ปลดล็อก กม.ประชามติ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ง่าย?!

22 ส.ค. 2567 - 04:09

  • ผ่านไปอย่างเงียบ ๆ แต่ท่วมท้น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

  • แก้ไขใจความสำคัญให้เหลือเพียงคะแนนเสียงชั้นเดียว

  • แม้จะผ่านร่างฯเรียบร้อย แต่การแก้รัฐธรรมนูญไม่ง่ายอย่างที่คิด

government-constitution-parliament-politics-SPACEBAR-Hero.jpg

ช่วงบ่ายอ่อนวานนี้ วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 ขณะที่สังคมกำลังพุ่งความสนใจไปที่การจัดโผครม.อิ๊ง1 จะลงเอยแบบไหนอย่างไร จะมีใครพรรคไหนบ้างที่ได้ไปต่อและไม่ได้ไปต่อ

ในเวลาเดียวกัน ณ ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ...ด้วยคะแนนเสียง**‘ท่วมท้น’**จำนวน 408 เสียง จากผู้ลงมติ 410 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

ทำให้การแก้ไขกฎหมายประชามติ หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่รัฐสภาในยุค คสช.วางกลไกเอาไว้ซับซ้อน โดยเฉพาะเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น เพื่อเป็นหลักประกันการออกเสียงประชามติในเรื่องสำคัญๆ จะต้องเป็นความเห็นพ้องร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ เท่านั้น

แต่เมื่อฝ่ายการเมืองเกรง ‘ตกม้าตาย’ ในการลงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเริ่มต้นที่การแก้ไขกฎหมายประชามติก่อน โดยปรับเกณฑ์จากเดิมให้เหลือเสียงข้างมากเพียงชั้นเดียวพอ

นอกจากนั้น ยังเพิ่มเติมประเด็นอื่นๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายไปด้วย อาทิ การออกเสียงประชามติในคราวเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่จะมีขึ้น รวมทั้ง สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย

เอาเป็นว่า หัวใจสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้อยู่ที่ ‘มาตรา 6’ ซึ่งเป็นการแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ออกเสียงที่เป็นข้อยุติ ซึ่งพ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิม กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ผู้มาออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ 

โดยแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และให้เป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ทำประชามตินั้นด้วย กล่าวคือ เสียงข้างมากที่เห็นชอบ ต้องมีมากกว่าผู้ที่ลงคะแนนในช่อง ‘งดออกเสียง’

ส่วนที่เหลือน่าจะเป็นประเด็นปลีกย่อย เช่น การกำหนดกรอบเวลาการออกเสียงประชามติต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วัน นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการสงวนความเห็นจากสส.พรรคภูมิใจไทย ที่ให้เพิ่มหลักเกณฑ์ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์ที่ใช้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน 

แต่ประเด็นดังกล่าวตกไปเพราะที่ประชุมไม่เห็นด้วย

ทีนี้มีประเด็นที่ ‘ขัตติยา สวัสดิผล’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไว้ตอนหนึ่งของการพิจารณาในวาระ 2-3 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า

‘การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอวิกฤตของปัญหา โดยหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาพบประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญ คือ ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค สั่งให้นายเศรฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และคำถามที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผชิญคือกังวลว่าจะซ้ำรอยการหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ โดยเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยไร้เสถียรภาพ บริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นวิกฤตที่มีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้เป็นจริงใน 4 ปี’

หลังร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ..ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นวันอังคารที่ 27 สิงหาคมนี้ เพื่อเร่งพิจารณาให้เสร็จทันการทำประชามติครั้งแรกในราวเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้

การแก้ไขกฎหมายประชามติ ที่ไป ‘ปลดล็อค’ เสียงข้างมากสองชั้น แม้กลุ่มอดีตสว.ในวุฒิสภาชุดที่แล้ว จะมีความห่วงใยต่อการทำประชามติ ที่สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่พลิกฝ่ามือ และสุ่มเสียงต่อการไปปรับเปลี่ยนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เป็นรัฐธรรมนูญ**‘เอื้อต่อการโกง’**แทน

ที่สำคัญเกรงกระทบและไปลิดรอนสถาบันหลักของชาติในหลายประเด็นนั้น

ไปไล่เรียงดูขั้นตอนต่างๆ แล้ว คงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะถึงแม้การออกเสียงประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะผ่านครั้งที่ 1 ไปได้ ก็ยังมีครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 และมีอีกหลายด่านที่ต้องผ่าน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่จะเปิดประตูไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ที่ต้องใช้เสียง สว.ให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงขึ้นไป

แค่ด่านแรก ยังไม่รู้จะผ่านปราการอันแข็งแกร่งของ สว.สีน้ำเงินไปได้หรือเปล่า เพราะฉนั้น ไม่ว่าสภาล่างจะผนึกหรือผสมกันกี่สีก็ตามแต่ หากสภาสีน้ำเงินไม่เอาด้วยก็ไปต่อไม่ได้

แม้ปลดล็อคกฎหมายประชามติได้ก็จริง แต่โอกาสจะได้จัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 21 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างที่มีผู้อภิปรายไว้ในสภา

คงไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์