หลังตกเป็นกระแสไฟไหม้ฟางในชั่วข้ามคืน เรื่อง #SAVEทับลาน ผืนป่ามรดกโลกแห่งเทือกเขาดงพญาเย็น หรือดงพญาไฟในอดีต เนื้อที่กว่า 265,000 ไร่ กำลังจะถูกเพิกถอน เฉือนออกไปให้ ส.ป.ก.ดูแล ตามมติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ให้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานใหม่
ข่าวดังกล่าวได้ปลุกให้ประชาชนที่รักป่ารักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาส่งเสียงคัดค้าน ตั้งคำถามกับการกระทำของรัฐที่มาในนามของการแก้ปัญหาที่ทำกินให้ชาวบ้านว่า เป็นการ ‘เอื้อประโยชน์’ ให้กลุ่มนายทุนหรือไม่?
แต่หลังฝ่ายต่างๆ ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเวลาต่อมา จึงได้เห็นภาพของป่าทับลานชัดขึ้นว่าควรจะ ‘#SAVEทับลาน #แค่ไหน #อย่างไร?’ เพราะมีหลากหลายกลุ่มรวมอยู่ในพื้นที่ป่าทับลาน และเกิดปัญหาข้อ ‘พิพาท’ มานานกว่า 40 ปีแล้ว
‘อรรถพล เจริญชันษา’ อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไล่เรียงข้อพิพาทตั้งแต่เริ่มแรกว่า เดิมเป็นป่าสงวนมาก่อนและได้มีการจัดพื้นที่ให้ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ ได้เข้าไปทำกิน เนื้อที่ประมาณ 58,000 ไร่ จากนั้น ได้มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ไปทับพื้นที่ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งเป็นความ ‘บกพร่อง’ ของกรมป่าไม้ในอดีต
จึงมีการเรียกร้องให้กันพื้นที่ดังกล่าวออกจากอุทยาน และมีการสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้งในปี2543 ซึ่งหลายรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน แต่ไม่สำเร็จ
ต่อมาคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) มีมติให้กันพื้นที่ชุมชน จำนวน 265,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก.และครม.มีมติเห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 จึงทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมาดำเนินการ ‘ปรับปรุง’ แนวเขต ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอยู่เวลานี้ ก่อนรวบรวมเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณา เพื่อมีมติเสนอครม.ต่อไป
‘ในจำนวน 256,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิมจากการจัดสรรพื้นที่ และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่สอง มือที่สาม รวมถึงกลุ่มรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่’
อธิบดีอรรถพล ย้ำว่า ‘ส.ป.ก.จะเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบว่าใครมีสิทธิ’ ได้รับการจัดสรรที่ดิน ส่วนคนที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ก็ยังจะไม่มีคุณสมบัติถือครองที่ดินอยู่อย่างนั้น ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจะไปหารือกัน เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน
‘บางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อขายเปลี่ยนมือ บางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ’
สอดคล้องกับ ‘พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่วางแนวทาง 3 ข้อ ให้กรมอุทยานฯ ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาป่าทับลาน ได้แก่
1.ให้พิจารณาสิทธิ์ชาวบ้านในการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ที่ทำกิน ต้องไม่มีนายทุน นักการเมือง ถือครองเด็ดขาดและพิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจน
2.ให้ความเป็นธรรมชาวบ้านที่อยู่มาดั้งเดิมกว่า 20 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 5 หมื่นไร่
3.การจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำกิน ต้องไม่ตัดผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ห้ามตัดพื้นที่ต้นน้ำ หรือที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ไม่อนุญาตให้แบ่งแยกออกไปเพราะต้องรักษาผืนป่าไว้ อาจพิจารณาตัดแบ่งเฉพาะที่ประชาชนอาศัยและทำกินอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น
ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ‘พูนศักดิ์ จันทร์จำปี’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมนำปัญหาป่าทับลานเข้าหารือในที่ประชุมกรรมาธิการเช่นกัน โดยเบื้องต้นได้จำแนกประชาชนที่อยู่อาศัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก คือประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ เมื่อปี 2524
กลุ่มสอง คือประชาชนที่ได้รับ ส.ป.ก.และอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก.
กลุ่มสาม คือกลุ่มที่เข้ามาหลังประกาศเขตอุทยานฯ และทำให้เกิดคดีความ ซึ่งเท่าที่ทราบมีอยู่ 400 กว่าคดี ที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่
เอาเป็นว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,398,000 ไร่ เป็นพื้นที่ของชาวบ้านประมาณ 50,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ จำนวน 256,000 ไร่ ยังอยู่ในพื้นที่ป่าทับลาน ที่กำลังจะปรับปรุงแนวเขตใหม่ ตามมติครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 และยึดตามแนวทางที่ฝ่ายรับผิดชอบว่าไว้ข้างต้น
คงพอได้เห็นภาพลางๆ ว่า ‘ใครบ้างที่ควรได้ และใครบ้างที่ไม่ควรได้’ และยังต้องถูกดำเนินคดีอีกต่างหาก อย่างนี้คงไม่ต้องเดือดร้อนให้อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ที่โพสต์รูป ‘โชว์ปืน’ ไปเฝ้าป่าทับลานในวัยชราอีก
ส่วนจะ #ทับลาน กันอย่างไร แค่ไหน คงได้เห็นภาพกันชัดขึ้นหลังฝุ่นจางลงแล้ว และจะถึงขั้นเป็น ‘ทับลานโมเดล’ ที่อาจถูกนำไปใช้ปลดล๊อกผืนป่าตามเกาะ แก่งต่างๆ ทั้งเกาะเสม็ด เกาะสิรินาถ เกาะช้าง จนมีผลทำให้ต้อง ‘สูญเสีย’ ผืนป่าไปมากถึง 4.27 ล้านไร่ อย่างที่มีการออกมาป่าวประกาศหรือเปล่า?
โปรดได้ใช้สติปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญกันเอาเองเถิด