ทางลง คปท. ยื่นสองหมื่นชื่อสอย ป.ป.ช.

15 ม.ค. 2567 - 10:10

  • กลุ่ม คปท.ออกมาเคลื่อนไหวช่วงนี้ก็ดูเหมือนจะอ่อนแรง และโรยรา

  • แนวร่วมทางการเมืองที่เคยสู้มาด้วยกัน ต่างก็เปลี่ยนท่าทีกันไปหมด

  • การจะยื่นถอดถอน ป.ป.ช. ก็ยังเป็นเส้นทางที่ยาวไกล ไม่ง่ายอย่างที่คิด

DEEP-SPACE-28 News03-SPACEBAR-Hero.jpg

การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.ที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล แบบปักหลักพักค้างช่วงสั้น ๆ 2 คืน 3 วัน เพื่อกดดันให้นำตัว ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับไปคุมขังในเรือนจำ ไม่ได้รับความสนใจจากคนในรัฐบาลมากนัก เนื่องจากมองว่าคงจุดไม่ติด เพราะเป็นประเด็นที่ไม่ใหญ่โตถึงขั้นต้องให้คนลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลเหมือนในอดีต

ที่สำคัญคนในรัฐบาลล้วนผ่านประสบการณ์ทำม็อบกันมา จึงอ่านออกว่าม็อบที่จะปักหลักพักค้าง ยืนระยะได้ยาว และมีพลัง ต้องมีองค์ประกอบหลัก ๆ เช่น เป็นม็อบมีเจ้าของ มีเส้น มีสปอนเซอร์ ฯลฯ

แต่ม็อบ คปท. ยังไม่เข้าองค์ประกอบหลักดังว่าครบ แถมยังขาดแนวร่วมสำคัญจากพรรคการเมือง ที่จะช่วยเติมมวลชนจากหัวเมืองเข้ามาสับเปลี่ยนกำลังแบบเต็มออก ๆ ๆ และไม่น่าจะมี เพราะไม่ใช่สไตล์ของก้าวไกล ที่เน้นการทำงานในสภามากกว่า

ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ไล่มาตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนมาถึง กปปส.ล้วนแต่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลนี้ หรือไม่ก็รอการเข้าร่วมรัฐบาล

คปท.จึงหาทางลงด้วยการตั้งโต๊ะล่า 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อให้ประธานศาลฎีกาตั้ง ‘คณะผู้ไต่สวนอิสระ’ เอาผิด ป.ป.ช.ที่นิ่งเฉยไม่ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องกรณีการออกมารักษาตัวนอกเรือนจำของทักษิณ

วันพรุ่งนี้(16 ม.ค.67) คปท.จะไปทวงคำตอบจาก ป.ป.ช.ให้แน่ใจอีกครั้ง หากยังนิ่งเฉยก็จะใช้สองหมื่นรายชื่อยื่นตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 เผาผิด ป.ป.ช.ต่อไป

หากดูตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 แล้ว คงต้องใช้เวลาดำเนินการอีกนาน โดยขั้นตอนแรก ต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภา พร้อมแนบหลักฐานตามสมควร 

จากนั้น หากประธานรัฐสภา เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่กล่าวหา ถึงจะเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระขึ้นมาไต่สวนหาข้อเท็จจริง และประธานรัฐสภา ยังต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อทั้งสองหมื่นคน ว่าครบถ้วนและเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ก่อนด้วย

เมื่อผ่านไปถึงประธานศาลฎีกาแล้ว ก็จะมีกระบวนการแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เข้ามาทำหน้าที่

สุดท้ายเมื่อดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ หากเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

สุดท้ายท้ายสุด เมื่อศาลฎีกา เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ถึงจะส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

และในระหว่างนั้น ก็ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลประทับรับฟ้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ดูแล้วคงเป็นการหาทางลงของ คปท.มากกว่า แม้ประกาศจะกลับมาปักหลักชุมนุมยาวอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ก็ตาม เพราะกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ต้องผ่านหลายด่าน 

การใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญตรวจสอบเอาผิด ป.ป.ช.หนทางนี้จึงยังอีกยาวไกล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์