รถไฟความเร็วสูงอีอีซี จะยื้อกันไปถึงไหน

29 ม.ค. 2567 - 07:16

  • รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ผ่านไป 5 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า

  • ซีพี ผู้ชนะการประมูล ก็ยังไม่ลงมือดำเนินการ แต่ขอแก้สัญญา

  • จับตากรณีบีโอไม่ต่อบัตรส่งเสริมการลงทุน จะนำไปเป็นข้ออ้างยื้อการก่อสร้างหรือไม่

DEEP-SPACE-economy-thai-high-speed-electric-train-SPACEBAR-Hero.jpg

กลุ่มซีพี ชนะการประมูล โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือรถไฟความเร็วสูงอีอีซี เซ็นสัญญากับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  วันที่ 24 ตุลาคม 2562  ตามแผน รฟท. จะใช้เวลา 2 ปี ส่งมอบพื้นที่  ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีตั้งแต่ปี 2564-2569  เปิดใช้งานปี 2570

ซีพี ตั้งบริษัท เอเชีย เอราวัน ขึ้นมาทำโครงการนี้ โดยมีศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธานบริษัท

ผ่านไปแล้ว 4 ปี กว่า  การก่อสร้างยังไม่ได้เริ่มต้นเลย และยังไม่รู้ว่า จะลงมือกันได้เมื่อไร กลุ่มซีพีจะทำโครงการต่อไปหรือไม่ 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ไม่ต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนให้ เพราะต่อมาแล้ว 2 ครั้ง ไม่สร้างสักที จึงไม่ต่อครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายให้

การไม่ได้ต่อบีโอไอ ไม่มีผลกระทบกับโครงการ การได้บีโอไอ คือ ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี หลัก ๆ คือ งดเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร งดเว้นภาษีเงินได้ ซึ่งจะมีผลเมื่อมีการก่อสร้าง ต้องนำเข้าเครื่องจักร เมื่อสร้างเสร็จเปิดบริการ มีรายได้ มีกำไร ไม่ต้องเสียภาษี 

เมื่อกลุ่มซีพีกอดสัญญาไว้เฉย ๆ  ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างเลย การได้หรือไม่ได้บีโอไอ จึงไม่มีผลอะไร ถ้าตัดสินใจว่าจะสร้างเมื่อไร ขอใหม่ก็ได้ หรือขอสิทธิประโยชน์ ภายใต้กฎหมายอีอีซี ซึ่งได้เยอะกว่า ก็ได้

แต่การที่บีโอไอ ไม่ต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุน จะเป็นเงื่อนไขให้ ซีพี **‘ยื้อ’**โครงการต่อไปได้อีก เพราะการได้บีโอไอ เป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งที่ รฟท. จะออก หนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP :Notice to Proceed) และการนับระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญา จะเริ่มนับหนึ่งทันที่ที รฟท.ออก NTP

ถ้า รฟท.​ ยังออก NTP ไม่ได้ เพราะโครงการไม่ได้บีโอไอ การก่อสร้างก็จะถูกยื้อออกไป โดยไม่ถือว่า ซีพีผิดสัญญา

เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งในการออก NTP คือ รฟท. ต้องส่งมอบพื้นที่ครบ 100% 

ผู้บริหาร รฟท. ยืนยันตั้งแต่ปี 2565 ว่า พร้อมส่งมอบพื้นที่ทั้งพื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 150 ไร่ รอบ ๆ สถานีมักกะสัน แต่จนแล้วจนรอด จนถึงวันนี้ ไม่ปรากฏว่า มีการส่งมอบพื้นที่แต่อย่างใด 

สาเหตุแท้จริงที่ซีพี หรือเอเชียเอราวัน ไม่ยอมลงมือก่อสร้างสักที คือ ต้องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน  ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญคือ 

1.เงินที่ต้องจ่ายให้รฟท. เป็นค่ากรรมสิทธิ์ รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟ3 สนามบิน จำนวน 10,671 ล้านบาท ต้องจ่ายหมดงวดเดียว ในเดือนตุลาคม ปี 2564 หลังจากรับโอนแอร์ พอร์ตลิงค์ แต่เอเชีย เอราวัน ขอผ่อนจ่าย เป็น 7 งวด 7 ปี  งวดที่1- 6 งวดละ 1,067 ล้านบาท งวดที่ 7 จำนวน 5,238  ล้านบาท โดยอ้างว่า โควิดทำให้ผู้โดยสารลดลง จ่ายหมดก้อนเดียวไม่ไหว

2.เงินที่รัฐ คือ รฟท. ต้องอุดหนุนเอเชีย เอราวัน ตามสัญญา จ่ายในปีที่10 คือ หลังก่อสร้างเสร็จและปิดบริการ 1 ปี จ่ายทีเดียว 133,474  ล้านบาท เอเชีย เอราวัน ขอให้จ่ายเร็วขึ้น คือ สร้างไปจ่ายไป ทุกปี เริ่มตั้งแต่ปีที่สองของการก่อสร้าง

การเจรจาขอแก้ไขสัญญามีขึ้นสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ตั้งแต่กลางปี 2565 แต่รัฐบาลในตอนนั้น ยอมให้แก้ข้อเดียวคือ เงินค่าแอร์พอร์ต ลิงค์ ให้ผ่อนจ่ายได้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ด้วย ประมาณ 1,060 ล้านบาท ครม. ในตอนนั้น เห็นชอบในหลักการ

ส่วนเงินอุดหนุนเอเชีย เอราวัน  ที่จ่ายเมื่อเสร็จงาน เอเชีย เอราวันขอให้จ่ายเร็วขึ้น สร้างไปจ่ายไป  รัฐบาลไม่โอเค 

ข้อเสนอแก้ไขสัญญาของเอเชีย เอราวัน เป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน การที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุน เมื่อการก่อสร้างเสร็จ และเปิดบริการแล้ว เป็นการรับประกันความเสี่ยงว่า เอกชนที่ได้สัมปทานไปจะต้องสร้างให้เสร็จ และเปิดบริการตามกำหนดจึงจะได้เงินอุดหนุน  ถ้าเป็นการจ่ายแบบสร้างไปจ่ายไป รัฐมีความเสี่ยง ที่การก่อสร้างจะล่าช้า หรือสร้างไม่เสร็จ

ที่สำคัญคือ ผิดหลักการของ PPP ที่เอกชนต้องรับผิดชอบทุกอย่าง รวมทั้งการจัดหาสินเชื่อ ไม่ใช่ให้รัฐจ่ายตามงวดงาน อันนั้นเป็นการจ้างผู้รับเหมา

แต่ซีพี หรือเอเชีย เอราวันจะได้ประโยชน์ คือ กู้เงินมาก่อสร้างน้อยลง เพราะสร้างไปเบิกจากรัฐเป็นงวด ๆ ได้ ประหยัดต้นทุนการเงินได้มหาศาล

การประชุมร่วมระหว่างการรถไฟฯ เลขาฯสำนักงาน อีอีซี และตัวแทนเอเชีย เอราวัน เมื่อวันที่ 13  ธค ปีที่แล้ว มีข้อสรุปว่า จะมีการแก้ไขสัญญา ในส่วนเงินค่าแอร์พอร์ตลิงค์ ให้เอเชีย เอราวัน ผ่อนจ่าย 7 งวดได้  แต่ไม่มีการพูดถึง เงินอุดหนุน 133,474ล้านบาท ที่เอเชีย เอราวัน ขอแก้ไขสัญญาจาก จ่ายงวดเดียว เมื่อเสร็จงาน เป็นแบบ สร้างไปจ่ายไป

เดิมคาดว่า จะส่งสัญญาที่แก้ไข ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ ในเดือนมกราคม ก่อนส่งให้ ครม. อนุมัติ ซึ่งคาดว่า จะเป็นเดือนพฤษภาคม

ต้องจับตาดูว่า การที่บีโอไอ ไม่ต่อบัตรส่งเสริมการลงทุนให้  เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ซีพี ยื้อการก่อสร้างออกไปได้อีก จนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการหรือไม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์