การบินไทยซื้อเครื่องบิน งานนี้ไม่มี ‘เงินทอน’

14 ก.พ. 2567 - 07:43

  • การบินไทย สายการบินแห่งชาติ คือ ขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทุกสมัย

  • หลังจากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้การบินไทยสามารถหลุดพ้นมาได้ระยะหนึ่ง

  • แต่เวลาที่ปลอดการเมือง กำลังจะหมดลง เพราะจะออกจากกระบวนการฟื้นฟูสิ้นปีนี้

economy-tg-airplane-SPACEBAR-Hero.jpg

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นห่วงการซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ 40  กว่าลำของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า จะคุ้มค่าหรือไม่  แต่กระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะการบินไทยอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

คงกลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เหมือนสมัยที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ตอนนั้น การบินไทยซื้อเครื่องบินแอร์บัส A 340 จำนวน 10 ลำ มูลค่ารวม53,000ล้านบาท เพื่อบินตรงรวดเดียวไปนิวยอร์ค และลอสแอลเจลิส โดยไม่ต้องแวะเติมน้ำมัน ปรากฏว่า แค่ 3 ปี ขาดทุนไป 7,000ล้านบาท เพราะA 340 มี 4 เครื่องยนต์ กินน้ำมัน   บินไกล ต้องแบกน้ำมันไปเยอะ ทำให้มีที่นั่งผู้โดยสารน้อย แค่ 300 กว่าคน  ราคาตั๋วจึงแพง  ทำให้มีผู้โดยสารน้อย

ในที่สุดการบินไทยต้องยกเลิกเส้นทางบินตรงไปสหรัฐฯ เครื่องแอร์บัส 340 ทั้ง 10 ลำถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ ต่อมา กองทัพอากาศซื้อไป 1  ลำ ที่เหลือทยอยขายทิ้ง  ในราคาขาดทุนป่นปี้  เพิ่งจะขายหมดตอนที่การบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

ต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.)  ตั้งข้อหาทักษิณ ชินวัตร, พิเชษฐ์ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, ทนง พิทยะ  ประธานบอร์ดการบินไทย และกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยยุคนั้นว่า ทุจริตการจัดซื้อเครื่องบิน A 340 ทำให้การบินไทยเสียหายนับหมื่นล้าน

สุริยะ ซี่งเป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม กลับรอด  ไม่โดนตั้งข้อหา

อย่างไรก็ตามในเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว หลังการเลือกตั้ง และมีข่าวว่า ทักษิณ จะกลับบ้าน  ป.ป.ช ยกข้อกล่าวหาทักษิณกับพวก โดยอ้างว่า หลักฐานไม่เพียงพอที่จะชี้ว่า มีการทุจริต 

การบินไทยมีข่าวจะซื้อเครื่องบินทีไร ประชาชนจะนึกถึง การทุจริตรับค่าคอมฯของนักการเมืองทันที

คราวนี้ การบินไทยจะซื้อเครื่องบิน โบอิ้ง 787 จำนวน45 ลำ เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้น    การซื้อเครื้องบินล็อตนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการซื้อเครื่องบินใหม่ ประมาณ 51 ลำ ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบิน 65 ลำ ลดลงจากก่อนหน้าเข้าแผนฟื้นฟู ที่มีอยู่ประมาณ 100 ลำ ตามแผนฯ จะต้องเพิ่มเครื่องบินให้ถึง 113 ลำ ภายในปี 2570

เครื่องบินเป็นเครื่องมือหารายได้ ของสายการบิน มีเครื่องน้อย เครื่องเก่า ผู้โดยสารก็จะน้อย รายได้น้อยตามไปด้วย  ตามแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยต้องทำรายได้ให้ถึงปีละ 1.8 แสนล้านบาท   เพื่อหาเงินให้พอใช้หนี้ จึงต้องเพิ่มเครื่องบิน ซึ่งส่วนหนึ่งถูกโละขายทิ้งไปแล้ว  อีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องบินเช่า ที่จะทยอยหมดอายุสัญญาเช่า 

การซื้อเครื่องบินใหม่ของการบินไทย จึงมีเหตุผลที่อธิบายได้

การบินไทยยุคนี้ อยู่ใต้แผนฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563   คณะผู้บริหารแผน มีอำนาจการบริหารงาน  ตามแผนฯ ที่อยู่ในอำนาจศาลล้มละลาย โดยมีคณะกรรมการเจ้าหนี้ ควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง 

การตัดสินใจของ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  เมื่อปี 2563ที่จะไม่อุ้มการบินไทยต่อไป ให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนหุ้นจาก 51.03 % เหลือไม่ถึง 50 % และให้การบินไทยเข้าสู่ระบวนการฟื้นฟูกิจการ   เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการบินไทย 

การเข้าแผนฟื้นฟูฯ ทำให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของนักการเมือง ข้าราชการ และผู้บริหารบางราย ที่สลับกันเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินการบินไทย  จนสิ้นสภาพมาแล้ว 2  ครั้ง 2 ครา

การซื้อเครื่องบินของการบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟูฯ สุริยะ ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะไม่มีใครหาประโยชน์เหมือนยุคการบินไทย ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ  คณะกรรมการเจ้าหนี้ คงไม่ยอมให้เกิดการทุจริต การทำอะไรที่นอกเหนือจากแผน เพราะจะกระทบกับการชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้ 

การบินไทย ควรจะรีบซื้อเครื่องบินให้ครบตามแผนฯ ก่อนที่จะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ในปีนี้  เพราะถ้าออกจากแผนฯ เมื่อไร แม้จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว แต่รัฐบาลยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีโอกาสที่จะถูกล้วงลูก แทรกแซงกิจการได้ แม้กระทั่ง เอากลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก  ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงกว่าการซื้อเครื่องบินใหม่ครั้งนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์