รัฐบาลหวังอาศัยโมเมนตัม จากโครงการแจกเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบาง 14.5ล้านคน เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม ปล่อย Soft Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ได้รับผลกระทบในเดือนนี้ เร่งเจรจากับแบงก์ชาติขอแบ่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู FIDF จากธนาคารพาณิชย์ 0.23% มาใช้ปรับโครงสร้างหนี้เสียในระบบ
หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 12 กันยายน คือการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นเหมือน ‘หลุมดำ’ ที่เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไม่ให้ฟื้นตัวมาตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566
โดยรัฐบาลต้องการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อ ‘บ้านและรถ’ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาโดยไม่ขัดต่อวินัยการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม หรือ Moral Hazard
ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 โดยมีจำนวน 16.32 ล้านล้านบาท หรือราว 89.6% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 2.12 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยในจำนวนนี้มียอด ‘หนี้เสีย’ หรือ NPL รวมกันถึง ราว 1.2 ล้านล้านบาท ที่เป็นตัวสร้างปัญหาที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต้องเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อจนฉุดเศรษฐกิจไทยไม่ให้เติบโตเท่าที่ควร
ตามเป้าหมาย รัฐบาลต้องการแก้หนี้ทั้งระบบ โดยการผลักดันให้เกิดการ**‘ปรับโครงสร้างหนี้’** เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งใน และนอกระบบ โดยวางกรอบเวลาในการผลักดันมาตรการแก้หนี้อออกมาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
ล่าสุด รมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ได้มีการหารือและมีข้อสรุปร่วมกับ ผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทย ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ในการออก ‘พ.ร.ก.แก้กฎหมายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)’ เปิดทางให้ดึงเงินสมทบครึ่งหนึ่งหรือ 0.23% จากที่สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ที่ 0.46% โดยจะดึงเงินส่วนนี้เข้าเป็นแหล่งเงินทุนของภาครัฐชั่วคราวเพื่อใช้แก้ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหา
ปัจจุบันมีเงินที่แบงก์นำต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯเพื่อชำระหนี้ FIDF อยู่ที่ 0.46% ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นเงินต่อปีที่ 70,000 ล้านบาท โดยเงินจะเข้ามาปีละ 2 ครั้ง โดยปัจจุบันหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มียอดคงค้างอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นก.ย. 67 นี้ และมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปีอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท
ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังวางกรอบเอาไว้ จะมีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย โดยจะมีการเจรจา ‘พักอัตราดอกเบี้ยคงค้าง’ เอาไว้ระยะหนึ่ง พร้อมกับ ‘ยึดระยะเวลา’ ชำระหนี้ออกไปให้ยาวขึ้น เพื่อให้การชำระเงิน ‘ค่างวดต่ำลง’ โดยรัฐบาลจะใช้เม็ดเงินที่ดึงมาจากเงินสมทบเข้ากองทุน FIDF มาช่วยชดเชยอัตราดอกเบี้ยคงค้างที่พักไว้ และช่วยชดเชยอัตราดอกเบี้ยใหม่บางส่วน
มีการวางกรอบเอาไว้ในเบื้องต้นว่า กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพในการดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และจักรยานยนต์ ในขณะที่ แบงก์ชาติจะช่วยดูแลในส่วนของ สินเชื่อเพื่อการบริโภค และบัตรเครดิต
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในแนวทางการ ‘ตัดยอดหนี้เสีย NPL’ ของสถาบันการเงินมาให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ AMC ไปช่วยบริหาร โดยประมูลขายหนี้เสียออกมาโดยมีส่วนลด เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์นำไปเจรจา Hair Cut ในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้
แต่หากจะใช้มาตรการนี้จริงก็อาจต้องทำเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มแบบเจาะจง เช่น ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือหนี้รถที่ถือเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ไม่ควรเป็นการใช้แบบทั่วไป เพราะจะเกิดประเด็น ‘อันตรายบนศีลธรรม’ (Moral Hazard)
รายละเอียดทั้งหมดจะพยายามหาข้อสรุปให้ได้ภายในเดือนนี้ เพื่อให้สามารถออกมาตรการดังกล่าวได้ในเดือนพฤศจิกายน โดยในเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลกำลังเตรียมแผนที่จะออกมาตรการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมทางภาคเหนือ โดยจะมีการใช้งบบางส่วนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 ที่มีอยู่ราว 1.83 แสนล้านบาท ที่เดิมกันไว้เพื่อแจกเงินหมื่น มาใช้ในการปล่อย Soft Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธนาคารรัฐ ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม
ถึงอย่างไรในปีนี้ รัฐบาลคงไม่มีการแจกเงินตามโครงการเก่าดิจิทัลวอลเล็ตแน่ ๆ โดยอาจจะไปทยอยจ่ายในปีหน้างวดละ 5 พันบาทแทน