ชงสูตรใหม่ 1 ใน 3 ผู้มีสิทธิ์ ถอยคนละก้าวแก้ กม.ประชามติ

10 ต.ค. 2567 - 03:00

  • ภูมิใจไทยที่พร้อมเพรียงกันงดออกเสียงเพียบ

  • จับตารอดูสัดส่วนจากวุฒิสภา

  • สูตร 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์ มีความเป็นไปได้

economy-thailand-government-referendum-law-SPACEBAR-Hero.jpg

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมรัฐสภาอาเซียน ที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว อุตส่าห์ส่งสัญญาณข้ามประเทศมาล่วงหน้าหนึ่่งวัน ก่อนสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับที่ถูก สว.ปรับแก้ 

เพื่อให้สองสภารอมชอมกันจะได้เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้

**‘**เป็นเรื่องไม่ยาก หากคุยกันแล้วมีความปรารถนาดี และหวังดีต่อประเทศชาติ เชื่อว่าประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ ประชาชนมีความเชื่อมั่น ดังนั้น แต่ละฝ่ายควรถอยคนละก้าวสองก้าวก็ได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้กับประชาชน ดังนั้น เสียเวลาคุยกัน เพื่อให้จบโดยมีเป้าหมายคือทำประชามติให้ได้ แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ดีกว่า โดยคุยกันตั้งแต่ตอนแรกว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมหรือไม่ตั้ง ผมเชื่อว่าคุยกันได้’

แม้จะให้หลักการไว้อย่างนั้น แต่ประธานวันนอร์ ก็เห็นว่า ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยเมื่อมีการแก้ไขก็มักจะใช้กันไปก่อน เว้นแต่มีข้อขัดแย้งกันจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งก็แล้วแต่วิปรัฐบาลจะเลือกใช้วิธีใด

เมื่อเปิดทางโล่งเอาไว้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวาน(9 ต.ค.67) จึงพร้อมใจกันทั้ง สส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน หักกลับ สว.ด้วยมติ 348 ต่อ 0 เสียง ไม่เอาตามร่างที่ สว.แก้ไขมา 

ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยที่พร้อมเพรียงกันงดออกเสียงพรึบ 65 เสียง?!

การงดออกเสียงของพรรคภูมิใจไทย หากไม่คิดอะไรมากก็เป็นไปตามแนวทางเดิมของพรรค ที่มีความเห็นแตกต่างจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยภูมิใจไทยและกระทรวงมหาดไทย เห็นไปทางเดียวกันคือ ผู้มาใช้สิทธิต้องมีจำนวน 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ ส่วนเสียงเห็นชอบให้ยึดเสียงข้างมาก

เมื่อแปรญัตติไม่ผ่านก็ถือว่าจบไปและโหวตตามร่างของ สส.ที่ส่งให้วุฒิสภา

แต่วานนี้ภูมิใจไทย กลับพร้อมใจกันงดออกเสียงเกือบจะยกพรรค เว้นคนไม่ไปประชุมที่ไม่ได้ลงคะแนน แถมมีคนเห็น อนุทิน ชาญวีรกูล ไปนั่งบัญชาการอยู่ในห้องประชุมด้วยตัวเองอีกต่างหาก

การออกมาส่งสัญญาณแบบนี้ของพรรคภูมิใจไทย จึงเท่ากับยังยืนยันแนวทางของตัวเองอยู่ คือ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขแบบชั้นเดียวที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบไป

ที่สำคัญถูกนำไปโยงกับการมุดบ้านจันทร์ส่องหล้าวันก่อนของ ‘เนวิน-อนุทิน’ ด้วยว่า ไม่มีเรื่องกฎหมายประชามติ ไม่มีเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ จึงทำให้ภูมิใจไทยยังเดินหน้าโชว์แสนยานุภาพตัวเองต่อ

ความจริงก่อนการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ ก็ได้เห็นท่าทีของแต่ละพรรคจากการลุกขึ้นอภิปรายไปแล้ว โดย สส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน เห็นไปในทางเดียวกัน คือ ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขของ สว.เพราะจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเกิดความยุ่งยากต่อการใช้บังคับ

ขณะที่ สส.พรรคภูมิใจไทย เห็นต่างกับพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยเห็นด้วยกับที่วุฒิสภาแก้ไขให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคล้ายกับร่างที่พรรคตัวเองเสนอต่อสภาไว้

หลังลงมติเสร็จที่ประชุมเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา 28 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงกว่าทุกครั้ง เพราะเคยใช้เกณฑ์ที่ 20 เสียง คือ สภาละ 10 เสียงเท่ากัน โดยว่ากันเฉพาะสมาชิกสองสภาล้วน ๆ ไม่มีสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี

แต่เที่ยวนี้ขยายเป็น 28 คน 14 ต่อ 14 เท่ากัน ซึ่งมีการเพิ่มโควตาพรรคเข้าไปด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ

งานนี้มีคนบอกให้รอดูสัดส่วนจากวุฒิสภาที่จะประชุมกันในวันอังคารที่ 15 ตุลาคมนี้ 14 อรหันต์ ที่ส่งมาจะมีใครเป็นใครบ้าง ถ้ามาจาก สว.สีน้ำเงินทั้งหมด มาบวกกับ 2 ทหารเสือภูมิใจไทยในสภาล่าง ไชยชนก ชิดชอบ กรวีณ์ ปริศนานันทกุล ที่เป็นตัวยืนอยู่ โหวตกี่ครั้ง ๆ พรรคภูมิใจไทยก็ชนะวันยันค่ำ 

เพราะฉะนั้น ในเวทีกรรมาธิการร่วมสองสภา จึงเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้งของ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ หากยังไม่ยอมถอยคนละก้าวสองก้าวอย่างที่ประธานวันนอร์ ให้แนวทางไว้ก็คงเดินหน้าไปต่อยาก

ส่วนจะยอมถอยกันแบบไหน เห็นว่ามีบางคนคิดสูตรเตรียมไว้แล้ว ซึ่งแน่นอนต้องไม่ใช่ทั้งร่างเดิมของสส.และสว.ที่มีการแก้ไข แม้แต่ร่างเดิมของภูมิใจไทยหรือที่กระทรวงมหาดไทยเสนอความเห็นไว้ ก็ไม่ได้เช่นกัน

แต่ต้องเป็นการถอยคนละก้าวและพบกันครึ่งทางจริง ๆ เท่านั้น

นั่นคือ สูตร 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์ โดยปรับลดลงจาก 1 ใน 4 ของพรรคภูมิใจไทยเดิม และไม่ถึงกับลดลงไปใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบไว้ ซึ่งสูตรนี้ดูจากการแปรญัตติหนก่อนของภูมิใจไทย มีพรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อยสองพรรค คือ รวมไทยสร้างชาติ และชาติไทยพัฒนา เอาด้วย

สูตรนี้จึงเป็นไปได้สูง หาก ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ พูดคุยรอมชอมกันได้

แต่ถ้ายกสองแล้ว ยังถอยกันคนละก้าวไม่ได้ งานนี้เห็นทีต้องใส่คอนเวิร์สไปทางใครทางมันกันคราวนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์