ดิจิทัลวอลเล็ต คนคิดเกม ก็แพ้ได้

19 เมษายน 2567 - 08:18

government-thailand-digital-wallet-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นโยบายเงิน 10,000 ดิจิทัลของรัฐบาลกลายเป็นแผลลุกลาม

  • มีการปรับแผน แหล่งเงิน การใช้หลายครั้งแต่ไม่ลงตัว

  • โมเดลล่าสุด จะใช้เงิน ธ.ก.ส. ก็ยังมีข้อกฎหมายให้ตีความว่าทำได้หรือไม่

รัฐบาลฝืนเล่นท่ายาก ดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะคิดว่า ‘คนคิดเกมคือผู้ชนะ’ แต่สุดท้ายอาจเจอใบแดง ไล่ออกจากสนาม

‘รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ คงถูกผู้มากบารมีที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ เป่ากระหม่อม สะกดวิญญาณมาเป็นอย่างดี จึงสามารถถอดจิต กำหนดแนวคิดของการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มาได้ชนิดไม่ตกหล่น จนถึงกล้าประกาศว่าโครงการนี้จะเป็นครั้งแรกของโลก ในการทำนโยบายการคลัง ที่ใช้นวัตกรรมการทางการเงินใหม่ๆ และมั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นจากภาวะซึมตามทฤษฎี ‘ต้มกบ’  

เมื่อตัดสินใจที่จะทำโครงการนี้ตามความเชื่อผิด ๆ ว่า ‘คนคิดเกมคือผู้ชนะ’ ถึงแม้การออกแบบและลงมือปฎิบัติให้เกิดขึ้นจริงจะต้องใช้ ‘ท่ายาก’ ขนาดไหน รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาผ้าขาวม้าหลากสีจึงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องเดินลุยแก้ปัญหาไปทีละเรื่อง ทำให้มีสภาพไม่ต่างกับ ‘ลิงแก้แห’ อย่างที่เห็นทุกวันนี้

ตั้งแต่วันแรกที่แถลงนโยบายในสภาผ่านมากว่า 7 เดือน ยิ่งนานวันน้ำในหม้อต้มกบก็เริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้ถึงจุดเดือดเข้าไปทุกที จนชาวบ้านเริ่มหมดศรัทธาถามกันให้แซดว่าจะแจกเงิน กี่โมง..

ล่าสุดถึงแม้จะกำหนด ‘ไทม์ไลน์’ ใหม่ว่าจะแจกเงินได้ในไตรมาสสุดท้าย แต่จะมีสักกี่คนที่มั่นใจแม้แต่ตัว นายกฯ เศรษฐาและ รมช.จุลพันธ์ ลึก ๆ แล้วก็คงไม่มั่นใจสักเท่าไร สังเกตได้จากยังไม่สามารถให้ความชัดเจนได้สักเรื่องแม้แต่เรื่องแหล่งเงิน

ในการจัดหาแหล่งเงินจำนวนถึง  5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 5 แสนล้านบาทนั้น เมื่อตัดสินใจ ‘ล้มแผน’ ในการออก พ.ร.บ.เงินกู้ รัฐบาลก็ต้องพลิกแผนเปลี่ยนมาใช้รูปแบบ ‘ไฮบริด’ ผสมผสานจากเงิน 3 ก้อนคือ 

จากงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท งบปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และส่วนสุดท้าย จะใช้กลไกของธนาคารเฉพาะกิจอย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ในการเข้ามาสนับสนุนจัดทำโครงการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทให้กับเกษตรกรที่อ้างว่ามีราว 17.23 ล้านคน คิดเป็นวงเงินสูงถึง 172,300 ล้านบาท 

รัฐบาลอาจจะกำหนดกรอบวงเงินในการดึงเงินมาจากทั้ง 3 แหล่งไว้แล้ว แต่ในทางปฎิบัติกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะเงินในส่วนที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดคือการใช้เงินจาก ธ.ก.ส. ที่ยังมีปัญหาว่าจะขัดวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อ ‘แจกเงิน’ หรือไม่?

ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการใช้กลไกของธนาคารเฉพาะกิจเพื่อมาดำเนินโครงการ ตามมาตรา 28 ของ ‘พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง’ ที่เปิดทางให้ใช้นโยบายกึ่งการคลังดำเนินการได้ แต่ตามมาตรานี้มีการระบุชัดเจนว่า 

จะทำได้เฉพาะอยู่ในหน้าที่ อำนาจตามกฎหมายและขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้น เพื่อฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน’

หากถอดรหัสจากคำให้สัมภาษณ์ของ รมช.จุลพันธ์ รัฐบาลจะไม่ใช่คนที่จะไปยืมเงินหรือกู้เงินมาจากธ.ก.ส.เพื่อมาใช้ในโครงการนี้ แต่จะเป็นการมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการแจกเงินให้กับเกษตรกรไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบชดเชยคืนให้ในภายหลังปีละ 6-8 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี 

‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขยายความในเรื่องนี้ว่า 

‘ในการทำโครงการจะต้องมีการกำหนดรายละเอียดของโครงการ เพื่อให้คณะกรรมการ ธ.ก.ส.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป ’

หากเข้าใจตามนี้ คำถามสำคัญก็คือ การแจกเงินคนละหมื่นบาทในรูปเงินดิจิทัลให้กับเกษตรกรจำนวนถึง 17.23 ล้านคน จะสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ ตามพ.ร.บ.การจัดตั้ง ธ.ก.ส.หรือไม่

ถึงแม้จะมีการอ้างวัตถุประสงค์ แบบ ‘เลี่ยงบาลี’ ว่าเป็นไปตามมาตรา 9 (1) ที่ระบุให้ ธ.ก.ส.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร ตามข้อ ค. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่ข้อความวรรคสุดท้ายของ มาตรา 9 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กระทำได้เท่าที่กําหนดในกฎกระทรวง

ปัญหาคือในกฎกระทรวงเมื่อปี 2556 ที่ลงนามโดย **‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’**รมว.คลังในสมัยอดีตนายกฯปู ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ถึงแม้จะระบุวัตถุประสงค์ ให้ ธ.ก.ส.สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคูณภาพชีวิตเกษตรกร ในการจัดหาปัจจัยอื่นๆที่จะเป็นในการดำรงชีวิต แต่ต้องเป็นการให้กู้เงิน โดยรวมกันไม่เกิน 20% ของเงินที่ ธ.ก.ส.ให้กู้ในแต่ละรอบปีบัญชี ไม่ใช่การแจกเงินให้กับเกษตรกร 

เจอท่ายากระดับ10 เข้าไปแบบนี้ รัฐบาลก็ชักไปไม่เป็นเหมือนกัน เพราะ บอร์ด ธ.ก.ส.เองก็คง ‘ไม่อยากเอาเท้าข้างหนึ่งไปไว้หลังลูกกรง’ เพราะเห็นตัวอย่างมาแล้วจาก กรณีโครงการรับจำนำข้าว และคงต้องโยนเรื่องไปให้กฤษฎีกา ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลช่วยให้ความเห็นในเรื่องนี้แน่ ๆ ที่อาจจะทำให้รัฐบาลเดินไปถึงทางตันอีกครั้ง

ยังไม่รู้ว่า รัฐบาลจะ ‘ผืน’ เล่นท่ายากแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนกว่าจะตระหนักได้ว่า ‘คนคิดเกมไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป’ หากไม่ได้เขียนกติกาขึ้นมาใหม่เสียเอง และสุดท้ายนอกจากจะต้องพ่ายแพ้แล้ว ยังอาจโดนใบแดงไล่ออกจากสนาม แถมถูกเสียงกองเชียร์ ‘โห่’ สาปส่งไล่หลังเอาก็เป็นได้...

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์