จับตาแรงสั่นสะเทือนในวังบางขุนพรหม หลังการเมือง ‘รุกฆาต’ ส่ง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คาดอาจมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่รองรับแผนสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน นำไทยสู่ ‘ฮับการเงินโลก’
คาดว่าในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการสรรหาที่มีอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ‘สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์’ เป็นประธานน่าจะประชุมและเคาะรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการสรรหาให้ขึ้นนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ แทน ‘ปรเมธี วิมลศิริ’ ที่สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่ 11 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากนั่งในตำแหน่งนี้มาสองสมัย
หากไม่มีอะไรผิดพลาดชนิด ‘เข็มขัดสั้น’ คาดไม่ถึง เชื่อว่าชื่อของ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายกฯเศรษฐา ทวีสิน) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง สมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ จะได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแบงก์ชาติคนใหม่
ตามกระบวนการคัดเลือก คณะกรรมาการสรรหาทั้ง 7 คน ประกอบด้วย
อดีตปลัดกระทรวงการคลัง สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร
อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม วิฑูรย์ สิมะโชคดี
อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ วรวิทย์ จำปีรัตน์
อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัชพร จารุจินดา
อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา
อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)สุทธิพล ทวีชัยการ
ทั้งหมดจะเป็นผู้พิจารณาสรรหาคนที่เหมาะสม
‘แหล่งข่าววงใน’ ระบุว่ารายชื่อที่ได้รับการเสนอเข้ามาให้พิจารณาคัดเลือกเป็นประธานกรรมการแบงก์ชาตินั้น ในส่วนของกระทรวงการคลังคือชื่อของโต้ง ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ ในขณะที่ในฟากของแบงก์ชาติ มีการเสนอชื่อ ‘สุรพล นิติไกรพจน์’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘กุลิศ สมบัติศิริ’ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ถูกเสนอเข้ามาด้วย แต่กรรมการสรรหาฯ ล็อคชื่อ **‘กิตติรัตน์’**ไว้ตั้งแต่แรก หลังจากที่เจ้าตัวพ้นจาก คดีความเรื่องการขายข้าวตามสัญญาระหว่างรัฐบาลกับอินโดนีเซีย และมีการ ‘แต่งตัว’ ไม่มีตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทยแล้ว ทำให้ไม่ติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติ
ก่อนหน้านี้ ในยุคของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นโยบายเศรษฐกิจหลายๆอย่างของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหาสำคัญเกิดจากแนวคิดที่ไปคนละทิศทางระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะในขณะที่รัฐบาลต้องการให้มีการกำหนดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลัง ‘อ่อนแรง’ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแต่ ผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ กลับไม่นำพากับเสียงเรียกร้อง มิหนำซ้ำแบงก์ชาติยังมีท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการทุ่มแจกเงินหมื่นผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นโครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทย
เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่อง เหมือนพูดกันคนละภาษา แต่ก็ไม่สามารถจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ง่ายๆ จึงมีความพยายามที่จะส่งคนที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยเข้าไปยึดกุมสภาพ โดยพุ่งเป้าไปที่ตำแหน่ง ‘ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย’
ตำแหน่งนี้ถึงแม้จะไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงิน แต่ก็สามารถประเมินการทำงานของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ รวมถึงเชื่อว่าจะสามารถสร้างแรง ‘กดดัน’ และมีอิทธิพลทางความคิดให้กับคนในแบงก์ชาติ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ได้มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติก็ เพิ่งมีการโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยแต่งตั้งให้ ‘รุ่ง มัลลิกะมาส’ มาเป็นรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินแทน ‘รณดล นุ่มนนท์’ ที่เกษียณอายุ ย้าย ‘อลิศรา มหาสันทนะ’ มาเป็นรองผู้ว่าด้านบริหาร และโยก ‘ปิติ ดิษยทัต’ มาเป็นรองผู้ว่าด้านเสถียรภาพด้านการเงิน
ทั้งนี้ การแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท.ในรอบต่อไป จะส่งผลไปถึงการคัดเลือกผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ด้วย หลังจาก ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายนปีหน้า
เนื่องจากฝ่ายการเมืองต้องการที่จะได้คนที่ทำงานไปในแนวทางเดียวกันไม่ว่าจะเรื่องการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลต, การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไปจนถึงแนวคิดการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่ฝั่งการเมืองเห็นว่าควรเปิดเสรี แต่แบงก์ชาติจะเปิดให้แค่ 3 ราย
ล่าสุดยังมีนโยบายในฝันที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็น ‘ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub)’ ของโลก หลังจากที่ นายกฯ ‘อิ้งค์’ แพทองธาร ชินวัตร เพิ่งไปอ่านสปีช โชว์วิสัยทัศน์ในเวที ACD ที่กาตาร์ ระบุถึงการทบทวนสถาปัตยกรรมทางการเงินที่มีความสมดุล และ รมว.คลัง พิชัย เพิ่งจะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมาย เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินขึ้นมา โดยมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นประธานกรรมการ, มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน ส่วนผู้ว่าการ ธปท. เป็นกรรมการ
คาดว่าในขั้นตอนคณะกรรมการสรรหาฯน่าจะจบในราวกลางเดือนนี้ ก่อนที่แบงก์ชาติจะส่งชื่อของ โต้ง กิตติรัตน์ ให้ รมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร เสนอชื่อให้ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ท่ามกลางแรงต้านจากคนในแบงก์ชาติ และฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาล ที่โจมตีว่ารัฐบาลกำลังนำการเมืองเข้าไปแทรกแซง และอาจกระทบต่อความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ และปัญหาอาจจะบานปลาย จนกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อตลาดเงินหรือตลาดทุนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม...