พรรคปชป.อะไหล่ – หางเครื่องการเมือง 2 ขั้ว - ค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำกว่าที่โม้ ภูมิใจไทย ไม่แคร์ ‘เพื่อไทย’

11 ธ.ค. 2566 - 10:01

  • ปชป.พรรคอะไหล่- หางเครื่องการเมืองสองขั้ว? สภาวะหลังเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

  • ค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำกว่าที่โม้ ภูมิใจไทย ไม่แคร์‘เพื่อไทย’ ช่วงหาเสียงอะไรก็ได้หมด

DEEP-SPACE-economy-politics-minimum-wage-labor-cost-SPACEBAR-Hero.jpg

ปชป.พรรคอะไหล่ หางเครื่องการเมืองสองขั้ว?

สมัยอดีตเมื่อยี่สิบปีก่อน การเมืองไทยมีสองขั้วที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่างชัดเจน คือ ขั้วของ ‘เพื่อไทย’ กับขั้วของ ‘ประชาธิปัตย์’ แต่ตอนหลังพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาภายใน จึงทำให้สูญเสียสถานะความเป็นขั้วทางการเมืองไป

ต่อมาหลังการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา แม้จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มที่เอา ‘ลุงตู่’ กับกลุ่มที่ไม่เอาลุงตู่ แต่ก็หาใช่เป็นขั้วทางการเมืองเหมือนในอดีตที่มีการแข่งขันกันสองพรรคไม่

หากเป็นการอุปโลกน์กันขึ้นเองว่า เป็นการต่อสู้ของฝ่ายเผด็จการ กับฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายเสรีประชาธิปไตย 

ทว่าลึก ๆ แล้วถ้าดูจากผลการเลือกตั้งในปี 2566 จะเห็นได้ว่าเป็นการต่อสู้กันเองในกลุ่มพรรคฝ่ายค้านที่เรียกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน คือพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ที่แข่งขันกันเองในทุกสนาม และเพื่อไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ได้สส.เข้าสภาเป็นลำดับที่สอง 

หลังการเลือกตั้ง แม้สองพรรคจะจับมือทำ MOU จัดตั้งรัฐบาล 312 เสียงด้วยกัน แต่สุดท้ายเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายสลัดมือออกมาสร้างขั้วขึ้นใหม่ โดย ‘ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว’ กับพรรคสองลุง จัดตั้งรัฐบาล 321 เสียงขึ้นในเวลาต่อมา

โดยมีดีลสำคัญระดับประเทศ นำ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นนักโทษหลบหนีคดีอยู่ต่างแดนเป็นเวลานาน ได้เดินทางกลับประเทศแบบเท่ๆ ไม่ต้องติดคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว

ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาล ‘เศรษฐา’ สำเร็จ พรรคเพื่อไทย ภายใต้การวางแผนของคนบนชั้น 14 ได้พยายามสร้าง ‘ขั้วเพื่อไทย’ ขึ้นอีกครั้ง โดยเริ่มจากการรวบรวมเอานักการเมืองกลุ่มบ้านใหญ่ที่เคยอยู่กับเพื่อไทยให้ ‘คืนสู่เหย้า’

พร้อม ๆ กับสร้างพันธมิตรกับนักการเมืองกลุ่มบ้านใหญ่ต่างพรรค แตะมือเดินไปด้วยกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่กลุ่ม ‘เพื่อนเฉลิมชัย’ เพิ่งเข้ามายึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา

การยอมกลืนน้ำลายเข้ามายึดพรรคประชาธิปัตย์ของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ถูกมองเป็นการต่อยอด ‘ดีลลับฮ่องกง’ ที่ยังไปได้ไม่สุด เพราะไม่สามารถเข้ามาคุมอำนาจในพรรคได้

การเข้ามายึดพรรคประชาธิปัตย์ของกลุ่มนายเฉลิมชัยหนนี้ จึงเป็นเรื่อง ‘วิน-วิน’ ของเฉลิมชัยกับคนบนชั้น 14 ที่มีสัญญาใจกันไว้ ซึ่งไม่ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในอนาคตอันใกล้หรือไม่ก็ตาม

ค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำกว่าที่โม้ ภูมิใจไทยไม่แคร์ ‘เพื่อไทย’

ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย  แต่หลังเลือกตั้ง  เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรค กลับยกกระทรวงแรงงานให้ เป็นโควตาของพรรคภูมิใจไทย

ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสม จะจัดให้มีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยตั้งเป้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท โดยเร็วที่สุด 

แต่พรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ค่าแรงขั้นต่ำจะ 400 บาท หรือ 600 บาทต่อวัน เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย เรื่องอะไรที่พรรคภูมิใจไทย จะเอานโยบายของพรรคเพื่อไทยมาทำ  จึงปล่อยให้เป็นเรื่องของ คณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีตัวแทนไตรภาคี คือ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน และตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 

คณะกรรมการค่าจ้างประชุมเมือวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาทต่อวันแล้วแต่จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้นไป ต่ำสุดวันละ 330 บาท (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ถึงสูงสุดวันละ 370 บาท คือที่ภูเก็ต ไม่ถึง 400 บาท ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา 

นายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่สบายใจ รับไม่ได้ ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้ ถ้ามีการเสนอเรื่องนี้ เข้าคณะรัฐมนตรีจะไม่ยอม ไม่เห็นด้วยแน่นอน

มติเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของบอร์ดค่าจ้า ถือเป็นที่สุด พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 88 ระบุว่า ‘ให้คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่เห็นสมควร เสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ 

นายกรัฐมนตรี และครม. มีอำนาจที่จะยับยั้ง ไม่เห็นชอบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่บอร์ดค่าจ้างเสนอมาหรือไม่ คงต้องตีความกันในเชิงกฎหมาย แต่ในอดีต หากรัฐบาลอยากให้ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเท่าไร ก็จะจัดการให้จบในขั้นการประชุมบอร์ด โดยส่งสัญญาณให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นประธานบอร์ด และตัวแทนรัฐบาลในบอร์ด ไปเจรจาต่อรองกับตัวแทนนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งหมายความว่า พรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล ต้องคุมกระทรวงแรงงานด้วย ถึงจะส่งบอร์ดค่าจ้างด้วย

สมัยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บอร์ดค่าจ้าง  ปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาท เมื่อปี 2556  ตามนโยบายพรรคเพื่อไทย เพราะตอนนั้น พรรคเพื่อไทยคุมกระทรวงแรงงานด้วย โดยมี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรี  แต่ในรัฐบาลเศรษฐา กระทรวงแรงงาน เป็นของพรรคภูมิใจไทย มีรัฐมนตรี คือ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ซึ่งเป็นคนที่จะต้องเสนอวาระค่าแรงขั้นตู่เข้า ครม. วันที่ 12 ธันวาคม 

เปรียบเทียบกับการขึ้นหรือปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ โดยเริ่มที่18,000 บาท สำหรับข้าราชการเข้าใหม่ และปรับขึ้น 10% สำหรับคนเดิม  มีผลในเดือนพฤษภาคมปีหน้า  พรรคเพื่อไทยคุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสภาพัฒน์  จึงดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว 

การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทำได้ง่าย เพราะใช้เงินงบประมาณ ที่มาจากภาษีของประชาชน  แต่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ควักกระเป๋าจ่ายคือ เอกชนที่เป็นนายจ้าง จึงมักจะมีแรงต้านหาก มีการปรับค่าแรงที่สูงเกินไป 

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  เห็นว่า การปรับค่าแรงคราวนี้ เอกชนรับได้ เพราะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน  การพิจารณามีความชัดเจน โปร่งใส  และมติบอร์ดค่าจ้าง นายกฯสั่งให้ทบทวนไม่ได้  ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ  อาจมีความผิดตามาตรา 157  ของประมวลกฎหมายอาญา  

เขายังบอกว่า ที่เศรษฐา แสดงความไม่พอใจ เป็นเรื่องของการเมืองที่มีการเล่นการเมืองมากไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์