สัญญาณอันตรายทางการเมือง 5 เรื่องก่อนหน้านี้ใน EP.1 ทั้งประเด็นทลายขบวนการร้องและเรียกของ “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา, ประเด็นรุกฆาตทวงคืนธุรกิจกองทัพ, ประเด็นคนชั้น 14, ประเด็นอ่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทั่งประเด็นรอยร้าวในสำนักปทุมวัน
ทั้ง 5 เรื่อง แม้จะดูร้อนแรงและมีการเชื่อมโยงกันแบบผิดสังเกต
แต่ถ้าติดตามอีก 5 เรื่องร้อนก่อนเดือนเมษาฯ ความร้อนแรงของประเด็นจะยิ่งมากด้วยความเข้มข้น มากด้วยความซับซ้อน
และอาจมากด้วยแรงปะทุขนาดใหญ่ทันทีที่ประเด็นทั้ง 5 เรื่องนี้สุกงอมเต็มที่
สองประเด็นแรก ทั้งเรื่องเงินดิจิทัล และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นประเด็นที่เหมือนจะเชื่อมโยงกันแบบเห็นได้ชัด
ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นนโยบายที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ใช้ในการหาเสียงมาโดยตลอด และทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ออกมายืนยันที่จะขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้เห็นผล แม้จะเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วน

ดิจิทัลวอลเล็ต ดูจะเป็นประเด็นเดียวที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลและวุฒิสมาชิก มีความเห็นตรงกัน และแสดงท่าทีคัดค้านอย่างหนัก
แม้แต่ ป.ป.ช.ที่เป็นหน่วยงานด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยังส่งสัญญาณแรงๆมายังรัฐบาลขอให้รอบคอบในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้
แต่ที่ขัดแย้งกันหนัก จนเป็นประเด็นร้อนผ่านสื่อ น่าจะเป็นท่าทีระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะนายเศรษฐาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่โต้ตอบกันผ่านสื่อค่อนข้างรุนแรง

แม้จะมีการพบปะพูดคุยระหว่างกัน แต่กระแสความคุกรุ่น ระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติก็ยังไม่มีวี่แววจะลดดีกรีความขัดแย้งลง
ทั้งผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบัน และอดีตผู้ว่าฯ ทั้ง วิรไท สันติประภพ, ธาริษา วัฒนเกส ต่างประสานเสียงกันเป็นเสียงเดียว “ไม่เห็นด้วย” และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่ต้องใช้เงินงบประมาณถึง 5.6 แสนล้านบาท เพราะจะกระทบต่อสถานะการคลังของประเทศอย่างหนัก
การประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้ง ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ และ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต่างก็เลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์สื่อ และที่ประชุมก็มีมติให้ ‘ลวรณ’ ไปหารือแนวทางดำเนินการกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้งภายใน 30 วัน
ประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต และประเด็นความเห็นต่างระหว่างระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติ เป็น 2 ประเด็นร้อน ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล
เป็น 2 ประเด็นร้อนที่เชื่อมโยงกันไปถึงสถานการณ์การเมืองในเดือนเมษายน ที่วันนั้นคนชั้น 14 ออกมานั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านพักแล้ว

เป็น 2 ประเด็นร้อนที่คอการเมืองจับจ้องไปถึงขั้นอาจมีการ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” หรืออาจทำให้มีการทวงสัญญาที่เคยตกปากรับคำกันไว้ก่อนเลือกตั้งถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
เพราะอีกฝ่ายอาจใช้จังหวะที่พรรคเพื่อไทยเริ่มสั่นคลอน ส่งสัญญาณทวงสัญญาแบบเข้มข้น
โดยเฉพาะเมื่อวันนี้ “ฝันพี่ใหญ่ยังไม่จริง”
ทั้ง 2 ประเด็นร้อน ก็ยังเป็นท่าทีที่โยงมาถึงอีกประด็นร้อนที่ส่อเค้าจะรุมเร้าเข้ามาในช่วงนี้ เมื่อแว่วมาว่า ทันทีที่คนชั้น14 ได้กลับออกมาพักโทษอยู่ที่บ้าน การขยับหมากทางการเมืองครั้งใหญ่ก็จะเริ่มเกิดขึ้น
หมากบางตาอาจถูกหยิบขึ้นมาใช้ก่อนเวลา เพื่อเร่งเกมกระชับอำนาจ และเป็นหมากที่เตรียมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินหากจำเป็นต้องล้มดีล หรือขอยกเลิกสัญญาที่เคยให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะเป็นดีลลับครั้งแรกก่อนรู้ผลการเลือกตั้ง หรือดีลลับครั้งที่สอง หลังรู้ผลการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ แต่กลับเป็นพรรคก้าวไกลที่เกือบแลนด์สไลด์เข้ามาแทน
ทั้งสองดีลแม้จะมีรายละเอียดต่างกัน แต่สาระสำคัญคล้ายคลึงกัน ต่างกันแค่ตัวบุคคล เพราะเน้นที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ดีล

ดีลแรก ‘สานฝันพี่ใหญ่’ ที่ขอเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวสักครั้งในชีวิต หลังจากเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ดีลล้มไป หลังพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จนต้องหลีกทางให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลก่อน
ดีลครั้งนั้นเกิดขึ้นบนสมการที่เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ และจะขอใช้เสียงสนับสนุนจากสว.ไม่มากนัก ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่า สว.สายพี่ใหญ่ก็น่าจะมีเสียงเพียงพอที่จะยกมือสนับสนุน
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เสียง สส.มาเป็นอันดับสอง ดีลนี้ก็เหมือนจะถูกยกไป จนเมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดีลที่สองจึงเกิดขึ้น

ดีลหลังไม่มีใครยืนยันได้ว่ารายละเอียดที่แท้จริงคืออะไร เพราะคนที่ร่วมพูดคุยบนโต๊ะอาหารที่ฮ่องกงมีไม่มากนัก และมีเพียง 4 คนที่รู้ลึกถึงรายละเอียดในทุกข้อเจรจา
ดีลหลังถูกโยงไปเกี่ยวพันกับการทลายขบวนการนักร้องของ “พี่ศรี” ที่นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า เพื่อต้องการดิสเครดิต พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะ “ลุงตุ๋ย” เป็นหนึ่งในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่พร้อมถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทันที หากมีกรณีฉุกเฉิน

การไปรอควบคุมตัว ยศวริศ ชูกล่อม หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” ถึงทำเนียบรัฐบาล ถูกโยงว่าต้องการดิสเครดิตพีระพันธ์ให้มัวหมอง เพราะเจ๋งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของนายพีระพันธ์ และพยายามทำให้เห็นว่า นายพีระพันธ์คือตัวละครในดีลลับครั้งที่สอง ที่จะสลับขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาก่อนเดือนพฤษภาคม อันเป็นช่วงที่ สว.ชุดนี้จะครบวาระ และเป็นช่วงที่ สว.จะหมดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ซึ่งจะเป็นประเด็นร้อนที่จะเป็นประเด็นใหญ่ก่อนเดือนเมษาฯ ที่ส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองที่ต้องติดตามห้ามกระพริบตา
EP.หน้า จะลงรายละเอียดใน 2 ประเด็นใหญ่การเมืองไทย ก่อน สว. จะครบวาระ และเบื้องหลังท่าทีการออกมาเคลื่อนไหวที่กระทบต่อสถาบัน
ใครกัน…ที่หวังผลทางการเมือง?