เดือนมิถุนายนปีหน้า หุ้นการบินไทย (TG) จะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง
หุ้น TG ถูกพักการซื้อขาย ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ในช่วงที่การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยมีราคาปิดในวันนั้น 3.32 บาท
การฟื้นฟูกิจการการบินไทย เดินหน้ามาเกือบจะถึงจุดหมายปลายทางแล้ว คือ การเพิ่มทุนจดทะเบียน 25,000 ล้านบาท และการตั้งบอร์ดชุดใหม่
วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา การบินไทยยื่นแบบเปิดเผยข้อมูล เพิ่มทุนจดทะเบียน 25,000 ล้านบาท โดยเสนอ ‘ขายหุ้นเพิ่มทุน’ แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือ PPO (Preferential Public Offering -PPO ) ประมาณ 9,800 ล้านหุ้น ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.54 บาทต่อหุ้น ต่อ ก.ล.ต และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
‘ชาย เอี่ยมศิริ’ ซีอีโอ การบินไทยคาดว่า การจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะเสร็จเรียบร้อยในสิ้นปีนี้ โดยจะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ถ้าเหลือก็จะขายให้พนักงาน และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง
นอกจากนั้นในต้นเดือนพฤศจิกายน จะประชุมเจ้าหนี้ทุกกลุ่ม เพื่อขอให้ ‘แปลงหนี้เป็นทุน’ ซึ่งมีทั้งภาคบังคับ คือเจ้าหนี้กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ รวมทั้งสิ้น 14,862 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.52 บาท และภาคสมัครใจประมาณ 5พันล้านหุ้น ในราคาเดียวกัน
ทั้งการเพิ่มทุนและแปลงหนี้เป็นทุน จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท กลับมาเป็นบวก และล้างหนี้สินประมาณ 4 แสนล้านบาทให้หมดไปทันที ซึ่งเป็น 2 ใน 4 เงื่อนไข ในการออกจากแผนฟื้นฟู
อีก 2 เงื่อนไขคือ มี EBITDA หรือ **‘กำไร’**จากการดำเนินงาน ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ติดต่อกัน 2 ปี กับการ ‘แต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่’ เพื่อทำหน้าที่บริหารแทนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
ซีอีโอ การบินไทยคาดว่าหลังจากได้บอร์ดชุดใหม่ จะทำให้ครบเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อ สามารถขอให้ศาลมีคำสั่งอออกจากแผนฟื้นฟูฯ ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า และหุ้นการบินไทยกลับมาซื้อขายได้ในเดือนมิถุนายน
ใช้เวลาแค่ 4 ปี ในการฟื้นฟูการบินไทย นับตั้งแต่ศาลล้มละลายมีคำสั่ง เห็นขอบแผนฟื้นฟู ฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เร็วกว่ากรอบเวลา 5 ปี ที่กฎหมายกำหนดไว้
การบินไทยขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2563 หนี้สินประมาณ 4 แสนล้านบาท ขาดทุนสะสม 64,900 ล้านบาท
เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2563 ธุรกิจการบินทั่วโลกรวมทั้งการบินไทย ต้องหยุดบิน รายได้ที่เคยหล่อเลี้ยงต่อลมหายใจการบินไทยแบบวันต่อวัน เดือนต่อเดือนหายไปในพริบตา การบินไทยเหมือนถูกตัดท่อออกซิเจน ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
รัฐบาล **‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’**ตัดสินใจไม่อุ้มการบินไทย แต่ให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ และให้พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนหุ้นจาก 51% เหลือ 48 %
พลเอกประยุทธ์ ทาบทาม ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์’ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี การบินไทย ซึ่งเข้ามาพลิกฟื้นการบินไทยให้พ้นจากวิกฤตครั้งแรก เมื่อปี 2552 ให้กลับมากอบกู้การบินไทยอีกรอบหนึ่ง โดยเป็นประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ
นอกจากปิยสวัสดิ์แล้ว ยังมีผู้บริหารแผนอีก 2 คนคือ ‘พรชัย ฐีระเวช’ จากกระทรวงการคลัง และ**‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’** อดีตซีอีโอ ปตท.
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและการพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากวงจร ‘อุบาทว์’ การแทรกแซงของนักการเมือง และข้าราชการ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้การบินไทยเกือบจะล่มสลายมาถึง 2 ครั้ง 2 ครา
ผู้บริหารแผนฯ สามารถดำเนินการได้ตามแผนอย่างคล่องตัว รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร ลดพนักงานลงจาก 21,000 คน เหลือประมาณ 6,000-7,000 คน ลดขนาดฝูงบิน ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นทิ้ง ขายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้ว จัดหาเครื่องบินใหม่ โดยซื้อตรงจากผู้ผลิต ไม่ผ่านนายหน้า
การฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังโควิด ธุรกิจการบินกลับมา เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า การบินไทยมี**‘ศักยภาพ’** ในการสร้างรายได้ ทำกำไรด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องขอให้รัฐบาลอัดฉีดเงินช่วยเหลือเลยแม้แต่บาทเดียว ตราบใดที่นักการเมือง ข้าราชการ ไม่ส่งคนของตัวเอง เข้าไปนั่งกินตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร เพื่อหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง ปล่อยให้การบินไทยบริหารโดยมืออาชีพ
อนาคตของการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ กลางปีหน้า จึงน่าจับตาดูว่า วงจรอุบาทว์จะกลับมาอีกหรือไม่
แม้ปัจจุบัน รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จะถือหุ้น 47% ทำให้การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้าฝ่ายการเมืองต้องการดึงการบินไทยกลับมา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะ ‘ซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอีกเพียง 3%’ เท่านั้น การบินไทยก็จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง
แต่ไม่ต้องทำให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ถ้าฝ่ายการเมืองต้องการยึดการบินไทย แค่หุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ บวกกับหุ้นของกองทุนวายุภักษ์ ก็มีเสียงมากกว่าครึ่งแล้ว การบินไทยก็จะกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอุบาทว์เหมือนเดิม
แม้ว่าที่ผ่านมา ผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง จะบอกว่า กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย จาก 47% เหลือ 30-40% และให้การบินไทยมีการบริหารงานแบบเอกชน
ถ้าฝ่ายการเมืองต้องการยึดการบินไทย ที่ผ่านการฟื้นฟูกิจการจนแข็งแรงดีแล้ว ก็คงไม่มีอะไรมาต้านทาน ขัดขวางได้