ไทยจะเป็น Hub การเงินโลก เรื่องเพ้อฝันต่อจากดิจิทัลวอลเล็ต

7 ต.ค. 2567 - 09:34

  • แจกเงินยังว่ายาก ใช้เวลาเป็นปี

  • Financial Hub ซับซ้อนกว่าเยอะ

  • แก้หนี้ครัวเรือนให้ได้ก่อน แล้วค่อยเป็นศูนย์การเงินโลกดีไหม

economy-thailand-global-financial-center-SPACEBAR-Hero.jpg

‘Hub’ ซึ่งแปลว่า ศูนย์กลาง เป็นคำที่รัฐบาลที่มาจากหีบบัตรในคูหาเลือกตั้ง ชอบหยิบยกมาใช้ สร้างภาพหลอกประชาชนว่า กำลังทำงาน เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ประเทศ จะทำได้หรือไม่ไม่เป็นไร ขอคุยโวไว้ก่อน  

ไม่ว่าจะเป็น aviation hub หรือศูนย์กลางการบิน logistic hub ศูนย์กลางโลจิสติกส์ data center hub ศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ medical hub  ศูนย์กลางการแพทย์ ฯลฯ 

Hub ล่าสุด คือ ประเทศไทย จะเป็น financial hub ศูนย์กลางการเงิน ไม่ใช่ของภูมิภาค แต่ของโลกเลยทีเดียว

วันที่ 5  ตุลาคมที่ผ่านมา พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมาตรีว่าการกระทรวงการคลัง เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดและยกร่างกฎหมาย เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางการเงินโลก โดยให้เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ

เป็นเผ่าภูมิ ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ใช้เวลาไป 1 ปีเต็ม ๆ กับการสร้างภาพสังคมดิจิทัล เทคโนโลยีบล็อคเชน สุดท้ายต้องกลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ใช้ระบบ ‘พร้อมเพย์’ แจกเงินสด ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เป็นนวตกรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรื่องหมู ๆ อย่างการแจกเงิน เผ่าภูมิยังทำให้เป็นเรื่องยาก จนตกม้าตาย แล้วเรื่องสลับซับซ้อนอย่าง Financial Hub เผ่าภูมิจะมีปัญญาทำหรือ

อย่าว่าแต่เป็นศูนย์การเงินโลกเลย เอาแค่ศูนย์การเงินในอาเซียนแข่งกับสิงคโปร์ ประเทศไทยก็เป็นไม่ได้แล้ว เพราะพอเงินบาทแข็งขึ้นมา ทั้งรัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ต่างดาหน้ากันออกมากดดกันให้แบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ย เพื่อกดค่าให้อ่อนลง สะท้อนถึงกรอบความคิด ที่ขัดแย้งกับความฝันที่จะเป็นศูนย์​กลางการเงินโลก

เพราะหัวใจสำคัญของการเป็นศูนย์กลางการเงิน คือ การเคลื่อนย้ายของเงินทุน อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ราคาคือ ดอกเบี้ยและค่าเงิน ถูกกำหนดด้วยดีมานด์ ซัพพลายในตลาด ไม่ใช่จากนักการเมือง ที่ตอบสนองต่อผู้ส่งออกสินค้าที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนไปของค่าเงิน

เรื่องอื่น ๆ อย่าง จะมีใบอนุญาต Virtual Bank กี่ใบ จะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่นักลงทุนอย่างไร เป็นแค่ ‘น้ำจิ้ม’ ที่ทำให้ความเป็นศูนย์การเงินน่าสนใจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยเป็น financial hub ขึ้นมาได้ 

ความต้องการที่จะเป็นศูนย์การเงินภูมิภาคของไทย เป็นชนวนที่นำไปสู่วิกฤติต้นยำกุ้งเมื่อปี 2540  คือ การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายของเงินทุนจากต่างประเทศ แต่ประเทศไทยในตอนนั้น ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ตรึงเงินบาทไว้ที่ 25บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เหมือนกับแบงก์ชาติ ออกกรมธรรม์รับประกันว่า ไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน  ซึ่งเป็นแรงจูใจให้ ธนาคาร  บริษัทไฟแนนซ์ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ กู้เงินจากต่างประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยในประเทศ เข้ามาเป็นจำนวนมาก เงินต้นทุนต่ำ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงินจำนวนมหาศาล ถูกนำไปลงทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ เมื่อฟองสบู่แตก ก็เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในเอเชีย 

ดังนั้น การเป็นศูนย์กลางการเงินโลก หรือแค่เอาชนะมาเลเซีย สิงคโปร์ให้ได้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยการออกกฎหมายเท่านั้น แต่คนที่ทำนโยบายต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ และมีจิตวิญญาณของตลาดเสรีด้วย

แก้หนี้ครัวเรือนให้ได้ก่อน แล้วค่อยเป็นศูนย์การเงินโลกดีไหม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์