ประเดิมวันแรกศึกซักฟอกนัดประวัติศาสตร์กันในวันนี้ หลังฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชน จับนายกฯ Gen Y ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นขาหยั่งซักฟอกเดี่ยว ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลเพียงลำพัง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151
แต่กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ได้ ก็เล่นล่อเอาเถิดกันอยู่นาน ตั้งแต่ข้อความในญัตติจนถึงกรอบเวลาการอภิปราย และยังส่งท้ายด้วยความสมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์ของญัตติ เมื่อมีการแก้ไขด้วยการใช้ ‘ปากกาขีดฆ่า’ บางข้อความออก เติมข้อความใหม่เข้าไป โดยไม่มีการเซนต์รับรองจากผู้เสนอทุกคน
ทว่าประธานฯ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ได้ใช้อำนาจชี้ขาดสั่งบรรจุญัตติเข้าวาระไปแล้ว
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างออกมาโหมโรงกันเผ็ดร้อน โดยเฉพาะฝ่ายค้าน ถึงกับประกาศ ‘ยุทธการโรยเกลือ’ มองข้ามช็อตไปถึงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วว่า จะส่งพยานเอกสาร พยานหลักฐานต่างๆ ดำเนินการทางกฎหมายต่อไปกับนายกรัฐมนตรี
อะไรคือ ยุทธการโรยเกลือที่ว่านั้น?!
หากย้อนไปดูเนื้อหาบนหน้าสื่อ ที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เท่าที่จับสัญญาณได้ มีทั้งเรื่องความล้มเหลวในการบริหารงานผ่านทางนโยบายต่างๆ และเรื่องส่วนตัว ซึ่งเดาว่าหากจะเอาผิดทางกฎหมายตามที่ประกาศไว้ ก็น่าจะเป็นเรื่องหลัง การถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ และหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.ไว้ จำนวน 4,439,980,600.96 บาท
โดยในรายการหลังนี้ สื่อไปตรวจสอบจาก ป.ป.ช.เป็น**‘หนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน’**ชำระค่าหุ้นบริษัทในครอบครัวชินวัตร ให้แก่บุคคลในครอบครัวชินวัตร และดามาพงศ์ จำนวน 5 ราย ได้แก่
1.นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ ชำระค่าหุ้นบริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ,บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด,บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด และบริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด รวมเป็นเงิน 2,388,724,095.42 บาท
2.นายพานทองแท้ ชินวัตร ชำระค่าหุ้น บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นเงิน 335,420,541 บาท
3.นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอ ไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รวมเป็นเงิน 1,315,460,000 บาท
4.นางบุษบา ดามาพงศ์ ชำระค่าหุ้น บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นเงิน 258,400,000 บาท
5.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์ แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด เป็นเงิน 136,517,701.60 บาท
ทั้งหมดเป็นหนี้ที่เกิดจากตั๋วสัญญาใช้เงิน มูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท แบบครบกำหนดเมื่อทวงถาม ไม่มีดอกเบี้ย ประมาณว่า เป็นหนี้กันยาวๆ ไป ไม่ต้องชดใช้ ถ้าไม่ทวง
จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า การจัดการทรัพย์สินในลักษณะนี้ ถอดแบมาจากการ ‘ซุกหุ้น’ ในอดีตของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้เลขาส่วนตัว แม่บ้าน คนขับรถถือครองแทน และต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ‘บกพร่องโดยสุจริต’ หรือไม่
ทั้งนี้ เพราะการให้คนในครอบครัวและเครือญาติ ถือแแทน ณ เวลานั้น เนื่องจาก **‘อิ๊งค์-แพทองธาร’**ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และได้โอนหุ้นให้กันในเวลาต่อมา ซึ่งทำกันภายในครอบครัวญาติพี่น้อง เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทว่าทันทีที่อิ๊งค์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ตัวสัญญาใช้เงินทั้งหมดที่ทำขึ้น บางฉบับทำขึ้นในปี 2556 และบางฉบับทำขึ้นในปี 2559 นั้น
มีข้อสงสัยตามมาว่า ทำขึ้นในวันที่โอนหุ้นหรือทำขึ้นย้อนหลัง เพื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.
นอกจากนั้น การออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคาหุ้นในลักษณะนี้ ถือเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ หรือไม่ เพราะจะครบกำหนดชำระต่อเมื่อทวงถามและไม่มีดอกเบี้ย ส่วนหากจะมีการให้หรือขายในรูปแบบอื่น ก็ต้องมีภาระภาษีเกิดขึ้นจากการให้ทรัพย์สินดังกล่าว
นั่นคือ ภาษีการให้การรับ ที่จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 5 ทั้งผู้ให้และผู้รับ
ครั้นจะเรียกวิธีดำเนินการที่ว่า เป็นการ ‘วางแผนภาษี’ ก็คงหมิ่นเหม่กับคำว่า ‘เลี่ยงภาษี’ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากเรื่องของกฎหมายแล้ว ยังต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรฐานจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) คอยกำกับไว้อีกชั้นด้วย
ไม่ว่าเรื่องนี้จะอยู่ในแฟ้มซักฟอกของฝ่ายค้านหรือไม่ แต่สาธุชน วิญญูชนทั่วไป ย่อมใคร่ครวญกันเองได้ว่า พฤติกรรมที่ว่าของนายกฯ Gen Y หมิ่นเหม่หรือเข้าข่ายการซุกหุ้น ซุกหนี้หรือไม่?!