สภาฯ ใหม่ 10 ปีแล้ว ยังไม่เป็น"สัปปายะสถาน"

22 ก.พ. 2567 - 08:42

  • แก้ไขสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านไป 3,900 กว่าวัน

  • เรื่องฟ้องร้องอยู่ในศาลอีกหลายคดี

  • ร้องสอบจรรยาบรรณวิศวกรที่ร่วมกันทำหน้าที่การก่อสร้าง

economy-thai-parliament-water-leak-SPACEBAR-Hero.jpg

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่แยกเกียกกาย ถูกเปิดใช้งานมาตั้งแต่สภาชุดที่ 25 โดยเปิดแบบเต็มรูปในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 แต่เป็นการเปิดใช้งานแบบสร้างไปอยู่ไป จึงพบกับสาระพัดอุปสรรค มีทั้งน้ำซึม ฝ้าเพดานพัง หลังคารั่ว ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตมากมาย

แม้จะได้ชื่อว่า "สัปปายะสภาสถาน" แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สภาวะ “สัปปายะ” ซึ่งหมายถึงอยู่สบาย สงบ เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ยังไม่เกิดขึ้นกับสภาแห่งนี้ มีแต่เรื่องราวฉาวโฉ่จากการก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบ ต้องแก้ไขสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า ขอขยายเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้ง จากกำหนดแล้วเสร็จใน 900 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2556 - 24 พฤศจิกายน 2558 

แต่จนถึงวันนี้ผ่านไป 3,900 กว่าวัน การก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ และมีแนวโน้มจะต้องทอดเวลาออกไปอีกเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่สามารถส่งมอบงานได้

ทั้งยังมีเรื่องฟ้องร้องอยู่ในศาลอีกหลายคดี ทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และการร้องเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องอีกเป็นสิบ ๆ เรื่อง ไม่นับที่สภาชุดที่แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ แต่ทุกอย่างก็กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง

จนล่าสุดวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร ที่ตรวจสอบปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มาตลอด ต้องเบนเข็มไปยื่นหนังสือถึงนายกสภาวิศกรแทน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อขอให้สอบจรรยาบรรณวิศวกรที่ร่วมกันทำหน้าที่การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

เพราะเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อสร้างอาคารของรัฐ มีการให้ต่อเวลาได้ยาวนานที่สุด มีการใช้วัสดุก่อสร้างไม่ตรงตามรูปแบบและรายการมากที่สุด เพื่อให้สภาวิศวกรได้รวมรวมเป็นกรณีศึกษา เป็นบทเรียนมิให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีกในโครงการก่อสร้างของรัฐ

โดยเสนอให้สภาวิศวกรตั้งกรรมการศึกษา เอากรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นกรณีศึกษา พร้อมแนบประเด็นเบื้องต้นที่ควรศึกษามาให้ 7 ข้อ ประกอบด้วย

1.การก่อสร้างที่ใช้เวลามากกว่าสัญญาหลักถึงกว่า 4 เท่า ปัญหาเกิดจากอะไร และควรมีมาตรการป้องกันอย่างไร

2.การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ให้ผู้รับจ้างโครงการของรัฐแจ้งอุปสรรคการก่อสร้างสืบเนื่องจากการระบาดโควิด- 19 เพื่อให้ผู้ว่าจ้างพิจารณาให้ความช่วยเหลือ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564อีกครั้ง โดยแจ้งว่าสัญญาที่ทำกับรัฐก่อนวันที่ 26 มีนาค ม2563 และยังไม่มีการส่งมอบงานให้ปรับ 0% ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รวม 827 วัน

อีกทั้ง กรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ช่วงวันที่ 26 มีนาคม 2563 - 31 ชันวาคม2563 (ระยะเวลา 280 วัน) อยู่ในช่วงขยายเวลาครั้งที่ 4 กลับเอาจำนวน 280 วัน ที่เสมือนปรับ 0% อยู่แล้ว ไปนับต่อจากวันที่ 30 มิถุนายน2565 กลายเป็นปรับ 0% ถึงวันที่ 7 เมษายน 2566 เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ อีกทั้ง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 นั้น สภาวิศวกรมีความเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างไร

3.โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา เป็นการก่อสร้างที่มีการแก้ไขแบบมากที่สุดโครงการหนึ่งประมาณ 500 รายการ ทำให้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงินเพิ่มเงินลดอย่างมาก มีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตในเรื่องเวลางานเพิ่มจะเพิ่มเงินมากกว่าความเป็นจริง แต่เวลาลดงานจะลดเงินน้อยกว่าความเป็นจริง จึงขอให้สภาวิศวกรตรวจสอบโดยสุ่มตัวอย่าง 2-3 รายการ เช่น กรณีผนังห้องประชุมกรรมาธิการ กรณีดินถม กรณีเปลี่ยนขนาดและชนิดหินปูทางเท้า ฯลฯ เป็นไปตามข้อกล่าวหาหรือไม่

4.มีกรณีการก่อสร้างหลายรายการที่ทำผิดแบบ อาจทำโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ แต่ต่อมาผู้ว่าจ้างตรวจพบจึงมีการแก้ไขสัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับงานที่ทำไปแล้ว กรณีดังกล่าวทำได้หรือไม่ ควรจะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร

5.ในพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างของรัฐทุกฉบับ จะมีข้อกำหนดเรื่องห้ามมีผู้รับเหมาช่วง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง แต่โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาซึ่งมีหลายสัญญาและมีผู้รับจ้างหลายราย พบว่าเกือบทุกสัญญาใช้ผู้รับเหมาช่วงโดยไม่มีการแจ้งผู้ว่าจ้าง เห็นว่าควรมีมาตรการป้องกันและลงโทษอย่างเฉียบขาดหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ มีข้อยืนยันจากวิศวกร 4 คน ซึ่งติดเชื้อ Covid-19 และเป็นผู้ปฏิบัติงานในโครงการก่อสร้างนี้ ได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่ไม่ได้ทำงานกับบริษัทผู้รับจ้าง

6.กรณีผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ส่อว่าอาจเอื้อประโยชน์กับผู้รับจ้าง ทำให้รัฐเสียหาย ควระมีมาตรการอย่างไร

7.ขอให้สภาวิศวกรตรวจสอบจรรยาบรรณของวิศวกรทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทั้งในคณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้รับจ้าง ผู้ควบคุมงาน ที่ปรึกษาบริหารการก่อสร้างและอื่น ๆ ว่าทำหน้าที่ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรหรือไม่ และพิจารณาดำเนินการตามข้อบังคับและข้อกฎหมายต่อไป

ล่าสุดวิลาส ยืนยันว่า นายกสภาวิศวกร ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบแล้ว โดยจะให้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง แต่หากไม่มีความคืบหน้า ก็จะนำไปฟ้องศาลปกครอง พร้อมยื่นเอาผิดวิศวกรเป็นรายคนต่อไป

ทั้งยังย้ำด้วยว่า ประเด็นที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กำลังตั้งกรรมการอิสระจากภายนอกเข้าตรวจสอบ จำนวน 6 เรื่อง ที่มีประเด็นข้อสงสัยนั้น เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะยังมีอีกร้อยกว่าเรื่องที่มีปัญหา แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง

โดยเฉพาะมีบางงาน ที่ชิงตรวจรับงานในวันสุดท้าย เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับในวันที่ 4 กันยายน 2566 แต่กลับมีหนังสือยืนยันการแก้ไขงานทั้งจากผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาโครงการหลังตรวจรับงานไปแล้ว

จากที่ว่ามาตั้งแต่ต้น จึงมองไม่เห็นความเป็น "สัปปายะ" ของสภาแห่งนี้ เพราะคงต้องปรับ ต้องรื้อ อยู่ไปสร้างไปกันอีกนาน ดีไม่ดีอาจมีคนต้องมาติดคุกตอนแก่ หากขืนดันทุรังเซ็นรับงานโดยที่สภายังสร้างไม่เสร็จ 

แล้วอย่างนี้จะให้เรียก "สัปปายะสภาสถาน" กันไหวหรือ?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์