นายกฯ ไทยเป็นแค่ ‘เซลล์แมน’ อนาคตของชาติอยู่ที่ไหน

13 มี.ค. 2567 - 10:35

  • นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินขึ้นปกนิตยสาร Time ฉบับเอเชีย

  • มาจากฝีมือการทำงานล้วน ๆ หรือเป็นไปตามแพ็คเกจประชาสัมพันธ์

  • การได้ขึ้นปก ไม่ได้สำคัญเท่าทำงานได้ตามที่สัญญาไว้หรือไม่

Srettha-Time-SPACEBAR-Hero.jpg

ย้อนหลังไปสัก 20  ปี Time Magazine ของสหรัฐอเมริกา เป็นนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ที่ได้รับความนิยมมาก เป็นแหล่งของข้อมูล ข่าวสารของสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลต่อความรับรู้ ความคิดของผู้อ่านในยุคที่ยังไม่มี  CNN  นิตยสารไทม์ เป็นสื่ออเมริกาฉบับเดียวที่เข้าถึงผู้อ่านในต่างประเทศมากที่สุด

อีกฉบับหนึ่งคือ นิตยสาร Newsweek ซึ่งเกิดที่หลังไทม์ประมาณ 10 ปี ไทม์ฉบับแรก ออกจำหน่ายในนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2466 ถึงวันนี้ มีอายุ 101 ปี ส่วนนิวสวีค หลังวอชิงตันโพสต์ ขายทิ้ง ก็เปลี่ยนเป็นสื่อออนไลน์ตั้งแต่ 10 ปีก่อน จำนวนผู้อ่านก็ลดน้อยลงไปหลายเท่า จากที่เคยเป็นสื่อข้ามชาติ ก็กลายเป็นแค่สื่อในประเทศเท่านั้น

ส่วนไทม์ แม้จะยังมีนิตยสารอยู่ ควบคู่กับการทำออนไลน์ แต่ก็หนีไม่พ้นกระแส disruption ของแพลตฟอร์มดิจิทัล จนผู้อ่านลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ จนต้องปรับจาก รายสัปดาห์ เป็น รายปักษ์ หรือ รายสองสัปดาห์ ในขณะที่เวอร์ชั่น ออนไลน์ Time.com  ที่หวังจะทำรายได้จากระบบสมาชิก ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องเลิกระบบสมาชิก ให้ดูฟรีเพื่อเพิ่มยอดผู้เข้ามาดู

เหลือแต่ชื่อ Time Magazine ที่พอจะเป็นที่จดจำ สำหรับผู้อ่านที่เกิดและโตมาในยุคสงครามเย็น โดยมีจุดขายคือ การคัดเลือกบุคคลแห่งปี (Person  of The Year) ปีละครั้ง ที่พอจะเรียกความสนใจได้บ้าง กับ การจัดอันดับ ‘ผู้ทรงอิทธิพล….’ ประเภทต่าง ๆ เช่น สตรีผู้ทรงอิทธิพล ผู้นำรุ่นใหม่ที่ทรงอิทธิพล เป็นต้น

เพราะฉะนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ที่วางขายในเอเชีย (ไม่ได้ขึ้นปกฉบับยุโรป และสหรัฐฯ) ฉบับล่าสุด จึงเป็นแค่ ‘หยดน้ำเล็กๆ ในมหานที’ ที่ท่วมท้นด้วยกระแสคลื่นข้อมูล ข่าวสาร ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย นอกเสียจากว่า เป็น Content ที่กองบรรณาธิการคิดว่า ‘ขายได้’ ในตลาดเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในประเทศไทย 

หรืออาจจะ เป็นส่วนหนึ่งของ ข้อตกลงธุรกิจระหว่าง ไทม์ กับ รัฐบาลไทย

ที่ผ่านมา  มีนายกรัฐมนตรีไทย ขึ้นปก ไทม์มาแล้ว 3  คน คนแรกคือ ‘ชวน หลีกภัย’ เมื่อเดือนมีนาคม 2541 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นปกมาแล้ว 3  ครั้ง  ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคยให้สัมภาษณ์และขึ้นปกไทม์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561  ส่วน ‘ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร’ เคยได้รับการจัดอันดับเป็น หนึ่งในผู้นำสตรีที่ทรงอิทธิพล  ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้รับยกย่องเป็นผู้นำแห่งอนาคต 

รัฐบาลไทยนั้น เป็น ‘ลูกค้า’ ซื้อพื้นที่สื่อและจ้างไทม์ทำ content มานานกว่า  20 ปี ตั้งแต่ไทม์ยังเป็นของ วอเนอร์ บราเธอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของ CNN และนิตยสารฟอร์จูนด้วย

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คนไทยและต่างชาติ หมดความเชื่อมั่นในประเทศไทย เลขาธิการบีโอไอ ในตอนนั้น คือ ‘สถาพร กวิตานนท์’ จึงริเริ่ม แคมเปญ ‘Thailand Invest Now’ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ให้กลับมาลงทุนในประเทศไทย  และจัดงาน บีโอไอ แฟร์ ครั้งที่ 2  เชื่อมั่นประเทศไทย ในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2543

ในครั้งนั้น ได้ว่าจ้างเครือข่าย CNN และไทม์ /ฟอร์จูน ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการตลาด เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยทำเป็นแพ็คเก็จ นอกเหนือจากการโฆษณาแล้ว ยังต้องผลิต content ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้ง การสัมภาษณ์ผู้นำหรือคนสำคับออกสื่อด้วย ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของกลยุทธ์การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ประเทศไทยในต่างประเทศไทย โดยเฉพาะ เรื่องการลงทุน และการท่องเที่ยว

ช่วงนั้น  ‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ ยังเป็นข้าราชการบีโอไอ  เป็นทีมงานของสถาพร เมื่อมาเป็นผู้ว่า ททท. เขาได้ถอดแบบการใช้สื่อ และแบรนด์ดังต่างประเทศมาใช้กับการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ทั้งการว่าจ้างทำโฆษณา เชิญสื่อมาทำ Content จ้าง ‘มิชลิน’ มาแจกดาวมิชลิน ในประเทศไทย ล่าสุดคือจ้าง ‘กินเนส์บุ๊ค’ บันทึกสถิติโลก 5 ซอฟต์พาวเวอร์

การเลือกเศรษฐา ทวีสิน  ขึ้นปกไทม์  พร้อมคำโปรย ‘The Salesman’ จะเป็นเพราะความน่าสนใจของตัวเศรษฐาเองในมิติข้อมูล ข่าวสาร หรือเป็นส่วนหนึ่งของ แพ็คเก็จโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ตามแต่ ไม่ได้มีผลอย่างไรต่อมุมมอง ทัศนคติ ที่คนไทยมองบทบาทผู้นำของตัวเอง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

กลับเป็นการตอกย้ำด้วยซ้ำว่า  คิดถูกแล้ว ที่คนไทยเห็นนายกฯเป็นแค่ ‘ เดอะ เซลล์แมน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์