ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยอาจจะพยายามชูเรื่อง ‘คิดใหม่ทำใหม่’ เป็นจุดขายในช่วงการหาเสียง แต่มาถึงนาทีนี้คงรู้ตัวแล้วว่า จุดขายใหม่ ๆ ที่วาดหวังให้เป็น ‘เรือธง’ ของรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่พยายามทั้งผลักทั้งดัน อย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่อเค้าจะต้องเผชิญกับพายุที่มาจากทุกทิศทุกทางไปอีกพักใหญ่ จนยากที่จะนำพาไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย ๆ ในเร็ววันนี้
แต่หากปล่อยให้นานวันจนเกินไป โดยไม่มีมาตรการอื่น ๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะทำให้สภาวะเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในสภาพ ‘ต้มกบ’ เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เห็นได้ชัดจากการที่ตลาดหุ้นดำดิ่งลงมาแตะแนวรับที่ระดับ 1,300 จุด
จนนายกฯ เศรษฐา นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ เริ่มมีอาการ ‘นั่งไม่ติด’ ต้องเรียกรองนายกฯและรมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ไปนั่งคุยในยามวิกาล เพื่อหาแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และตลาดทุนให้ฟื้นกลับมาโดยเร็ว และนำไปสู่การเรียกประชุมด่วน ทั้งกระทรวงการคลัง กลต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหาแนวทางพลิกฟื้นตลาดทุน
คงเพราะอาการ ‘ไฟลนก้น’ ประกอบกับยังมีอาการตีบตันทางความคิด นอกเหนือจากการเร่งใช้กองทุน Thai ESG เดิมที่จะมีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้จูงใจมากขึ้นแล้ว รองพิชัยฯยังต้องหันหลังกลับไปใช้วิธีรื้อฟื้น ‘กองทุนวายภักษ์’ ในอดีตที่เคยจัดตั้งขึ้นในยุคของผู้นำในตำนานสมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลเมื่อ 20 ปีที่แล้วกลับมา ‘ปัดฝุ่น’ ใหม่
กองทุนวายุภักษ์ 1 จัดตั้งขึ้นในปี 2546 ในสมัยรัฐบาลของ นายกฯในตำนาน ทักษิณ ชินวัตร ผู้มากบารมีของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
ในช่วงนั้นรัฐบาลต้อง ‘อัดฉีด’ เม็ดเงินจำนวนมากเข้าไปเพิ่มทุน และถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มทุนธนาคารที่รัฐถือหุ้น และรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง อย่าง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย PTT, การท่าอากาศยานไทย AOT, และบางจาก BCP รวมไปถึงการลงทุนในตราสารทางการเงินของรัฐและรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องการขับเคลื่อนตลาดทุน พลิกฟื้นฟื้นจากภาวะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำมาอยู่ที่ระดับ 500-600 จุด จึงเกิดแนวคิดในการที่จะนำหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในมือมารวมในรูป Portfolio ของกองทุนรวม และเปิดให้มีการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยเพิ่มเข้ามาเพื่อนำไปซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐาน และอนาคตดีมาเข้ากองทุนฯ
ในตอนนั้นรัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนปิดขนาดราว 1 แสนล้านบาทขึ้นมา โดยรัฐบาลนำหุ้นที่ถืออยู่มาร่วมลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท และมีการระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไปอีกราว 4 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบของหน่วยลงทุน
หน่วยลงทุน ประเภท ก. ที่มีนโยบายคุ้มครองเงินต้น โดยจะคืนเงินลงทุน ณ วันสิ้นสุดโครงการคือ 10 ปี เท่ากับ โดยระหว่างทางยังประกันผลตอบแทนขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 3%
หน่วยลงทุน ประเภท ข. จะเป็นในส่วนของกระทวงการคลัง และหน่วยงานลงทุนของภาครัฐ ที่จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่า
เงินจากการระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไปราว 4 หมื่นล้านบาท กองทุนนำไปบริหารจัดการโดยการนำไปลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และตราสารหนี้บางส่วน และนำมาผลตอบแทนมาเฉลี่ยรวมกับผลตอบแทนของหุ้นที่มีถือโดยกระทรวงการคลังที่อยู่ใน Portfolio ของกองทุนฯ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากพอที่จะนำมาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในแต่ละปี
ถึงแม้นักลงทุนส่วนใหญ่จะยังคง ‘ไม่ค่อยเข้าใจ’ ในเรื่องกองทุนรวมมากนักเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ในเวลานั้น แต่การคุ้มครองเงินต้น และรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ที่ 3% ก็ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะตอบโจทย์ในเวลานั้น และมีส่วนอย่างมากในการทำให้ดัชนีหุ้นไทยเริ่ม ‘โงหัวขึ้น’ เมื่อมีแรงซื้อใหม่เข้ามาในตลาดหุ้น
ปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์ถูกปรับเป็นกองทุนเปิด ที่มีรัฐถือหุ้น 100% ลงทุนในหุ้นและพันธบัตรที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่รัฐวิสาหกิจ และขนาดของกองทุนโตมาถึง 3.3 แสนล้านล้านบาท และมีหุ้นใน Portfolio ถึง 69 บริษัท โดยมีหุ้นที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 5อันดับแรกคือ PTT มีสัดส่วน 35.3% SCB มีสัดส่วน 25.6% TTB มีสัดส่วน 5% KTB มีสัดส่วน 3.6% และ BCP มีสัดส่วน 3%
หากพิจารณาจากโครงสร้างและมูลค่าสินทรัพย์ กองทุนวายุภักษ์ ในเวลานี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นโครงสร้างที่น่าสนใจในสามารถนำมาใช้ในการระดมทุน ที่พอจะจัดตอบโจทย์นักลงทุนในระยะยาวให้นำเงินมาลงทุนเพิ่มในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีๆเพิ่มขึ้นอีกได้ ในจังหวะที่ระดับราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับฐานลงมาถึงจุดที่น่าสนใจ
รองนายกฯและรมว.คลัง พิชัย ยอมรับว่าเพิ่งมี ‘ไอเดีย’ ที่จะรื้อฟื้นกองทุนวายุภักษ์กลับมาใหม่ได้ไม่กี่วัน โดยมีแนวคิดคล้ายคลึงรูปแบบเดิม แต่อาจจะมีขนาดกองทุนใหญ่ขึ้น โดยมีสัดส่วนการลงทุนจากหุ้นในส่วนของภาครัฐราว 3.5 แสนล้านบาท และ ระดมทุนจากนักลงทุนอีกราว 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็น 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขนาดของกองทุนใหญ่มากพอที่จะ ‘ช่วยฉุดลาก’ ตลาดหุ้นไทยให้ฟื้นกลับมาได้
อย่างไรก็ตามเนื่องจากยังคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการกำหนดรายละเอียด จึงทำให้ตลาดหุ้นยังมีปฎิกิริยาตอบรับในเชิงบวกไม่มากนัก ประกอบกับสถานการณ์ในวันนี้อาจจะไม่เหมือนกับอดีต ที่อัตราจ่ายเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยเหลือแค่ประมาณ 3-4% เนื่องจาก ‘ความสามารถทำกำไร’ ของบริษัทจดทะเบียนต่ำลง ทำให้ผลตอบแทนอาจจะไม่สูงอย่างที่คาดหวัง การรับประกันเงินต้น และผลตอบแทน จึงอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญของกองทุน
อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า กองทุนวายุภักษ์ ใน ‘เวอร์ชั่น’ ใหม่ หลังผ่านมา 20 ปี จะสามารถเป็น ‘ยาแรง’มากพอที่จะปลุกชีพตลาดหุ้นไทยให้ฟื้นคืนชีพมาได้หรือไม่ หากทั้งรัฐบาล และตลาดหลักทรัพย์ฯยังไม่สามารถกอบกู้ Trust & Confidence สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาของนักลงทุนให้กลับคืนมาจากจุดต่ำสุดในปัจจุบัน...