ก้าวไกลจองกฐินซักฟอกรัฐบาล ระวังเหนี่ยวไกค้าง – ‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ ขุนคลังหลังม่าน

12 ธ.ค. 2566 - 11:24

  • ก้าวไกลจองกฐินซักฟอกรัฐบาล ระวังเหนี่ยวไกค้าง เป็นฝ่ายค้านที่ส่อเค้าว่าเปิดอภิปรายไม่ทัน

  • การแก้หนี้ เป็นนโยบายแรก และนโยบายเดียวของรัฐบาลที่ชัดเจน และจับต้องได้มากที่สุด

DEEP-SPACE-008-SPACEBAR-Hero.jpg

ก้าวไกลจองกฐิน ซักฟอกรัฐบาล ระวังเหนี่ยวไกค้าง!!

เริ่มแล้วสมัยประชุมปีที่ 1/2 ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ในวันนี้ (12 ธันวาคม 2566) และจะตีตั๋วยาวไปสิ้นสุดลงในวันที่ 9 เมษายนปีหน้า จากนั้นจะเข้าสู่ปีที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเริ่มเปิดสมัยประชุมครั้งที่หนึ่ง ในวันที่ 3 กรกฎาคม - 30 ตุลาคม 2567

เอาปฏิทินสมัยประชุมสภามากางให้ดู เพราะเห็นว่าฝ่ายค้าน ประกาศจองกฐิน ‘ซักฟอก’ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ในสมัยประชุมนี้ โดยกำหนดฤกษ์งามยามดีไว้หลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งอยู่ในราวต้นเดือนเมษายน 2567

โดยหากยึดตามกรอบเวลาที่ว่านี้ ฝ่ายค้านมีสิทธิจั่วลม!! ไม่ได้ซักฟอกรัฐบาลสูง เพราะกว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะกลับเข้าสู่วาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร ก็ปาไปถึงวันที่ 3-4 เมษายน 2567 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 9 เมษายน 2567

จึงนับว่าหมิ่นเหม่อย่างมากกับอาการวืด!! ไม่ได้ซักฟอกรัฐบาลในปีแรกของสภานี้ ที่ให้สิทธิฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร ผ่านการขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และมาตรา 152 อันเป็นการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น

ในสมัยสภาชุดที่แล้ว มีการถกเถียงกันถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ให้ทำได้ปีละหนึ่งครั้งนั้น นับกันที่ตรงไหน นับตามปีปฏิทินหรือปีที่สภาเริ่มต้นสมัยประชุมครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สอง ซึ่งได้ข้อสรุปให้ยึดตามปีที่สภาเริ่มต้น

ฝ่ายค้านในขณะนั้น ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จึงไม่ต้องรีบยื่นซักฟอกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน ด้วยเหตุแห่งการกลัวเสียสิทธิ เมื่อพ้นปีปฏิทิน พ.ศ.2562

แต่สภาชุดนี้ ที่มีพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ผ่านไปแล้วหนึ่งสมัยประชุม และยังไม่ได้พิจารณาร่างกฎหมายแม้แต่ฉบับเดียว แถมยังทำให้ร่างกฎหมายสำคัญที่ค้างมาจากสภาชุดก่อน ‘ถูกตีตก’ ไปทั้งหมด เพราะความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จึงไม่สามารถนำร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ มายืนยันต่อสภาภายในเวลา 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้

ดังนั้น ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างมีร่างกฎหมายของตัวเอง ที่จะเร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา บางร่างยื่นคาไว้แล้ว บางร่างกำลังจะเสนอเข้าไปใหม่  เท่าที่สแกนดูเร็ว ๆ นาทีนี้ นอกจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จองคิวไว้ในวันที่ 3 มกราคม 2567 แล้ว

ที่เหลือยังมีร่างกฎหมายสำคัญ ๆ อาทิ พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทของรัฐบาล การแก้ไข พ.ร.บ.การจัดทำประชามติ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และไหนจะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นกฎหมายในหมวดปฎิรูปประเทศ ที่ตอนนี้อยู่ในมือสภาการศึกษาแห่งชาติ ที่นำกลับไปปัดฝุ่น เตรียมเสนอเข้ามาใหม่อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

ล่าสุดมีคิวแทรกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย ที่จะใช้เป็นช่องทางส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นการทำประชามติซ้ำอีกรอบเพิ่มเข้ามาอีก

เวลา 4 เดือนต่อจากนี้ของสมัยประชุมสภาปีที่ 1/2 ถ้าพรรคก้าวไกล ที่ประกาศเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ไม่จัดตารางเวลาลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี ญัตติการขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ‘เศรษฐา’ มีโอกาสเหนี่ยวไกค้างหรือไม่ก็กระสุนด้านสูง..

เว้นเสียแต่จะจงใจไว้ไมตรี ที่ยังมีเยื่อใยอยู่กับพรรคเพื่อไทย เพราะรอน้ำบ่อหน้าอย่างที่เขานินทากัน ก็ว่ากันไปตามนั้น

‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ ขุนคลังหลังม่าน

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  แถลงนโยบายแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวานนี้

นับเป็นนโยบาย หรือมาตรการแรกนับตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ที่มีความชัดเจนในเรื่องเป้าหมาย วิธีการและระยะเวลา เป็นนโยบายที่จับต้องได้ และเห็นอนาคตว่าทำได้จริง

นายกรัฐมนตรี บอกว่า จะแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบคือ หนี้ในระบบและนอกระบบ ให้จบภายในรัฐบาลนี้  โดยมีมูลหนี้สูงถึง 16 ล้านล้านบาท

ลูกหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

  1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่เป็นรายย่อย 1.1 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะให้ออมสิน และธกส.ให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้เอสเอ็มอีกว่า 1 แสนราย จะให้สถาบันการเงินของรัฐช่วยปรับโครงสร้างหนี้ 
  2. ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้สูงมาก จนเหลือรายได้ไม่พอต่อการดำรงชีพ คือ ครู ข้าราชการ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล จะให้สหกรณ์ออมทรัพย์ ลดดอกเบี้ยให้ โอนหนี้ไปไว้ที่เดียว ตัดเงินเดือนให้เหลือสำหรับการยังชีพ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล จะตั้งคลินิกแก้หนี้ เพื่อรวมหนี้หลาย ๆ เจ้านี้มาไว้ที่เดียวกัน 
  3. ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ส่งหนี้บ้าง ไม่ส่งบ้าง คือ เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้ กยศ. จะให้มีการพักชำระหนี้ชั่วคราว ลดดอกเบี้ย ลดค่างวด ในกรณี กยศ. งดเบี้ยปรับ และปลดผู้ค้ำประกัน 
  4. ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐเป็นระยะเวลามานาน จะโอนหนี้ไปยัง บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่ม ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแนวทางที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำมาแล้ว เช่น คลินิกแก้หนี้ครู คลินิกแก้หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล การลดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ การแก้หนี้ กยศ. ฯลฯ

บางเรื่องเป็นนโยบายหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ เช่น การแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดจากโควิด 

จะเรียกว่านโยบายที่ ‘ลุงตู่ทำแล้ว เศรษฐาทำต่อ’ ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาหนี้สินเป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่เกินเศรษฐกิจไทยมาช้านาน เป็นปัญหาเรื้อรังของชาติที่ทุกรัฐบาลต้องแก้ไข

สมัยรัฐบาลประยุทธ์ คนหนึ่งที่มีบทบาทเบื้องหลังในการวางนโยบาย และเป็นผู้ลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาหนี้ในระบบ คือ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังอยู่ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563 จนถึง 2566 และลาออกก่อนเกษียณเพียงไม่กี่วัน เพื่อรับตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลนี้

ในบรรดารัฐมนตรีทั้ง 34 คนรวมนายกฯ มีรัฐมนตรีที่ไม่ใช่นักการเมืองเพียง 2 คน คือ กฤษฎา และพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ  ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในโควตาของพี่ชาย

แต่กฤษฎาเป็นรัฐมนตรีคนเดียวที่ ‘ตรงปก’ คือ เป็นเทคโนแครต มีความรู้ ความสามารถตรงกับหน้าที่ ด้วยประสบการณ์การเป็นลูกหม้อกระทรวงการคลังมากว่า 30 ปี  ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ อธิบดีกรมใหญ่ 3 กรม ตอนโควิดระบาด เป็นช่วงที่รับตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังพอดี จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดของ ศบค.

 ด้วยประสบการณ์ที่เข้มข้นและวางใจได้ในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เขาจึงได้รับมอบหมายให้ดูแล รับผิดชอบ หน่วยงานที่เป็นหัวใจของกระทรวง คือ สำนักปลัด  กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต และรัฐวิสาหกิจสำคัญคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเอสเอ็มอี  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  ซึ่งล้วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบของรัฐบาล รวมทั้ง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 

นโยบายแก้หนี้ทั้งระบบที่เป็นนโยบายแรกและนโยบายเดียวของรัฐบาลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม มีวิธีการปฏิบัติ และกรอบเวลาชัดเจน ก็เป็นการผลักดันของกฤษฎานั่นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์