MOU ไทย-กัมพูชา 2544 มรดกทักษิณ • ดร.เอ้ ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ เต็งหนึ่งซีอีโอ ปตท.• ถกงบฯ ตบทรัพย์ ระวังติดบ่วง รธน.มาตรา 144

4 ม.ค. 2567 - 09:04

  • MOU ไทย-กัมพูชา 2544 มรดกทักษิณ ที่ต้องกลับมาเจรจากันอีกครั้งยุครัฐบาลเพื่อไทย

  • ทำป้ายชื่อหน้าห้องทำงานได้รอได้ ดร.เอ้ ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ เต็งหนึ่งซีอีโอ ปตท.

  • ถกงบประมาณ‘ตบทรัพย์’ 2567 ระวังติดบ่วง รธน. มาตรา 144

DEEP-SPACE-economy-thai-cambodia-ptt-politics-sea-SPACEBAR-Hero.jpg

MOU ไทย-กัมพูชา 2544 มรดกทักษิณ

ระหว่างการประชุมพิจารณาร่างงบประมาณฯ ของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 มกราคม นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ชี้แจงตอนหนึ่งว่า จะนำเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ OCA ( Overlapping Claims Area) ไทย - กัมพูชา ขึ้นมาคุยกับ พล.อ. ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่จะมาเยือนประเทศไทย วันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

อ่าวไทยกว้างที่สุด  208 ไมล์ทะเล เมื่อประเทศที่อยู่รอบๆอ่าวไทย ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ จึงมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลทับกัน  คือ พื้นที่ทับซ้อนไทย มาเลเซีย พื้นที่ทับซ้อนไทยเวียดนาม และพื้นที่ทับซ้อนไทย กัมพูชา  26,000 ตารางกิโลเมตร 

ในน้ำถ้ามีแต่ปลา พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลก็คุยกันง่าย  ดังเช่น พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย เวียดนาม ที่ใช้เวลาเจรจากันไม่นาน ก็ตกลงกันได้ เพราะเวียดนามให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้มากกว่า 

แต่ลึกลงไปใต้น้ำถ้ามีแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติด้วย พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลก็จะเป็นเรื่องผลประโยชน์มหาศาล เป็นข้อพิพาทที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม กว่าจะหาข้อยุติ ใช้เวลานานมากกว่า 10 ปี คือ พื้นทับซ้อนไทย -มาเลเซีย ที่เจรจากันนานถึง 11 ปี ก่อนจะตกลงกันได้ว่า ร่วมกันพัฒนา ขุดก๊าซขึ้นมาขาย แบ่งรายได้กัน ในปี 2522

ไทยกับกัมพูชา ทำเอ็มโอยู 2544  บันทึกอ้างสิทธิในไหล่ทวีปซ้อนกัน สมัยรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร ซึ่งเพิ่งเป็นรัฐบาลได้แค่ 4  เดือน มีการลงนามในเดือนมิถุนายน 2544 โดยสุรเกียรติ์ เสถียรไทย และซก อาน รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายในขณะนั้น 

เอ็มโอยูไทย กัมพูชา 2544 แบ่งพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตรออกเป็น 2  ส่วน คือ 

  1. พื้นที่ 10,000 ตร.กม เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ตรงนี้ ให้เจรจา หาข้อสรุปเรื่องเขตแดนให้ชัดเจน   
  2. พื้นที่ 16,000 ตร. กม ใต้เส้นละติจูดที่11 องศาเหนือลงมา ให้เจรจาตกลงพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมร่วมกัน

เงื่อนไขสำคัญใน เอ็มโอยู 2544 คือ การเจรจาเรื่องเขตแดน และการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมจะต้องทำควบคู่กันไป จะคุยกันแต่เรื่อง ขุดก๊าซขึ้นมาขาย โดยไม่สนใจว่า จะมีผลกระทบต่อเส้นเขตแดนไม่ได้

เอ็มโอยู 2544 นี้ จะเรียกว่า เป็นมรดกตกทอดที่ทักษิณทำไว้  และกำลังจะได้รับการสานต่อในรัฐบาลนี้ก็ได้ 

ผ่านไป 22 ปี เอ็มโอยู 2544  ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่ว่าไม่มีความคืบหน้าเลย เพราะปัญหาการเมืองภายในของทั้งไทยและกัมพูชา บางครั้งก็มีความขัดแย้ง กระทบกระทั่งกัน  โดยเฉพาะในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับประกาศยกเลิกเอ็มโอยู เพราะฮุน  เซน แต่งตั้งทักษิณให้เป็นที่ปรึกษา แต่ไม่มีผล เพราะไทยเลิกฝ่ายเดียวไม่ได้ กัมพูชาต้องเลิกด้วย

สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามจากฝ่ายไทยที่จะเจรจาเรื่องนี้อยู่ 2-3 ครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ครั้งที่ นายกเศรษฐาฯ ไปเยือนกัมพูชา เมื่อเดือนกันยายน นายกฯ กัมพูชา ส่งสัญญาณว่า อยากเจรจาเรื่องนี้ แต่ไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียด  คราวนี้  ฮุน มาเน็ต มาเยี่ยม หากฝ่ายไทยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ก็น่าจะมีความคืบหน้าบ้าง มิเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นเรื่องพูดกันไป พูดกันมา  เหมือนโยบายหลายๆเรื่องของรัฐบาล

อุปสรรคใหญ่ของการเจรจาคือ ปัญหาเรื่องเขตแดนทางทะเล ซึ่งหมายถึง การได้ หรือเสียดินแดนของแต่ละประเทศ จึงมีข้อเสนอก่อนหน้านี้จากรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่า ให้คุยกันเฉพาะเรื่อง  ผลประโยชน์พลังงาน การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมร่วมกันเท่านั้น  แบบเดียวกับที่เจรจากับมาเลเซียที่ตั้งเป็นเขตพัฒนาร่วม หรือ JDA ไม่ต้องคุยเรื่องเขตแดน มิฉะนั้น จะคุยกันไม่จบเหมือนที่ผ่านมา เพราะไม่มีใครยอมเสียดินแดนแน่

แต่จะทำอย่างที่ รมต. พลังงานว่า ต้องปลดล็อค เอ็มโอยู 2544 ที่ไม่ให้คุยแต่เรื่อง พัฒนาร่วมอย่างเดียว ต้องคุยเรื่องเขตแดนพร้อมกันไปด้วย

ประเทศไทยให้สิทธิการสำรวจและพัฒนา หาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนแก่เอกชนไปแล้ว เมื่อปี 2511 โดยเชฟรอน เป็นรายใหญ่ที่ได้รับสัมปทานไป 9 แปลง จากทั้งหมด 11 แปลง  ปตท.สผ. ได้ไป 2 แปลง เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นในปี 2513  รัฐบาลไทยในตอนนั้น ส่งระงับการสำรวจไว้ก่อน จนถึงบัดนี้  

โดยที่สิทธิของผู้ได้รับสัมปทานยังคงอยู่เหมือนเดิม ยกเว้น ไทย กับกัมพูชาตกลงกันได้ว่าจะพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และมีข้อสรุปเรื่องการแบ่งผลผลิตระหว่างไทยกับกัมพูชา  ซึ่งอาจจะต้องกลับมาดูว่า จะยังคงสัมปทานเดิมไว้ไหม เพราะเป็นสัมปทานของรัฐบาลไทยไม่ใช่ของกัมพูชา

ดร.เอ้ 'คงกระพัน อินทรแจ้ง' เต็งหนึ่งซีอีโอ ปตท.

ตำแหน่ง ‘เก้าอี้ใหญ่’ ซีอีโอของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นั้น เชื่อกันว่า คนที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนี้ได้ต้องมี ‘ของ’ และต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เพราะ ปตท.เป็นองค์กรธุรกิจกึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารงานแบบธุรกิจเอกชนเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดของไทย

ซีอีโอของ ปตท. คือคนที่จะต้องเข้ามาบริหารองค์กรธุรกิจที่มีขนาดสินทรัพย์รวมสูงถึง 3.53 ล้านล้านบาท มีมูลค่าตลาด หรือขนาดของมาร์เก็ตแคป ในตลาดหลักทรัพย์ฯ(ณ วันที่ 4 มกราคม2567) สูงกว่า 1.05 ล้านล้านบาท มีรายได้สูงถึงกว่าปีละ 2.36 ล้านล้านบาท และสามารถทำกำไรได้สูงถึงปีละเกือบ 8 หมื่นล้านบาท 

ที่สำคัญเวลานี้ ปตท. กำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของธุรกิจพลังงานจากทิศทางของโลกที่หันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดภาวะโลกร้อน ทำให้ธุรกิจพลังงานฟอสซิลอย่าง ปตท. ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เพราะเหตุนี้ ตำแหน่งซีอีโอของ ปตท.จึงมีความสำคัญ และเป็นที่จับตามองว่า ใครจะก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้นี้ต่อจาก อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  ที่กำลังจะครบวาระ พ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมนี้ จาก ‘แคนดิเดต’ ทั้งหมด 4 คน ที่ล้วนเป็นลูกหม้อของ ปตท.

ตามปกติการสรรหา CEO จะต้องดำเนินการก่อนครบวาระ 6 เดือน โดยผู้เข้าตำแหน่งต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปี มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านธุรกิจพลังงานเป็นที่ประจักษ์ โดยจะต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ และให้กรรมการสรรหาฯสัมภาษณ์ โดยกำหนดไว้ในวันที่ 17 มกราคมนี้

ถึงแม้จะมีผู้สมัครถึง 4 คน แต่คนวงในต่างก็เชื่อกันว่า ดร.เอ้ คงกระพัน อินทรแจ้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ พีทีที โกลบอล เคมีคอลจำกัด (มหาชน) หรือ GC น่าจะนอนมาแบบ ‘แบเบอร์’  เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เหลืออีก 3 คน คือ บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. และ พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. 

ดร.เอ้ คงกระพัน จาก GC นั้นถูกวางตัวไว้ที่จะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ตามโครงสร้างการวางบุคคลากรภายในของ ปตท.มาตั้งแต่แรก เห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารองค์กรภายใน ปตท. นอกจากจะเป็นซีอีโอ ของ GC เขายังเป็นประธานกรรมการของ โกลบอลกรีน เคมีคอล และมีผลงานในการผลักดัน GC ให้สามารถติดอันดับ Fortune Global 500 

ว่ากันว่าเส้นทางการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้เบอร์หนึ่ง ปตท. ของ ดร.เอ้ คงกระพัน ในยามนี้ นั้นสดใสแบบ ‘ไร้รอยต่อ’ ยิ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล เพราะได้รับแรงหนุนทางการเมืองจากทุกสายไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย ที่ดูแลกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นใหญ่อยู่ใน ปตท. รวมถึงสายพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ดูแลกระทรวงพลังงาน

หากมองย้อนกลับไป หลังการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล มีการกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการ ปตท. ถึงแม้จะมีแรงต้านจาก ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท.คนเก่า แต่สุดท้ายก็ต้องยอมลาออก และมีการแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ขึ้นมานั่งในตำแหน่งแทนชั่วคราว

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. ในช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 21ธันวาคม 2566 ประเสริฐ ก็ขอลาออกจาก ตำแหน่งประธาน แต่ยังคงนั่งเป็นกรรมการของ ปตท.ต่อ โดยมีมติแต่งตั้ง ฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือปลัดฉิ่ง อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการอิสระ ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการ ปตท. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ก็มีการแต่งตั้ง พงศธร ทวีสิน และ จตุพร บุรษพัฒน์ ขึ้นมามีอำนาจในเชิงบริหารคล้ายซีอีโอ โดยกึ่งลดอำนาจของ อรรถพล ไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในเองต่างก็ประหลาดใจไปตาม ๆ กัน 

ถึงนาทีนี้คนวงใน ปตท.จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เก้าอี้ใหญ่ของ ปตท.ในยามนี้ หากรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี การสัมภาษณ์เพื่อให้แสดงวิสัยทัศน์ก็คงเป็นเพียงแต่ขั้นตอนตามกระบวนการ แต่ตำแหน่งนี้คงยากจะหลุดจากมือของ ดร.เอ้ คงกระพัน อินทรแจ้ง เป็นแน่แท้

ถกงบฯ ตบทรัพย์ ระวังติดบ่วง รธน. มาตรา 144

ผ่านมาถึงวันที่สองแล้ว สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท นับว่าไม่จืดชืด เพราะต่างก็ทำการบ้านมาดี โดยเฉพาะผู้นำฝ่ายค้านฯ ป้ายแดง ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ จัดว่าอภิปรายได้ครบเครื่องคนหนึ่ง

ไม่นับมือเก่าจากประชาธิปัตย์อย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ยังรักษามาตรฐานฝ่ายค้านมืออาชีพเอาไว้ได้ นอกจากเรียกเสียงประท้วงจากสส.เพื่อไทยแล้ว ยังทำให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นั่งไม่ติดต้องลุกขึ้นชี้แจงเรื่อง ‘คุกทิพย์’

การอภิปรายงบประมาณฉบับสารพัดฉายา ต้องว่ากันไปให้จบในช่วงกลางดึกคืนวันศุกร์ที่ 5 มกราคมนี้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ก่อนการอภิปรายจะเริ่มขึ้น คือเรื่องการ ‘ตบทรัพย์’ ระหว่างการพิจารณางบประมาณในแต่ละปี

โดยประธานฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าวว่า ยุคนี้ไม่มีแล้ว เพราะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ และประชาชนก็ตรวจสอบอยู่ 

‘เห็นหรือไม่ว่าใครที่ทำอะไรไม่ดี ไม่ว่าจะเรียกทรัพย์ ตบทรัพย์ หรือทำอะไรไม่ดีก็จะไม่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นสส.อีกในรอบต่อไป’

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นอีกคนที่ถูกถามและปฏิเสธว่า ไม่เคยทราบเรื่องดังกล่าว เชื่อว่าสส.จะมีศักดิ์ศรี และเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถรับได้ รวมถึงสส.รู้หน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำชับใดๆ 

เรื่องสส.ตบทรัพย์ระหว่างการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เคยเกิดขึ้นในสภาชุดที่แล้ว จนล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินลงโทษอดีตสส.คนดังกล่าว โดยสั่งจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานเรียกรับเงินอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อเเลกกับการผ่านงบประมาณของหน่วยงาน

ทั้งนี้ การเรียกรับเงินมักจะเกิดขึ้นในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ โดยรายของอดีตสส.คนนี้ ทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 และมีการเรียกรับเงินจากส่วนราชการจำนวนดังกล่าว ก่อนสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดใหญ่

รัฐธรรมนูญไทยในอดีต พยายามออกแบบไม่ให้ สส.เข้ามาแปรญัตติเพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยเริ่มตั้งแต่การให้ยกเลิกงบพัฒนาสส.จังหวัดละ 25 ล้านบาท ส่วนสส.ที่เป็นกรรมาธิการงบประมาณ จะได้เพิ่มอีกเท่าตัว คือ 50 ล้านบาทต่อปี 

โดยงบดังกล่าวนำมาจากการปรับลดงบประมาณส่วนราชการต่างๆ นำมากองไว้ตรงกลางแล้วจัดสรรให้กับสส. ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้สส.แข่งขันกันปรับลดงบส่วนราชการจากแรงจูงใจที่ว่า

กระทั่งมาถึงรัฐธรรมนูญปี60 ที่เรียกกันว่าฉบับปราบโกง ได้วางกลไกไว้ในมาตรา 144 ห้ามสส. , สว.หรือคณะกรรมาธิการ กระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ตนเองมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ‘จะกระทำมิได้’

ที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ แม้ไม่เกี่ยวกับการตบทรัพย์ที่พูดถึงกัน แต่เป็นการห้ามแปรญัตติ เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ ยกเว้นการแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายการที่เปิดให้ทำได้

ส่วนหากมีการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ ให้ สส.หรือ สว.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืน ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล และถ้าผู้กระทำเป็นสส.หรือสว.ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพลง พร้อมกับเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นตลอดไป

แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้กระทำหรืออนุมัติให้กระทำหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย

ที่สำคัญคณะรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุแห่งการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ไม่สามารถอยู่ทำหน้าที่รักษาการได้

ที่ว่ามาก็เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก เพราะกลไกในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณที่ได้ผลในระดับหนึ่ง ซึ่งเห็นได้จากความพยายามยื่นขอแก้ไขมาตรานี้ในสภาชุดที่แล้ว 

แต่บังเอิญเป็นการยื่นขอแก้ไขแบบมัดรวมไว้ในร่างเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ด้วย จึงทำให้ร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวถูกตีตก และทำให้ มาตรา 144 อยู่ยงคงกระพันมาได้ถึงวันนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์