ปิดฉาก ‘STARK’ หายนะของนักลงทุน

3 ก.ย. 2567 - 05:16

  • มหากาพย์ STARK ถึงจุดสิ้นสุด

  • ทิ้งไว้เป็นหายนะของนักลงทุนที่ตกเป็นเหยื่อ

  • ส่วนผู้บริหารก็ถูกควบคุมตัวดำเนินคดี

economy-stark-leaves-investors-stranded-SPACEBAR-Hero.jpg

เช้าวันอังคารที่ 3 กันยายนเป็นอีกวันหนึ่งที่เป็นยิ่งเสียกว่า ‘ฝันร้าย’ ของบรรดานักลงทุนนับหมื่นคนที่เป็นผู้ถือหุ้น และหุ้นกู้ ของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK  ที่จะต้องตื่นมาพบกับความจริงอันแสนเจ็บปวดและเลวร้าย

เมื่อตระหนักได้ว่าหุ้นของ STARK ได้ถูก ‘ถอดถอน’ ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากมีการซื้อขายเป็นวันสุดท้าย โดยราคาหุ้นของ STARK ลดลงเหลือเพียง 1 สตางค์ โดยมีมูลค่าตลาดเพียง 238 ล้านบาท 

นักลงทุนเหล่านี้ต้องกลายเป็นผู้ประสบหายนะในการลงทุนที่เกิดขึ้นมาจาก ‘มหากาพย์’ การโกงที่สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งมโหฬารในวงการตลาดทุนไทย ที่ทิ้งไว้ด้วยคราบน้ำตาและรอยแผลที่ยากจะเยียวยา 

ถึงแม้จะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหารที่ร่วมกันวางแผน ‘ปล้นตลาดหุ้น’ กันแบบดื้อๆ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือกฎแห่งกรรมใด ๆ และสร้างความวอดวายให้กับนักลงทุนนับ ‘หมื่นล้านบาท’ โดยทุกคนต่างตกอยู่ในสภาพเหมือนโดน ‘ปล่อยเกาะ’ ที่ไม่มีใครมาแจก ‘ถุงยังชีพ’ หรือมีหนทางที่จะได้เงินที่ถูกยักยอกไปกลับคืน 

มหากาพย์ของการโกงครั้งใหญ่ของ STARK ในตลาดหุ้นไทยมี ‘จุดเริ่มต้น’ มาจาก 3 ตัวละคร ที่รับบท ‘ผู้ร้าย’ ในคราบผู้บริหารหลักคือ ‘วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ’ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’ ผู้ซึ่งเป็นคนอยู่เบื้องหลังและถือเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของวนรัชต์ และยังมี ‘ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ’ อดีตประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) และยังเป็นเลขาคนสนิทของ ชนินทร์ 

วนรัชต์ รู้จักกับชนินทร์ โคจรมาพบกันจนเกิดความสนิทสนมจากการทำดีลหุ้นของบริษัททีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) หรือ TOA ของตระกูลตั้งคารวคุณ ในการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 

ต่อมาชนินทร์แนะนำให้มีวนรัชต์เข้าไปซื้อกิจการของ ‘บริษัท Phelps Dodge’ บริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้า สัญชาติอเมริกันที่ตัดสินใจขายธุรกิจในไทยที่ประสบปัญหาด้วยมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท และเป็นคนที่คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านแผนการเงิน และช่วยในการเดินเกมทางธุรกิจทั้งหมดให้กับวนรัชต์  

จากธุรกิจของ Phelps Dodge ในไทยที่ประสบปัญหาขาดทุนหนัก แต่หลังจากที่ ‘วนรัชต์’ เข้าไปซื้อกิจการได้เพียงไม่กี่ปี บริษัทก็เริ่ม ‘พลิกกำไร’ จนในปี 2562 ‘วนรัชต์’ ตัดสินใจนำ Phelps Dodge เข้าตลาดหุ้นไทย โดยใช้กระบวนการ Backdoor Listing ด้วยการเข้าไป Reverse Takeover ‘บริษัทสยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด(มหาชน)’ หรือ SMM ของ ‘ระวิ โหลทอง’ ที่ทำธุรกิจสื่อด้านกีฬา 

SMM ใช้วิธีการ ‘ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง’ ให้กับ กลุ่มของวนรัชต์ เป็นมูลค่าราว 12,900 ล้านบาท ทำให้ ‘กลุ่มวนรัชต์’ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และหลังจากเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ ‘กลุ่มวนรัชต์’ ก็จัดการขายกิจการเดิมของบริษัท SMM ออกไป และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก SMM มาเป็นบริษัท STARK แทน 

ในช่วงแรกที่เข้าตลาด STARK ก็ดูเหมือนธุรกิจที่ดำเนินการเป็นปกติ ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะเกิดการฉ้อโกงอะไร โดยผลประกอบการในช่วง 4 ปีแรกที่เข้าตลาดฯก็มีการเติบโตและกำไรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นของ STARK ที่เคยเคลื่อนไหวอยู่บริเวณหุ้นละ 1.40-2.60 บาท ถูกดันราคาจากการเก็งกำไร พุ่งขึ้นไปทำ ‘จุดสูงสุด’ ที่ระดับหุ้นละ 6.65 บาทในบางช่วง 

จนกระทั่งปลายปี 2565 มีการเสนอขาย ‘หุ้นเพิ่มทุน’ แก่สถาบันการเงินหลายแห่ง คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อบริษัท LEONI Kabel และ LEONIsche ตามแผนการขยายกิจการของบริษัท

สัญญาณร้ายที่กลายเป็นมหากาพย์ของการโกงเกิดขึ้นจากจุดนี้ เมื่อปรากฏว่าหลังจากที่สามารถระดมทุนทั้งจากสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ และหุ้นเพิ่มทุนจนได้เงินครบแล้ว แต่จู่ ๆผู้บริหารของ STARK กลับยกเลิกดีล โดยอ้างเหตุผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในบริษัท LEONI ที่อาจจะจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัท

เมื่อระดมทุนไปแล้วแต่ ‘ไม่ได้นำไปซื้อกิจการ’ จึงมีคำถามว่าผู้บริหารจะนำเม็ดเงินที่ได้มาไปทำอะไร แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกมาจากผู้บริหาร ทำให้เริ่มมีคำถามถึง ‘ไส้ใน’ ของงบการเงินบริษัทที่เริ่มมีอะไรแปลก ๆ หลังจากนั้นราคาหุ้นของ STARK ก็ปักหัวลง และมีข่าวร้ายทยอยตามออกมาเป็นระยะ ๆ จนถึงขั้นไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนด

ในที่สุดกลุ่มผู้บริหารก็เริ่มทยอยลาออกไป โดยเฉพาะ **‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’**ประธานกรรมการบริษัท และต่อมาก็มีการยอมรับว่า มีการตกแต่งบัญชีและเกิดขบวนการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่มีการถ่ายเทเม็ดเงินจำนวนมหาศาลออกไป โดยมีการปั้นตัวเลขทำสัญญาซื้อขายปลอมเพื่อผ่องถ่ายยักยอกเงินออกไปต่างประเทศนับหมื่นล้านบาท  

ต่อมามีการแจ้งดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อติดตามทรัพย์สินของบริษัทคืน รวมถึงบริษัทได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) โดย ‘กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)’ ออกหมายเรียกผู้ต้องหาคดี STARK ได้แก่ **‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’**และ ‘ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ’ ให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากพบพยานหลักฐานมีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชี และได้รับผลประโยชน์

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ยังส่งเรื่องให้ DSI กล่าวโทษ กลุ่มอดีตผู้บริหาร STARK รวม 10 ราย ซึ่งรวมถึง ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’ กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK ในช่วงปี 2564–2565 เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง 

อีกทั้งได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมทั้งออกหมายจับ ‘ชนินทร์ เย็นสุดใจ’ หลังพบการข่าวรายงานหลบหนีออกนอกประเทศ รวมทั้งมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และห้ามออกนอกประเทศ

DSI ได้สอบสวนเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีในบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส ของชนินทร์ เย็นสุดใจซึ่งมีวงเงินเหลือเท่ากับ 220 ล้านบาท พร้อมทั้งที่ดิน 2 แปลง และบ้าน 1 หลัง รวมทั้งมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก ปปง. ว่า ชนินทร์ เย็นสุดใจโยกย้ายเงินไปอยู่ที่อังกฤษอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท !!!

ผ่านมากว่าสองปี จนถึงขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริตใน STARK ซึ่งมี ‘วนรัชต์’ และ ‘ศรัทธา’ โดยศาลไม่ให้ประกันตัว แม้เจ้าตัวให้การปฏิเสธ จากนั้นถูกส่งต่อเข้าเรือนจำทันที เนื่องจากศาลพิจารณาแล้ว ลักษณะการกระทำเป็นความผิดที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมากและเกรงว่าอาจจะหลบหนีคดี 

ในขณะที่ผู้ต้องหาคนสำคัญ **‘ชนินทร์’**ได้ถูกคุมตัวจากดูไปมาถึงประเทศไทยเพื่อดำเนินคดี หลังหลบหนีเกือบ 1 ปี โดย DSI ส่งสำนวนคดีให้อัยการส่งฟ้องศาลต่อไป 

สำหรับนักลงทุนถึงแม้ในที่สุดจะมีการติดตามผู้กระทำความผิดในการฉ้อโกงครั้งมโหฬารกลับมาดำเนินคดีได้สำเร็จ แต่ความหวังที่จะได้รับเงินที่ต้องเสียหายไปจากการลงทุนคงแทบไม่มีโอกาส คงเหลือไว้แต่เพียงบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่ต้องจดจำไปอีกนานแสนนาน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์