เมื่อก่อนสิ้นปี 2566 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกมาเปิดรายชื่อ ‘คดีคอร์รัปชันที่ต้องจับตาในปี 2567’ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คดีสินบนข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับ บมจ. ปตท. องค์กรระดับประเทศที่มีตัวเลขรายได้ในปีที่ผ่านมาสูงถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท
ที่น่าตกใจก็คือ เมื่อสืบเสาะเจาะลึกถึงผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนในการชงโครงการ อนุมัติจัดซื้อ และเป็นช่องทางไหลผ่านของเงินสินบน พบว่าครอบคลุมเครือข่ายอดีตผู้บริหารระดับสูงในขณะนั้นหลายคนที่เติบโตจากการเป็น ‘ลูกหม้อ ปตท.’ รวมไปถึงกรรมการอิสระและเบอร์ 1 ขององค์กร
คดีที่สอง คือคดี ‘สต็อกลม’ น้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย
คดีปาล์มอินโดนิเชียทาง ‘บริษัท ปตท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (PPTGE)’ และ ‘ปตท.’ ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1. คดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของ PPTGE โดยส่งฟ้องศาลแพ่งไปตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2558
2. คดีอาญาที่คณะกรรมการ ปตท. มีมติให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาเมื่อเดือนมกราคม 2556
ความอื้อฉาวของคดีนี้ ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึง ‘ประเสริฐ บุญสัมพันธ์’ อดีตเบอร์ 1 ของ ปตท. ซึ่งเป็นลูกหม้อผู้มากความสามารถมาตั้งแต่ยุคที่องค์กรด้านพลังงานแห่งนี้ยังเป็น ‘รัฐวิสาหกิจเต็มตัว’ จนก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ CEO คนที่ 2 ของ บมจ. ปตท. ซึ่งครองตำแหน่งนี้ยาวนานที่สุดถึง 8 ปี (2546-2554)
โดยหลังจากมีการเสนอเรื่องเข้ามาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาถึง 5 ครั้ง จึงได้มีการลงมติ ‘**ให้แจ้งข้อกล่าวหา’**ต่อประเสริฐก่อนที่จะมีการอนุมัติให้ตั้งไต่สวนเป็นทางการ
เนื่องจากผลการสอบสวนข้อมูลเชิงลึก พบว่ามีส่วนร่วมในการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ปตท. วาระลับ พิจารณาอนุมัติลงทุนโครงการ PT. Az Zhara ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติจำนวนสิทธิในที่ดินปลูกปาล์ม 117,500 เฮกตาร์ วงเงิน 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นวงเงินสูงเกินจริงกว่า 40% นอกจากนี้ ยังยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ปตท.ร่วมเดินทางไปงานเปิดสำนักงาน PTTGE ประเทศอินโดนีเซีย และเดินทางไปดูโครงการปลูกปาล์มหลายครั้ง โดย ปตท. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด
ป.ป.ช. ยังสอบเชิงลึกพบว่า ‘บุคคลภายนอก 1 - 2 ราย’ ที่รวมเดินทางไปดูโครงการปลูกปาล์มดังกล่าว ปรากฏชื่อเป็น ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ ในคดีนี้ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘การรับเงินส่วนต่าง’ ที่เกิดจากการขายหุ้นสิทธิในที่ดินโครงการPT.KPI ด้วย และจะอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่กำกับดูแล ควบคุม ติดตามการดำเนินธุรกิจปาล์มน้ำมันของบริษัท PTTGE อย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ปตท. และไม่มีการรายงานปัญหาอุปสรรคการดำเนินโครงการให้คณะกรรมการ ปตท. ทราบ ส่งผลให้มีการดำเนินการที่ไม่ชอบในโครงการ PT.AZ Zhara , PT.MAR Pontianak, PT.MAR Banyuasin PT. FBP และ PT. KPI ทำให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ยังมีรายงานการตรวจสอบฉบับหนึ่ง ที่เป็นหลักฐานสำคัญชี้ให้เห็นถึงสภาพพื้นที่ที่อาจจะไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้ ‘ต้นทุนโครงการสูงว่าปกติ’ โดยระบุว่า พื้นที่ของ PT.MAR มีลักษณะดินเป็นดินพรุ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการสูงว่าพื้นที่ปกติ และได้ผลตอบแทน (IRR) ร้อยละ 14 ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ขณะที่ คณะกรรมการ ปตท. มีมติกำหนดเงื่อนไขการลงทุนว่า IRR ร้อยละ 15
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวอ้างอิงแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่าประเสริฐ ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา และชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยวาจาไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือน กันยายน 2566 อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติม
สำหรับคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย (คดีปาล์มอินโดฯ) เกิดจากกรณีเกิดขึ้นจากที่ บมจ. ปตท. ตั้งบริษัท PTTGE ลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ต่อมามีการตรวจสอบพบความไม่โปร่งใส และมีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง
ขณะที่ผลการตรวจสอบจาก ‘บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด’ (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ตรวจสอบพบ ‘ความไม่ชอบมาพากล’ ในการดำเนินโครงการนี้หลายประการ รวมทั้งมีผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ‘รู้เห็น’ และมีการโอนเงินเข้าบัญชีคนไทยจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถเปิดโปงหลักฐานที่ชัดเจนของขบวนการโกงปาล์มอินโดฯ และคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ บมจ. ปตท. ในขณะนั้นได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ไต่สวนต่อตั้งแต่ปี 2560
นอกจากนี้ ‘ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์’ ประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ บมจ. ปตท ในขณะนั้น (2558-2564) ยังมีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับประธานตรวจสอบ ‘บมจ. โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC)’ ** จนสามารถ ‘เปิดโปง’ ขบวนการโกงทั้งระหว่างบริษัทในเครือ ปตท. ด้วยกันเอง และโยงใยสู่เครือข่ายภายนอก จากกรณีสต๊อกน้ำมันปาล์มในคลังคู่ค้าสูญหาย ส่อว่าจะเป็น ‘สต็อกลม’ จนนำมาซึ่งผลการตัดสินของศาลแพ่ง ในปี 2564 ให้บริษัท GGC ชนะคดี และสั่งอดีตพนักงานชดใช้ 8 ล้านบาท** ขณะที่ ล่าสุดการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาหาผู้กระทำผิดกฎหมายก็ใกล้จะเสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวนแล้ว
สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากระหว่างเดือน มีนาคม 2561 - พฤษภาคม 2561 บริษัท GGC ได้ซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จาก PTT TRADING โดยที่ ปตท.ได้ซื้อ CPO จากบริษัท โอพีจีเทค จำกัด (OPG) แล้วให้ OPG กลั่นแล้วส่งมอบให้กับ GGC โดยมีเงื่อนไขการจ่ายเงินคือ GGC จะจ่ายเงินให้กับ ปตท.ก็ต่อเมื่อ OPG ได้กลั่นน้ำมัน และได้ส่งมอบน้ำมันดังกล่าวให้กับ GGC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย GGC จะออกหนังสือยืนยันการรับน้ำมันจาก OPG แล้วจ่ายเงินให้กับ ปตท.ต่อไป หลังจากที่ ปตท.ได้รับเงินจาก GGC แล้ว ปตท.ก็จะจ่ายเงินให้กับ OPG หรือสถาบันการเงินที่ OPG ได้ทำสัญญาแฟคตอริ่ง (Factoring) หรือสัญญาซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว OPG ไม่มีการส่งมอบน้ำมันให้แก่ GGC แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของ GGC กับเจ้าหน้าที่ของ ปตท. ได้จ่ายเงินให้กับ OPG หรือสถาบันการเงินที่ OPG ได้ทำสัญญาแฟคตอริ่ง (Factoring) เป็นเงินจำนวนกว่า 200 ล้านบาท ทั้งที่ไม่มีการส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบ การกระทำดังกล่าวเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันในการฉ้อโกง ปตท.
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร GGC 2 ราย พร้อมคู่ค้าอีก 9 ราย ฐานร่วมกันดำเนินการให้ GGC ซื้อวัตถุดิบและจ่ายชำระเงินค่าซื้อเต็มจำนวนให้แก่ผู้ขาย โดยไม่ได้รับวัตถุดิบทั้งหมดหรือได้รับเพียงบางส่วน รวมทั้งกรณีส่งมอบวัตถุดิบไปกลั่นโดยไม่ได้มีการกลั่นจริง อันทำให้ GGC ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 2,157 ล้านบาท