รัฐบาลจะกู้เงินต่างประเทศ เพื่อใคร?

19 ก.พ. 2567 - 09:49

  • รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำลังวางแผนออกหุ้นกู้ต่างประเทศล็อตใหญ่

  • หลังจากที่ไทยหยุดการออกบอนด์ลักษณะนี้มากว่า 20 ปี

  • ในสภาวะเช่นนี้ แวดวงตลาดเงิน ตลาดทุนก็ตั้งคำถามมากมายว่า ใช่เวลาหรือไม่

Deep Space-พันธบัตร-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ถุงเท้าหลากสี ดูจะขยันสร้าง ‘คอนเทนต์’ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุน และผู้คนในแวดวงตลาดเงิน-ตลาดทุน ได้อย่างต่อเนื่องจริง ๆ ล่าสุดก็มีแนวคิด ‘เข็มขัดสั้น’ ชนิดคาดไม่ถึงที่จะออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ก่อนหน้านี้ นายกฯ เศรษฐา เคยเปรย ๆ ถึงแนวคิดในเรื่องนี้ ในระหว่างที่กำลัง ‘เอ็นจอย ไลฟ์’ เดินสายบินไปต่างประเทศ และได้มีโอกาสพบกับ ลาร์รี ฟิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BlackRock กองทุนตราสารหนี้รายใหญ่รายหนึ่งของโลก ที่ นิวยอร์ค จึงเอ่ยปากชวนให้เข้ามาลงทุนในพันธบัตร Sustainability Linked Bond ที่จะออกโดยรัฐบาลไทย วงเงินราวหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3.6 หมื่นล้านบาท ในปีงบ 2567 เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายสร้างความยั่งยืน

ถ้าฟังตามแนวคิดนี้ก็ยังพอรับฟังได้ว่า มีเจตนาที่จะออก Green Bond เพื่อสร้างภาพลักษณ์ไทยในสายตาต่างประเทศว่า 
เราให้ความสำคัญกับ แนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ ESG

แต่ไป ๆ มา ๆ ดูเหมือนจะเริ่มมีการขยายแนวคิดไปไกลกว่านั้น เมื่อ รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ออกมาเปิดเผยว่ามีกำหนดจะเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนต่างประเทศที่ฮ่องกง ในเร็ว ๆ นี้เพื่อชี้แจงนักลงทุนเกี่ยวกับการออกพันธบัตรรัฐบาล ในสกุลเงินต่างประเทศ  

มีการขยายความว่า การออกพันธบัตรรัฐบาลฯในสกุลเงินต่างประเทศ มีข้อดี คือ 

เป็นการสร้าง Benchmark ให้กับภาคเอกชนที่ประสงค์จะไปกู้เงินจากต่างประเทศ หลังจากที่ไม่เคยมีการออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศมาแล้วเกือบ 20 ปี หลังยุค‘ต้มยำกุ้ง’  ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่ามีเอกชนรายใดที่ต้องการจะไปออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศ ที่มีต้นทุนสูงกว่าการระดมทุนในการออกหุ้นกู้ในประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่สูงมากคือ 5.25-5.50% ถึงแม้ตอนนี้มีการมองกันว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เริ่มถึงจุดสูงสุดแล้ว และธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED น่าจะเริ่มปรับลดลงอย่างน้อย 3-4 ครั้งในปีนี้ แต่การที่ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังสะท้อนว่า ‘เงินเฟ้อ’ ยังไม่ได้ปรับลดลง 

ทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยลงอาจไม่เกิดขึ้นก่อนกลางปี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ จึงยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 4.28% ต่อปี เปรียบเทียบกับไทยที่ยังอยู่ในระดับ 2.582% ส่วนพันธบัตรรัฐบาลจีนอยู่ 2.43%

คิดง่าย ๆ แบบเร็ว ๆ เครดิตเรทติ้งประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในระดับ BBB+ หากรัฐบาลไทยจะออกพันธบัตร สกุลดอลล่าร์ อัตราดอกเบี้ยก็คงอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 6-7% เทียบกับการออกพันธบัตรในประเทศเหมือนที่ผ่านมา ให้อัตราดอกเบี้ย 3-4% ก็มีนักลงทุนทั้งสถาบัน รายใหญ่ และรายย่อย แย่งกันซื้ออยู่แล้ว คำถามจึงย้อนกลับมาที่เดิมว่า จะไปออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศเพื่ออะไร?

พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. เองก็ยอมรับว่าว่าหากจะเดินหน้าจริง ก็คงต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ รวมถึงขั้นตอนอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์เสนอให้รัฐบาลพิจารณา

ที่ผ่านมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับ 2.5% ทำให้ภาคเอกชนของไทยมีการเร่งระดมทุนเพื่อล็อคต้นทุนดอกเบี้ย โดยการออกหุ้นกู้กันเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหาจากหุ้นกู้ประเภท High Yield Bond ที่ให้ดอกเบี้ยสูงและกลายเป็นปัญหาอยู่จนถึงทุกวันนี้  ในขณะที่ภาครัฐทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง จะมีการระดมทุนโดยการออกพันธบัตร แต่ที่ผ่านมาก็เป็นการระดมทุนจากในประเทศเป็นหลัก เพราะดอกเบี้ยยังต่ำกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างเยอะ 

คาดว่ามูลค่ารวมของพันธบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลัง น่าจะอยู่ในวงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 6.5 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ มีตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศที่ออกโดยรัฐบาลไทยเพียงราว 1.8% โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินกู้จากหน่วยงานระดับพหุภาคี

คนในแวดวงตลาดเงิน ตลาดทุน จึงค่อนข้างจะประหลาดใจกับแนวคิดการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลในช่วงปีนี้ เพราะตามปกติเมื่อทิศทางดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาลง ผู้ออกหุ้นกู้มักจะชะลอการระดมทุน เพราะต้องการรอให้ดอกเบี้ยปรับลงเสียก่อน เพื่อให้ตุ้นทุนทางการเงินลดลง

ที่สำคัญหากจะไปออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศจริง ๆ ก็ต้องตอบสังคมและโน้มน้าวผู้คน โดยเฉพาะฝ่ายค้านให้ได้ว่า ในเมื่อต้นทุนทางการเงินในการออกพันธบัตรรัฐบาลสกุลบาทต่ำกว่า ทำไมรัฐบาลจะต้องดิ้นรนไปกู้ต่างประเทศที่มีต้นทุนดอกเบี้ยแพงกว่าแถมยังมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของค่าเงินอีก

ข้ออ้างที่บอกว่าจะช่วยสร้าง Benchmark หุ้นกู้ภาคเอกชนของไทยในอนาคต ก็ดูจะเป็นเหตุผลที่ ‘เลื่อนลอย’ มาก ๆ เพราะในจังหวะเวลาแบบนี้ คงไม่มีเอกชนรายไหนที่จะเสี่ยงไประดมทุนด้วยวิธีนี้ ในขณะที่ยังมีทางเลือกที่ดีกว่าในประเทศ

คงเพราะเหตุนี้ ยังไม่ทันไรก็เริ่มมีข่าวปล่อยแล้วในบางเพจการเมืองว่า อาจจะมี Hidden Agenda อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่ ถึงขนาดระบุว่ามีการไปแอบทำ ‘ข้อตกลงลับ’ กับเอกชนบางราย ตอนยกคณะไป ประชุม World Economic Forum ให้บริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ในประเทศ ส่วนรัฐบาลจะไปออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศให้ประเทศชาติรับความเสี่ยงไป แถมยังระบุถึงแนวคิด การตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ เฉพาะที่มีเครดิตเรทติ้ง 

ไม่ว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่หนทางที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลควรจะต้องรีบตอบคำถามที่ชวนให้สงสัยเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน

บางทีก่อน รมช.จุลพันธ์ จะบินไปชวนนักลงทุนถึงฮ่องกง ลองฝึกตอบคำถามนักข่าวในเรื่องนี้ให้ได้ก่อนจะดีกว่าไหม...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์