‘วราห์’ กับภารกิจฟื้น ‘กองทุนวายุภักษ์’

5 ก.ค. 2567 - 11:01

  • ตำแหน่งกรรม ตลท. เดิมพันด้วยพลิกฟื้นตลาดหุ้น

  • วัดใจการบริหารของ ‘วราห์’

  • ภารกิจพลิกฟื้น ‘กองทุนวายุภักษ์’ กลับมาคืนชีพอีกครั้ง

election-stock-exchange-set-finansa-SPACEBAR-Hero.jpg

ในการประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 มีมติสำคัญในการแต่งตั้ง “วราห์ สุจริตกุล” เพื่อมานั่งในตำแหน่งกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทน รองนายกฯ และรมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 โดย “วราห์” จะมานั่งในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการคนก่อนหน้า คือ “พิชัย” ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คนในแวดวงตลาดทุนต่างเห็นตรงกันว่าการเข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ของวราห์ในคราวนี้ คือ การส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจากนี้ไปตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคที่จะถูกกำหนดทิศทางไปตามแนวทางของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจนมากขึ้น

เห็นได้ชัดหลังจาก รองนายกฯและรมว.คลัง พิชัย ต้องลุกออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีการแต่งตั้ง ศจ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ให้มานั่งในตำแหน่งประธานฯแทน และตามมาด้วยการเข้ามาของ อัสสเดช คงสิริ ที่ได้รับการคัดเลือกให้มานั่งในตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนที่ 14 ตามโผที่ล็อคไว้ของคนวงในของพรรคเพื่อไทย

มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ เอ็มดี คนใหม่ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่าง “กวาง” อัสสเดช ก็เคยทำงานอยู่ที่ บล.ฟินันซ่า ด้วยกันกับ “วราห์” และทั้งคู่ต่างเป็นวาณิชธนกรระดับมือต้น ๆ ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงตลาดทุนมาในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง

คาดว่าการมาของวราห์ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดทุนมากว่า 20 ปี และ บล.ฟินันซ่า ก็เป็นโบรคเกอร์ในอันดับต้น ๆ ของตลาดหุ้นไทย จึงน่าจะมีความรู้ความเข้าใจและทันเกมมากพอที่จะเข้ามาช่วยให้คำปรึกษากับ อัสสเดช ในการสะสางปัญหาวุ่น ๆ ที่เกิดจากธุรกรรมซื้อขายหุ้นในตลาดในเวลานี้ โดยเฉพาะการจัดระเบียบ วางกฎกติกา เกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อขายหุ้นให้โปร่งใส เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากกว่าที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้นภารกิจสำคัญเป็นอันดับแรกของทั้ง วราห์ และอัสสเดช คือ ต้องผลักดันการจัดตั้ง “กองทุนวายุภักษ์” กลับมาใหม่ ตามแนวคิดของ รมว.คลัง พิชัย ที่ต้องการใช้เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นตลาดหุ้นให้กลับมาคึกคัก หลังจากที่อยู่ในภาวะ “ซึมเศร้า” มานานแรมปี จนดัชนีทรุดฮวบไปอยู่แถวระดับ 1,300 จุดอยู่ในเวลานี้

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณที่มี “สุชาติ เชาว์วิศษฐ” เป็นรองนายกฯ และรมว.คลัง ในเวลานั้นได้จัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ขนาด 1 แสนล้านบาทขึ้นมา เพื่อช่วยพยุงตลาดหุ้นที่อยู่ในภาวะคล้ายกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

วราห์ ในฐานะวาณิชธนกรหนุ่มที่อยู่ในวัย 40 ปีต้น ๆ คือ คนที่มีส่วนสำคัญและทำงานร่วมกับ อัสสเดช ในการผลักดันให้เกิด กองทุนวายุภักษ์ ที่เข้ามาช่วยปลุกให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นกลับขึ้นมามีชีวิตชีวามากขึ้น โดย บล.ฟินันซ่า ได้รับการมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินร่วมกับ บริษัท เทิร์น อะราวด์ ในการออกแบบและจัดตั้งกองทุนฯนี้ และมีการแต่งตั้งให้ บลจ.กรุงไทย และ เอ็มเอฟซี เป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการกองทุนฯ

มีการนำหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่จำนวน 10 บริษัท ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย การบินไทย ปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพประกันภัย ทิพยประกันภัย กรุงเทพคลังสินค้า ปูนซิเมนต์ไทย ปูนซิเมนต์นครหลวง และฟินิกซ์พัลพ์แอนด์เปเปอร์ ที่มีมูลค่าตลาดในขณะนั้นราว 8.5 หมื่นล้านบาท มาลงในกองทุนวายุภักษ์ โดยตีราคาขายเข้ากองทุนฯที่มูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท

กองทุนวายุภักษ์ 1 ที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไป มีรูปแบบเป็นกองทุนปิด อายุ 10 ปี เปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุน โดยมีการระดมทุนเข้ามาได้ราว 7 หมื่นล้านบาท และกระทรวงการคลังนำเงินที่ขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักษ์บางส่วนจำนวน 3 หมื่นล้านบาท มาสมทบเพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม โดยมีการออกแบบให้กองทุนวายภักษ์ 1 ของประชาชนทั่วไปจะได้รับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 3%

มาถึงวันนี้ รองนายกฯและรมว.คลังพิชัย ที่ก็เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในการการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ในสมัยนั้นเช่นกัน กำลังมีแนวคิดที่จะ “ปัดฝุ่น” นำรูปแบบของกองทุนวายุภักษ์กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง จึงจำเป็นต้องอาศัย “วราห์” ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงในยุคนั้นกลับมาใช้งานอีกครั้ง เพื่อไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ 

กองทุนวายุภักษ์ จะถูกออกแบบอย่างไร ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเป็นบทพิสูจน์ที่ท้าท้าย วราห์ และอัสสเดช อีกครั้งหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ที่ดูเหมือน รัฐบาลของ นายกฯ เศรษฐา นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ ยังไม่มีผลงานด้านเศรษฐกิจ จนทำให้ตั้งแต่เศรษฐีไปจนถึงยาจกจนลงไปตามๆกัน การปลุกตลาดหุ้นให้กลับมาคึกคักใหม่อีกครั้งจึงเป็นโจทย์บังคับที่ต้องเดินและคงจะก้าวพลาดไม่ได้อีกแล้ว...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์