นับตั้งแต่การดันทุรังเสนอชื่อ พิชิต ชื่นบาน เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่สนเสียงทักท้วงของผู้คนในสังคม จนมาถึงกรณี ชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายก อบจ.ปทุมธานี ที่ตกเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายในเวลานี้
รวมถึง ก่อนหน้านั้นก็มีการแต่งตั้งบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ลงโทษขึ้น ‘แบล็กลิสต์’ เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.คลัง จนถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ และสุดท้ายต้อง ‘ตัดช่องน้อยลาออก’ ไปเองในที่สุด
แสดงว่าพรรคเพื่อไทย มีปัญหาในการ ‘คัดเลือก’ คนเข้าสู่ตำแหน่ง โดยเฉพาะฝ่ายกฎหมายที่ขาดความรอบคอบ ถึงได้ปล่อยให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เท่ากับเป็นการฟ้องไปในตัวว่าทีมกฎหมายเพื่อไทยมือไม่ถึง!!
จึงไม่แปลกที่ตอนหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องหันไปพึ่ง ‘เนติบริกร’ ขอให้ ‘วิษณุ เครืองาม’ เข้ามาทำหน้าที่ให้คำปรึกษา กลั่นกรองงานก่อนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
นอกจากจะไม่แม่นข้อกฎหมายแล้ว หลังเกิดปัญหาขึ้นคนในเพื่อไทย ยังพยายาม**‘ตะแบง’** เอาสีข้างเข้าถู ไม่ยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น อย่างกรณีล่าสุดเรื่องนายกอบจ.ปทุมธานี ที่เพื่อไทยส่งลงสมัครในนามพรรคแล้วเกิดปัญหาขึ้น
คนเพื่อไทย ต่างออกมาประสานเสียงร่วมกันว่า ผ่านการพิจารณาตรวจสอบมาอย่างดีแล้ว และขอให้ศาลเป็นคนชี้เรื่องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะเรื่องอยู่ที่ศาลและศาลประทับรับฟ้องไปแล้ว
ส่วนเรื่องที่กฤษฎีกามีหนังสือเวียนให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดและได้รับเลือกตั้งกลับมาในตำแหน่งเดิมอีกนั้น หมายถึงคดีทั่วไป แต่กรณี ชาญ พวงเพ็ชร์ เป็นเรื่องที่อยู่ในศาล จึงเป็น ‘อำนาจของศาล’ ที่จะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
ไม่ใช่อำนาจของกระทรวงมหาดไทย?!
แต่ประเด็นนี้ถูกนักวิชาการ ‘แก้วสรร อติโพธิ’ งัดเอามาตรา 81 กฎหมาย ป.ป.ช.มาอธิบายว่า
‘ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้องตามมาตรา ๗๗ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น’
นั่นเท่ากับว่า ไม่ต้องรอให้ศาลสั่งซ้ำอีก เพราะศาลประทับฟ้องไว้แล้ว ถ้าไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา
การออกมา ‘แถ’ ของพรรคเพื่อไทย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง แม้กระทั่ง ‘ความรู้สึก’ ของคนปทุมธานี กว่าสองแสนคนที่พากันลงคะแนนเลือกผู้สมัครพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายอาจจะได้ปลัด อบจ.มาทำหน้าที่บริหารท้องถิ่นแทนกว่าคดีจะสิ้นสุด
นับเป็นการสูญเสียโอกาสอย่างใหญ่หลวงของชาวปทุมธานี
ยิ่งย้อนไปดูเหตุผลการลาออกจากนายก อบจ.ก่อนกำหนดของ ‘พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง’ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก จะได้มีคนทำงานมาช่วยดูแลชาวบ้านได้อย่างเต็มที่ ยิ่งทำให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบของคนในพรรคเพื่อไทยเข้าไปใหญ่
แต่ผ่านมาถึงวันนี้ กลับไม่มีคำว่า ‘เสียใจ’ หรือแม้คำขอโทษออกจากปากคนเพื่อไทย ที่เป็นผู้ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งหากเป็นที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ป่านนี้ผู้บริหารคงต้องมาเข้าแถวโค้งคำนับ เอาศีรษะโขกพื้นไปนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว
บังเอิญว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่นักการเมืองมีวัฒนธรรมอีกแบบ จึงต้องไปถามหา**‘ความสำนึก’** กันเอาเอง
สำหรับพรรคเพื่อไทย วันก่อนเรื่องของ ‘พิชิต ชื่นบาน’ ได้สร้างความเสียหายให้กับพรรคไว้ย่างไร วันนี้กรณีของชาญ พวงเพ็ชร์ กับนายก อบจ.ปทุมธานี ก็ไม่ต่างกัน กลายเป็น ‘พิชิต 2’ ซ้ำเติมภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทย ให้ดำดิ่งลึกลงไปอีก
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับ อบจ.ปทุมธานีหนนี้ จะเยียวยากันอย่างไร?
หากมองจากคนนอกอย่าง ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ให้แก้ด้วยสปิริต ใครที่ได้รับเลือก โดนคดีทุจริตแบบนี้ก็ลาออกเลย เปิดทางให้มีเลือกตั้งใหม่ หรือพรรคการเมืองหรือตนเองก็อย่าไปลงสมัคร พร้อมยกตัวอย่างในสมัยที่ทำพรรคอนาคตใหม่ว่า หากพบผู้สมัครโดนคดีแบบนี้ก็จะไม่ส่งลงสมัคร
พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องของ ‘สปิริต’ ถ้าใช้กฎหมายจะเกิดความลักลั่น
เรื่องนี้คงต้องไปถามหาสำนึกคนในพรรคเพื่อไทยสะกดคำว่าสปิริตเป็นกันหรือเปล่า?!