่งเป็น 3 ระยะ 10 ปีแรก (2577-2587) จะรองรับผู้โดยสารในช่วง 10 ปี ได้ราว 78,348-94,920 คน ระยะที่สอง 2587-2597 จะขยายให้รองรับความต้องการได้ราว 2.3 แสนคน และระยะที่สาม 2597-2607 จะรองรับได้ราว 3.24 แสนคน 

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐาน ทำให้เกิดคำถามตัวโต ๆ ขึ้นมาทันทีว่า สนามบิน คือสูตรสำเร็จในการยกระดับเมืองท่องเที่ยวให้ขึ้นมาเป็นเมืองหลักจริงหรือ? เพราะถ้ายึดแนวคิดแบบนี้ อีกหน่อยประเทศไทยคงมีสนามบินในทุกจังหวัดที่รัฐบาลไปประชุมครม.นอกสถานที่ เพราะก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งมีแนวคิดเรื่องสร้างสนามบินที่พังงา

ไม่น่าเชื่อว่าจนถึงวันนี้ นักการเมืองก็ยังไม่เคยสรุปบทเรียนเรื่องการลงทุนสร้างสนามบินขึ้นมา เพียงเพราะสนองความอยากของนักการเมือง หรือเพียงเพื่อตอบโจทย์เรื่องธนกิจการเมือง หวังสร้างฐานเสียงในแต่ละจังหวัด แต่สุดท้ายก็ ‘สูญเปล่า’ และต้องปล่อยร้างกลายเป็นทุ่งเลี้ยงควายกันอีก เพราะไม่มีความคุ้มค่าทางทางเศรษฐกิจ 

สนามบินเบตง ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่แล้ว ที่สุดท้ายก็ไม่มีสายการบินไหนกล้าเปิดเส้นทาง เนื่องจากมีผู้โดยสารไม่พอจุดคุ้มทุน และต้องตั้งค่าตั๋วโดยสารแพงจนชาวบ้านไม่มีปัญญาจ่าย 

ยิ่งกรณีของสนามบินพะเยา แทนที่จะสร้างสนามบิน กระทรวงคมนาคมควรจะไปเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ที่สามารถขนผู้โดยสารได้มากกว่า และสร้างแนวคิดส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ ‘สโลว์ไลฟ์’ ด้วยเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-พะเยา-เชียงราย-เชียงของที่ตัดผ่านภูมิประเทศที่สวยงามและเป็นจุดขายของพะเยาจะไม่ดีกว่าหรือ

แต่ก็มีบางคนบอกว่า กรณีสนามบินที่พะเยา อาจเป็นเพียงอีกนโยบายขายฝันของนายกฯ เศรษฐา ซึ่งสุดท้ายจะได้สร้างหรือไม่ได้สร้างก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อย ๆ ก็ขอ 100 ล้านบาทมาทำ EIA ‘เตะหมูเข้าปาก’ ใครบางคนในยกแรกก่อนก็แล้วกัน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์