คำสั่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกคำร้องของบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป ให้ศาลสั่งระงับการทำหน้าที่ กรรมการ กสทช.ของ พิรงรอง รามสูต ทำให้แผนการยึด กสทช.ของกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม ต้องล้มคว่ำพลิกความคาดหมาย
การยกคำร้องของทรูทำให้ ‘ดุลกำลัง’ ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจกาโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 คน ยังเหมือนเดิมคือ 3 ต่อ 4
กสทช.สายบ้านป่ารอยต่อ มี 3 เสียง ได้แก่ ‘นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ ประธาน กสทช , ‘ต่อพงศ์ เสลานนท์’ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ ‘พลตำรวจเอก ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร’ กสทช.ด้านกฎหมาย
ที่เรียกว่า กสทช.สายบ้านป่ารอยต่อ เพราะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเครือข่ายบ้านป่ารอยต่อของ
‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ และน้องชาย ‘พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ โดย นพ. สรณ เป็นศัลยแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็น ‘หมอประจำตัว’ พลเอกประวิตร ซี่งทำให้เขาได้เข้ามาเป็นกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แม้ว่าไม่เคยทำงานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม หรือการคุ้มครองผู้บริโภคเลยก็ตาม
กสทช. ที่ไม่ใช่สายบ้านป่ารอยต่อ มี 4 คน คือ ศ.กิตติคุณ **‘ดร.พิรงรอง รามสูต’**กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์, ‘รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย’ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์, ‘พลอากาศโท ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ’ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง และ ‘รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม
กสทช. ทั้งสองกลุ่มนี้ โหวตสวนทางกันในมติที่สำคัญ ๆ มาตลอดระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช. 5 คนแรก เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ทำให้ กสทช. เป็นองค์กรแห่งความขัดแย้งระหว่างบอร์ด 2 กลุ่ม และระหว่างบอร์ดสายที่ไม่ใช่บ้านป่ารอยต่อ กับรักษาการเลขาธิการ กสทช. ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล
โดยประธาน กสทช. เองมีบทบาทในการ ‘สร้างความขัดแย้ง’ นี้ด้วย เพราะแทนที่จะวางตัวเป็นกลางใช้เหตุผลในการตัดสินใจ กลับกระโดดลงไปเป็นคู่ความขัดแย้งเสียเอง
เสียง กสทช. สายบ้านป่ารอยต่อที่มีเพียง 3 เสียง ต้องพ่ายแพ้ต่อ กสทช. 4 เสียง ที่ไม่ได้อยู่ในอาณัติบ้านป่ารอยต่อในเรื่องสำคัญ ๆ ตัวอย่างเช่น
การลงมติไม่เห็นด้วยกับ ‘โครงการเทเลเฮลท์’ ซึ่งว่ากันว่าเป็นโครงการของ รพ. รามาธิบดี ที่ส่งผ่านมาทาง นพ.สรณ ขอใช้งบประมาณ 3,800 ล้านบาท ของกองทุน USO ในการทำระบบการแพทย์ทางไกล
พิรงรอง, ศุภัช, ธนพันธ์ และ สมภพ ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นโครงการซื้อระบบไอที ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์กองทุน USO ที่ต้องใช้เงินเพื่อการโทรคมนาคม โครงการนี้จึงตกไป
การแต่งตั้งเลขาธิการกสทช. คนใหม่โดย นพ. สรณ เสนอชื่อ รักษาการเลขาธิการ กสทช.ไตรรัตน์ เป็นเลขาฯ แต่ กสทช. ทั้ง 4 คัดค้าน เพราะกระบวนการสรรหาเลขาฯ ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ประธานรวบอำนาจการสรรหา และเสนอชื่อเลขาธิการกสทช.ไว้กับตัวเพียงคนเดียว ไม่ยอมให้ กสทช.ที่เหลือมีส่วนร่วม
การสั่งให้รักษาการเลขาธิการไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เพราะนำเงินกองทุน กทปส. 600 ล้าน ไปให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แต่ กกท. ไปทำสัญญากับทรูวิชั่น ให้ทรูวิชั่นถ่ายทอดสดทั้ง 64 แมตช์ จนทำให้สมาคมทีวีดิจิทัลร้องเรียนกับ กสทช. นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง และกสทช.ทั้ง 4 สั่งให้ ไตรรัตน์หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ กสทช. บ้านป่ารอยต่อ 3 คนให้ทำหน้าที่ต่อ
ก่อนหน้าวันที่ 22 ตุลาคม 2565 มีกสทช. เพียง 5 คน จาก 7 คน คือ นพ.สรณ, ต่อศักดิ์, พิรงรอง, พลอากาศโทธนพันธ์ และ ดร. ศุภัช ยังไม่มี กสทช. ด้านกฎหมายและโทรคมนาคม
วันที่ 20 ตุลาคม 2565 กสทช. ประชุมเพื่อลงมติในเรื่อง ‘ทรูควบรวมดีแทค’ ว่า กสทช.มีอำนาจให้ความเห็นชอบ หรือมีแค่หน้าที่รับทราบการควบรวม
กสทช. 2 คน คือนพ. สรณ และต่อศักดิ์เห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจเห็นชอบ ทำได้แค่รับทราบ
กสทช. 2 คน คือ พิรงรอง และศุภัช เห็นว่า กสทช. มีอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไม่ใช่แค่รับทราบ
กสทช. 1 คน คือ พลอากาศโท ธนพันธุ์ งดออกเสียง
เมื่อคะแนนเสียงระว่าง ฝ่ายที่เห็นว่า กสทช. มีอำนาจให้หรือไม่ให้ทรูควบรวมดีแทค กับฝ่ายที่เห็นว่าไม่มีอำนาจเท่ากัน 2 ต่อ 2
นพ. สรณ จึงทำในสิ่งที่ใครก็คิดไม่ถึง คือ ‘ขอเบิ้ล’ ใช้อำนาจประธานออกเสียงซ้ำเป็นครั้งที่สอง ให้ กสทช. มีหน้าที่แค่รับทราบรายงาน ทำให้การควบรวมทรูดีแทคผ่านฉลุย ด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 ต่อ 1
อย่างไรก็ตาม ‘มูลนิธิผู้บริโภค’ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติดังกล่าว เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้อง แต่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้รับฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ในศาลปกครองชั้นต้น
การลงคะแนน 2 ครั้ง หรือ ‘ดับเบิ้ลโหวต’ ของ นพ.สรณ ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งในการลงมติ เรื่อง กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 คราวนี้กสทช. มี 6 คน คือ
มี กสทช. ด้านกฎหมาย พลตำรวจโท ณัฐธร ที่เคยเป็นหน้าห้องพลตำรวจเอกพัชรวาท เพิ่มเข้ามา ทำให้ กสทช. สายป่ารอยต่อมี 3 คนเท่ากับกสทช.ที่ไม่ได้อยู่ใต้ชายคาบ้านป่ารอยต่อ
ผลการลงมติ กสทช. สายบ้านป่ารอยต่อเห็นว่าการเลือกเลขาฯ กสทช.เป็นอำนาจของประธานคนเดียว แต่กสทช.อีก 3 คนเห็นว่ากสทช. ทุกคนต้องมีส่วนรวมในการสรรหาคัดเลือก เลขาธิการ กสทช.
เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน 3 ต่อ 3 นพ.สรณจึง ‘ขอเบิ้ล’ อีกครั้งลงคะแนนซ้ำเป็นครั้งที่สองทำให้ กสทช. สายป่ารอยต่อชนะไป 4 ต่อ 3 โดยประธานออกเสียง 2 รอบ
อย่างไรก็ตามหลังเดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา นพ.สรณไม่สามารถ ‘ขอเบิ้ล’ โหวตสองครั้งได้แล้วเพราะมีกสทช. ครบ 7 คน คือมี ‘รศ. สมภพ’ เข้ามาเป็นกสทช.ด้านโทรคมนาคม และมักจะมีความเห็นลงมติไปในทางเดียวกันกับ กสทช. นอกชายคาบ้านป่ารอยต่ออีก 3 คน ทำให้มี 4 เสียง มากกว่า กสทช. สายบ้านป่ารอยต่อที่มีเพียง 3 เสียง
สมมติว่านพ.สรณ จะขอเบิ้ล ก็ทำได้แค่เสมอกัน 4 ต่อ 4
จะเห็นได้จากการลงมติวาระการพิจารณาโครงการ เทเลเฮลท์ และ การเสนอชื่อไตรรัตน์ เป็น เลขาธิการ กสทช.นั้น กสทช.สายบ้านป่ารอยต่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 3
คำร้องของ ‘ทรู ดิจิทัล’ ให้ศาลอาญาสั่งให้พิรงรองหยุดปฏิบัติหน้าที่ กสทช.หากศาลเห็นด้วยให้ตามที่ทรูต้องการเท่ากับว่า ‘พิรงรองต้องหลุดจาก กสทช.’ ไปโดยปริยาย เพราะเหลือวาระทำงานเพียง 4 ปี ในขณะที่คดีที่ทรูฟ้องพิรงรองกว่าจะสิ้นสุด 3 ศาล ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี
หากศาลให้ตามที่ทรูขอ เสียงในบอร์ด กสทช. จะ ‘พลิก’ ทันที กสทช.สายป่ารอยต่อที่เคยเป็นรอง เพราะมีแค่ 3 เสียง จะมีเสียงเท่ากับ กสทช. อีกสายหนึ่งที่เสียงหายไปจาก 4 เหลือ 3 เพราะพิรงรองถูกทรู ‘อุ้มหาย’ ไปจากห้องประชุม เปิดโอกาสให้นพ.สรณ ‘ขอเบิ้ล’ โหวตซ้ำได้ ในเรื่องที่ต้องการผลักดัน
พิรงรอง ถูกทรู ดิจิทัล ฟ้องว่า ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ ทำให้ทรู ดิจิทัลซึ่งเป็นเจ้าของทรูไอดี เสียหายในกรณีที่มีผู้ร้องเรียน กสทช.ว่า แพลตฟอร์ม ทรู ไอดีบังคับดูโฆษณาทุกครั้งที่กดรีโมทเปลี่ยนช่อง พิรงรอง เสนอให้ สนง. เลขาธิการ กสทช.ทำหนังสือเวียนไปถึงผู้ประกอบการแพร่ภาพ ทุกแพลตฟอร์มระมัดระวัง การนำรายการของผู้ประกอบการโอทีทีไปออกอากาศว่าอาจผิดกฎ Must Carry
ทรู ดิจิทัล เห็นว่าหนังสือดังกล่าวทำให้บริษัทเสียหายถูกเข้าใจผิดว่าให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงฟ้องพิรงรอง ต่อศาลอาญาแทนที่จะฟ้องศาลปกครอง ดังเช่นข้อพิพาทอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับ กสทช.
สารี อ๋องสมหวัง แห่งสภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค และสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกสทช.มีความเห็นว่า เป้าหมายที่แท้จริงของ ทรู คือต้องการ ‘ปิดปาก’ พิรงรอง ไม่ให้ทำหน้าที่กสทช. ต่อไป
หลังศาลอาญารับฟ้อง ทรู ดิจิทัล ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลอาญา มีคำสั่งให้พิรงรอง หยุดปฎิบัติหน้าที่จนกว่าคดีจะสิ้นสุดเพราะเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากเป็นคู่ความกัน
แต่ศาล ฯ เห็นว่า พิรงรองไม่ได้มีพฤติกรรม ตามที่ทรูกล่าวหา จึงยกคำร้องของทรู