ณวัฒน์ MGI vs แอน JKN ชีวิตที่สวนทางกัน - ‘กิตติรัตน์’ ขุนคลังตัวจริง

15 ธ.ค. 2566 - 10:01

  • ณวัฒน์ MGI vs แอน JKN ชีวิตที่สวนทางกัน เส้นทางของคนทำนางงาม

  • ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ ขุนคลังตัวจริง แทบจะกลายเป็นคนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไปแล้ว

DEEP SPACE 011-SPACEBAR-Hero.jpg

ณวัฒน์ MGI vs แอน JKN ชีวิตที่สวนทางกัน

วันที่ 14 ธันวาคม หุ้นบริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MGI ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ วันแรก

จาก IPO หุ้นละ 4.95 บาท เปิดตลาดที่ราคา 6.25 บาท  ขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 7.55 บาท  ก่อนปรับตัวลดลง และปิดวันแรกที่ 7.20 บาท เพิ่มขึ้นจากราคา IPO  หุ้นละ 2.25 บาท หรือ 45.45%

ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ซีอีโอ มิสแกรนด์ฯ ถือหุ้น MGI  90 ล้านหุ้น เท่ากับ  42.86%  เพียงชั่วข้ามคืน กลายเป็น Millionaire มหาเศรษฐีร้อยล้านคนล่าสุดใต้ฟ้าประเทศไทย

เปรียบเป็นเวทีนางงาม มิสแกรนด์ของ ณวัฒน์ คือ ดาวรุ่งพุ่งแรง ก้าวสู่รอบสุดท้ายและคว้ามงกุฎได้ในที่สุด สวนทางกับนางงามมิสยูนิเวิร์ส ของ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ เจ้าของบริษัท เจเคเอ็น ที่ตกเวทีประกวด ด้วยความบอบช้ำแสนสาหัส

วันที่ 15 ธันวาคม บริษัท เจเคเอ็น โกลบอลมีเดีย หรือ JKN ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นเอ็มเอไอ เหมือนกัน นัดประชุมกับเจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้ เพื่อหารือเรื่องการชำระหนี้ รวมถึงการทำให้เจ้าหนี้ยอมรับแผนการฟื้นฟูตามที่ยื่นขอไป หากไม่สามารถผ่านขั้นตอนนี้ อนาคตของ JKN ก็แทบจะปิดตาย ปลายทางของจักรวาลนี้ คือ ล่มสลาย

เวลานี้ แอน ถือหุ้นใน JKN ในสัดส่วน 183 ล้านหุ้น หรือ 24.55% ราคาหุ้นวันที่ 15 ธ.ค. หุ้นละ ห้าสิบสตางค์ คิดเป็นมูลค่า 91 ล้านบาท

ทั้ง ณวัฒน์ และแอน อยู่ในธุรกิจ ‘นางงาม’ มิสแกรนด์ เป็นนางงามในประเทศ ส่วนมิสยูนิเวิร์ส เป็นเวทีระดับโลก แต่โมเดลธุรกิจไม่แตกต่างกันมาก คือ รายได้หลักมาจากการขายสิทธิ์ในการจัดประกวดให้กับผู้สนใจ ขายสินค้าเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ และการบริหารผลประโยชน์นางงามที่อยู่ภายใต้สัญญา

มิสแกรนด์ของณวัฒน์ ขายสิทธิ์ให้กับผู้สนใจ 77  จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 1 ราย จัดประกวดมิสแกรนด์จังหวัดแล้วมาประกวดรอบสุดท้าย โดยแต่ละจังหวัดจะใช้รูปแบบการจัดประกวดตามที่บริษัทกำหนด

แอน และ ณวัฒน์ เคยเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกันยาวนานถึง 15  ปี โดยเฉพาะการทำรายการทีวี  การทำสินค้าความงามที่ต้องพึ่งพากัน จากเดิมที่ณวัฒน์เคยเป็นเจ้าของรายการหลายสถานี เช่น เที่ยวเมืองแปลก พร้อมกับขายทัวร์ และมาร่วมกับไตรภพ ลิมปพัทธ์  ในทไวไลท์ โชว์  โดยบางรายการของ ณวัฒน์ แอน ที่ตอนนั้นยังไม่มีสถานีเป็นของตัวเอง ก็ลงโฆษณาสินค้าในรายการของณวัฒน์

ทั้ง 2 คนมาเปิดศึก จากการให้สัมภาษณ์ของแอนในรายการบันเทิง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564และคุยเรื่องชีวิตคู่ที่มีปัญหา จนเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ของคนดูส่วนใหญ่ และณวัฒน์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ออกมาวิจารณ์แอนอย่างรุนแรง จนแอนต้องออกมาตอบโต้ จนลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ละฝ่ายก็เปิดโปง แฉเรื่องลับของอีกฝ่ายหนึ่ง จนสุดท้ายก็แยกกันไป แบบต่างคนต่างทำมาหากิน

ช่วงที่แอนเปิดศึกกับณวัตน์ แอนยังไม่ได้ซื้อกิจการของ Miss Universe Organization (MUO) แต่ณวัฒน์ มีเวทีมิสแกรนด์อยู่ในมือแล้วจึงมีคนตั้งข้อสงสัยว่า การซื้อ MUO ของแอน แรงผลักดันส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งครั้งนี้ ที่นำไปสู่การแข่งขันชิงดีชิงเด่นของคนพันธุ์เดียวกันสองคนนี้ด้วยหรือไม่

JKN ซึ่งเติบโตมาจากธุรกิจขายลิขสิทธิ์หนังอินเดีย ก่อนเทกโอเวอร์ ทีวีดิจิทัล ช่อง 18 ซื้อ MUO ได้ไม่ถึงปี ก็มีปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระดอกเบี้ย และเงินต้นหู้นกู้ได้  กิจการมีสถานะล้มละลาย เพราะหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องขอฟื้นฟูกิจการ ในช่วงพอดีกับการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งแรก หลังซื้อ MUO ซึ่งได้ขายสิทธิให้กับประเทศเอลซัลวาดอร์ 

ส่วนเวทีมิสแกรนด์ จัดประกวดมา 8 ปีแล้ว แต่ใช้โมเดลการประกวด 77 จังหวัด เพื่อคัดเลือก มิสแกรนด์ 77 คน มาชิงตำแหน่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ตั้งแต่ปี 2559  ซึ่งวันนี้เป็นโมเดลที่ทำรายได้ให้บริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีต้นทุนอะไรเลย มีแต่รายได้เนื้อ ๆ จากค่าสิทธิ์ในการจัดประกวด 77 จังหวัด ที่แต่ละจังหวัดไม่สูงมาก คหบดี นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มธุรกิจในพื้นที่ พร้อมจะจ่าย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของจังหวัดและของตัวเอง 

JKN เข้าตลาดเอ็มไอเอตอนปลายปี 2560 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของ แอน เงินทองไหลมาเทมา ชื่อเสียงขจรขจาย ในขณะที่ณวัฒน์กำลังปลุกปั้นมิสแกรนด์ที่ยังเป็นเวทีนางงามโนเนม 

วันนี้เส้นทางชีวิตของทั้งสองคนสวนทางกัน  มิใช่เรื่องวาสนาหรือฟ้าลิขิต แต่เป็นเรื่องของคนที่เป็นผู้กำหนด

‘กิตติรัตน์’ ขุนคลังตัวจริง

ยิ่งนานวัน บทบาทของ ‘โต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ ก็ยิ่งสูงเด่น และชัดเจนขึ้นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัวจริงของรัฐบาลชุดนี้คือใคร ?

วงในของพรรคเพื่อไทยจะทราบกันดีว่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อยากจะให้ โต้ง กิตติรัตน์ เข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจ ในฐานะ รัฐมนตรีคลัง ตั้งแต่ในช่วงฟอร์มรัฐบาล แต่ติดขัดในเรื่องภาพลักษณ์เชิงลบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ในช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ เรื่องรับจำนำข้าว และที่กลายเป็นตราบาปมาถึงวันนี้จากวาทกรรม โกหกแบบ ‘White Lie’ ทำให้ชื่อของ กิตติรัตน์ ถูกดึงออกในนาทีสุดท้ายจากนายใหญ่ 

สุดท้าย นายกฯ เศรษฐา จึงต้องเลือกที่จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเอง และแต่งตั้งให้ กิตติรัตน์ ในฐานะพี่ชายที่ไว้ใจ และเชื่อฝีมือที่สุดให้เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และมอบให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก 

เพราะเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจว่า ทำไมเราแทบไม่เห็นบทบาทของนายกฯเศรษฐา ในฐานะรัฐมนตรีคลัง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แม้แต่เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐาก็ปล่อยให้ รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รับบทในการขับเคลื่อนโครงการไปแบบ ‘มะงุมมะงาหรา’ อยู่ทุกวันนี้ จนทำให้งานในส่วนที่เหลือนายกฯ เศรษฐา ต้องเลือกมอบหมายให้โต้ง กิตติรัตน์ เข้าไปขับเคลื่อนแทน ในขณะที่ รมช.คลังอีกคน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กฤษฎา จีนะวิจารณะ จากรวมไทยสร้างชาติ แทบจากกลายเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืมไปแล้ว

เห็นได้ชัดจากกรณี นโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้  ทั้งในระบบและนอกระบบ นายกฯ เศรษฐาก็มอบให้ กิตติรัตน์ ไปเป็นคนขับเคลื่อน เช่นเดียวกันเรื่องของตลาดหุ้น เขากลายเป็นคนที่มีบทบาท ถึงขนาดเป็นคนออกมาโยนหินถามทาง เรื่องการยกเลิกโปรแกรมเทรดดิ้งเจ้าปัญหา และการจัดการกับธุรกรรมชอร์ตเซลล์ ที่กำลังเป็นผู้ร้ายในสายตาของนักลงทุน

สำหรับ โต้ง กิตติรัตน์ เขาเชื่อว่า ที่ผ่านมานโยบายเศรษฐกิจของไทย เดินมาผิดทิศผิดทาง และเป็นสาเหตุที่เศรษฐกิจไม่โต ทำให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในประเทศกับดักรายได้ปานกลาง รัฐบาลจึงควรมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผ่านการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะเดียวกันแบงก์ชาติควรมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เขาออกมาส่งสัญญาณเป็นระยะๆ ถึงความไม่พอใจในเรื่องนี้

แต่แบงก์ชาติเองก็ยังคงไม่มีสัญญาณตอบรับ ยังคงยึดกรอบความคิดเดิม คือ การดำเนินนโยบายแบบระมัดระวัง อยากเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบค่อยเป็นค่อยไป พยายามรักษา Policy Space เอาไว้ โดยเชื่อว่าการกำหนดนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยขึ้นมาถึงระดับ 2.5% และเริ่มตรึงเอาไว้ในการประชุมครั้งหลังสุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว 

แนวคิดที่ดูจะสวนทางกันแบบนี้ ยิ่งนานวัน อาการเหวี่ยง ๆ ของ โต้ง กิตติรัตน์ จึงกลับมาอีกครั้ง โดยล่าสุดเขาเริ่มเปิดวอร์ (War) สงครามรอบใหม่กับ แบงก์ชาติ จากการโพสต์ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา

นอกเหนือจากเขาจะยังคงบ่นถึง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดในสมัยรัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว เขายังตำหนินโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแทนที่จะยอมให้ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งจะช่วยเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว

เขายังชี้ประเด็นด้วยว่า ผลจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนทะลัก เนื่องจากลูกหนี้แบกภาระไม่ไหว และกลายเป็นหนี้เสีย ต้องถูกฟ้องร้อง บังคับคดี จนผู้คนกลายเป็น Zombie เศรษฐกิจเกลื่อนเมือง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์