แลนด์บริดจ์-SEC ถามคนใต้หรือยัง?

4 ก.ค. 2567 - 10:59

  • แลนด์บริดจ์ยังเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เดินหน้าไม่ถึงไหน

  • กลุ่มทุนต่างประเทศที่เข้ามาเจรจาก็มีท่าทีชัดเจนว่าขอดูก่อน

  • ในพื้นที่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณโครงการก็มีแรงต่อต้านมากขึ้น

economy-thailand-landbridge-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ เปิดทำเนียบฯต้อนรับ ‘สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม’ ประธานกลุ่มบริษัท Dubai Port World หรือ DP World เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในประเทศไทย

เพื่อหวังจะชวนให้ดูไบเวิลด์ เข้ามาลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ เพื่อสร้างท่าเรือและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก โดยแสดงความมั่นใจว่ามี ‘สัญญาณเชิงบวก’ ที่ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ให้ความสนใจ

แต่หากฟังจากการสัมภาษณ์ของ ประธานกลุ่มและ CEO ของ ดูไบเวิลด์แล้ว การเดินทางเข้ามาคราวนี้ก็เพียงแต่มาเพื่อ ‘มองหาโอกาส’ ในการลงทุน รวมถึงมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงโอกาสความเป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อประกอบในการพิจารณาแนวทางการลงทุน โดยยัง**‘ไม่ได้รับปาก’** ที่จะเขามาลงทุนแต่อย่างใด

หลังจากนั้น ‘เดอะซัน’ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งใจจะผลักดันโครงการนี้โดยจะนำเสนอ ‘ร่างพ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ...’ ให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาฯได้ราวเดือนเมษายนปีหน้า  

หลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งสำนักงาน SEC  (Southern Economic Corridor)ในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 และจะมีการเริ่มออกแบบท่าเรือ ทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ รวมทั้งจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จในปี 2568 

หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดทำร่างเอกสาร ‘เชิญชวนนักลงทุน’ เข้ามาประมูลลงทุนในโครงการ โดยคาดว่าจะสามารถหาผู้ชนะการประกวดราคาที่จะเข้ามาลงทุนได้ในราวต้นปี 2569 

กว่าจะเริ่มลงทุนก่อสร้างคงทอดยาวไปถึงราวกลางปี 2569 โดยจะแบ่งเป็น 3 เฟส 

เฟสที่หนึ่ง แล้วเสร็จปี 2573

เฟสที่สอง แล้วเสร็จปี 2577

เฟสที่สาม แล้วเสร็จปี 2579

ทั้งหมดคือภาพในฝันของรัฐบาลที่กำหนดไทม์ไลน์แบบกว้าง ๆ เอาไว้ แต่หากหันกลับมามองถึงความเป็นไปได้กันอย่างจริงจังแล้ว ต้องบอกว่าโครงการนี้ยังมี ‘อุปสรรคขวากหนาม’ รออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย เฉพาะด่านแรกในเรื่องของการเสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษก็เริ่มส่อเค้าว่าทำท่าจะไปไม่รอดเสียแล้ว

ร่างพ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ...ปัจจุบันเป็นของพรรค ‘ภูมิใจไทย’ ที่ริเริ่มแนวคิดนี้มาตั้งแต่สมัยของรัฐบาล **‘ลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’**และได้ผ่านขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชนแล้ว เตรียมที่จะนำเสนอให้สภาฯพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะรอประกบคู่ไปกับร่างของรัฐบาล โดยทั้งสองร่างมีเค้าโครงการเหมือนกัน มี 8 หมวด 67 มาตรา 

แต่ยังไม่ทันที่จะมีการนำเสนอให้ ครม.พิจารณา ก็ปรากฏว่าเริ่มมีกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงมาจากกลุ่มตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องแผ่นดินใต้ โดยมีการไปยื่นหนังสือต่อพรรคภูมิใจไทย ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ออกจากสภาฯเนื่องจากมองว่ากฎหมายฉบับนี้เปรียบเสมือนสัญญาซื้อขายภาคใต้ของรัฐบาลไปให้กับกลุ่มทุนต่างชาติ และสร้าง ‘รัฐอิสระ’ ใหม่ขึ้นมาในภาคใต้

ทั้งนี้เนื่องจากในร่างพ.ร.บ.มีหลายมาตราที่ เป็นการ ‘ยก’ เอาที่ดิน ทรัพยากร และสิทธิของประชาชนไปให้กับทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในมาตรา 8 ที่ยอมให้มีการแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เป็นอุปสรรค ถึงขนาดยอมให้ ‘เปลี่ยนผังเมือง’ ของ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดให้เป็นพื้นที่ในการทำเขตอุตสาหกรรมได้ทุกชนิด

มีการเปิดให้ทุนต่างชาติ สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในมาตรา 48 หรือสามารถทำสัญญาเช่าที่ดินได้ถึง 99 ปี ในมาตรา 51 โดยไม่ต้องปฎิบัติตามกฎหมายที่ดิน

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่พื้นที่ทางการเกษตร เช่นที่ดินในเขต **‘ปฎิรูปที่ดินหรือ ส.ป.ก.’**ในมาตรา 35 ก็อาจจะถูกยกเลิก เพิกถอน เพื่อนำไปทำเขตอุตสาหกรรมและอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรอย่างมหาศาล

ยังไม่ต้องพูดถึงการให้สิทธิพเศษแก่นิติบุคคลและคนต่างด้าวที่จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยไม่จำกัดเวลา และยังได้รับการยกเว้น **‘สามารถทำอาชีพสงวน’**และได้รับการลดหย่อนภาษีเป็นพิเศษ 

เพราะเหตุนี้จึงมีแนวโน้มว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคงถูก ‘แรงต้าน’ อย่างหนักจากกลุ่มภาคประชาสังคมและแนวร่วมในภาคใต้ ซึ่งเริ่มส่งสาร ‘ท้ารบ’ กับรัฐบาล และคงไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจจนสามารถผลักดันให้ผ่านสภาฯได้สำเร็จ เพราะมีทั้งพรรคก้าวไกล และประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านซึ่งมีฐานเสียงที่มาจากภาคใต้ไม่น้อยยืนขวางอยู่เต็มตัว

เมื่อมองภาพรวมแล้ว จึงพอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ก็คงเป็น ‘เรือธง’ อีกลำที่เป็นได้เพียง ‘ภาพฝัน’ ที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในที่สุด...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์