ภารกิจสภาสีน้ำเงิน ในร่มเงาการเมืองหลังม่าน

24 ก.ค. 2567 - 07:29

  • การเมืองสภาสูงและสภาล่างมีความเคลื่อนไหวตลอด

  • สว.สีน้ำเงินกลายเป็นตัวแปรสำคัญในเกมการเมือง

  • การก้าวเข้าสู่ยุคการเมืองหลังม่าน

election-senate-president-vicepresident-SPACEBAR-Hero.jpg

แจ่มชัดกันไปแล้ว สำหรับการแบ่งเค้กในสภาสูง ตกลงกินแบ่งหรือกินรวบ ก็ประจักษ์ชัดไปตามนั้น เมื่อสภาสีน้ำเงินพากันโหวตให้ มงคล สุระสัจจะ เป็นประมุขสภาสูงคนใหม่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ บุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับ

ตรงเผง!! ตาม ‘หวยล็อก’ จากบ้านใหญ่บุรีรัมย์ 

ถัดจากนี้ก็รอขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ และรอรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา คำนวณจากประเพณีปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมา เชื่อว่าคงใช้เวลาราว 7 วัน และเมื่อประธานวุฒิสภาและรองประธานฯ ทั้งสองคนเข้ารับตำแหน่งแล้ว ก็จะเรียกประชุมครั้งที่สองต่อไป

ตรงนี้แหล่ะ จะเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งการทำงานของวุฒิสภาชุดใหม่อย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการ**‘จัดสรรปันส่วน’** ตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ซึ่งถ้ายึดโยงตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ก็จะมีคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 26 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน แต่ไม่เกิน 19 คน

แน่นอนตอนนี้ได้ล็อกกันไว้หมดแล้วจะให้ใครอยู่คณะไหน เพราะต้องวางตัวประธานในแต่ละคณะไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งถ้าไม่จัดวางตัวกรรมาธิการให้มีเสียงข้างมากเอาไว้ก่อน ก็จะล็อกตัวคนเป็นประธานไม่ได้ โดยเฉพาะคณะที่อยู่ในเกรด A-B+

เพื่อใช้เป็นป้อมปราการ เป็นกำแพงให้กับฝ่ายบริหารในกระทรวงที่พรรคตัวเองคุมอยู่ หรือในกระทรวงสำคัญ ๆ หลักคิดเดียวกับการแบ่งเก้าอี้คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร

เสร็จจากนั้น ก็คง ‘วุ่นวาย’ กับการแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยประจำตัว ไปจนถึงตำแหน่งต่อเนื่องต่าง ๆ ในกรรมาธิการแต่ละคณะไปอีกสักระยะ ใครจะแต่งตั้งญาติโกโหติกากันอย่างไร สว.ชุด คสช.ท่านทำสูตรไขว้เป็นตัวอย่างเอาไว้แล้ว 

ไม่ต้องกลัวใครจะติฉินนินทาเรื่องเอาคนในครอบครัวมากินเงินเดือนหลวงกันแล้ว

ทีนี้ช้าเร็วอย่างไร สว.ชุดใหม่ ก็ต้องเดินเครื่องทำงานทันที ต่อให้ใหม่ถอดด้าม เป็นสว.ป้ายแดง หรืออัพเกรดตัวเองมาจากอาชีพไหน ก็ไม่มีช่วงเวลาให้ฝึกงาน เพราะนี่คือสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะมาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย รวมทั้ง การรับรองรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

มีงานใหญ่สำคัญ ๆ หลายงานรออยู่!!

อย่างแรกเลยคือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ดูตามปฏิทินแล้วต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ คงเป็นงานแรกที่จะได้เห็น ‘ลีลา’ ของสภาสีน้ำเงินจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจไว้เพียง ‘เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย’ เท่านั้น ไปปรับเปลี่ยนเพิ่มหรือลดไม่ได้ทั้งนั้น

หลายคนคงไปซุ่มทำการบ้านกันมาบ้างแล้วว่างบก้อนนี้รัฐบาลจะเอาไปทำอะไร ส่วนสว.สีนำเงินคนไหนที่ยังไม่ได้ทำการบ้านมาหรือไม่พร้อมอภิปราย ก็รอทำหน้าที่เป็นฝักถั่วพันธุ์ใหม่ ฝึกให้คุ้นเคยเอาไว้ก่อน

ถัดจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2568 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ต่อจากนี้คงมีการประสานส่งไปยังวุฒิสภาได้ศึกษาควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เหมือนวุฒิสภาชุดที่ผ่านมา

แต่ที่ด่วนไม่แพ้กัน คือ การพิจารณารับรองรายชื่อผู้เข้าดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ ที่ถูกสว.ชุดก่อนตีกลับและค้างคามาถึงวันนี้ รวมทั้ง อัยการสูงสุดคนใหม่ ก็เข้าคิวรอการรับรองจาก สว.ชุดใหม่ด้วยเช่นกัน

ไม่นับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่กำลังจะถูกส่งต่อไปให้วุฒิสภาพิจารณา เพื่อให้ทันออกเสียงประชามติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะให้ทำไปพร้อมกับการเลือกตั้งอบจ.ทั่วประเทศในช่วงต้นปี2568

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ที่่อยู่ระหว่างการศึกษาและรอการตกผลึกจากสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องส่งให้วุฒิสภากลั่นกรองด้วยเช่นกัน

เอาเป็นว่าหน้าที่ของสภาสูง ไม่ได้มีเฉพาะการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการ ‘ตรากฎหมาย’ ทุกฉบับที่จะต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาด้วย ทั้งในฐานะของวุฒิสภาและในฐานะสมาชิกรัฐสภา กรณีที่ต้องใช้การประชุมร่วมของทั้งสองสภา

โดยเฉพาะอย่างหลังนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องใช้เสียงสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสว.ที่มีอยู่ทั้งหมด หรือ 76 เสียงขึ้นไป จาก สว.ทั้งหมด 200 คน ทั้งในวาระแรกและวาระสาม

ไม่รวมการขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 หรือการเข้าชื่อกันยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งสว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ล้วนทำเป็นตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ส่วน สว.ที่มาจากการเลือกกันเอง จะเดินตามรอยหรือไม่ก็สุดแท้แต่

นี่คือบทบาทและภาระหน้าที่ของวุฒิสภาที่ท้าทายสภาสีน้ำเงิน ไม่ใช่แค่การแต่งตั้งองค์กรอิสระและผ่านกฎหมายเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็น ‘หางเสือ’ กำหนดทิศทางของประเทศด้วย

ส่วนใครจะปิดประตู ‘ลั่นดาล’ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หรือการนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างไร ต้องรอวัดใจสภาสีน้ำเงิน

เพราะจากนี้ไปการเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่เรียกว่าการเมืองหลังม่านแบบเต็มรูปแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์