การประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ITD หรือ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ในวันนี้ (17 มกราคม 2567) สำหรับหลายคนอาจจะมองว่าเป็นจุดชี้ชะตาว่า อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จะยังได้ไปต่อ หรือพอแค่นี้
แต่ความจริง เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่อาจจะดำเนินไปสู่จุดจบ และวิกฤตเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ก็เป็นได้ เพราะปัญหาของ ITD ใหญ่กว่าที่หลายคนคาดคิดมาก
ภาพที่เราเห็นในเวลานี้เป็นเพียงส่วนยอดของปลายภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เป็นปัญหาขึ้นมาเหนือผืนน้ำ แต่ยังคงมีปัญหาใหญ่กว่าและยากยิ่งกว่าที่รอการแก้ไขอยู่ใต้น้ำที่อาจจะยังดูนิ่งสงบ เพราะปัญหา ITD ไม่ไช่เพียงแค่เรื่องเจ้าหนี้หุ้นกู้จะยอมให้ เลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ 2 ปี ทั้ง 5 รุ่น วงเงินรวม 1.45 หมื่นล้านบาท แลกกับการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มจากราคาหน้าตั๋วเดิมอีก 0.25-0.50% หรือไม่?
ลำพังเรื่องการวิ่งหาเงินราว 800-900 ล้านบาท มาจ่ายดอกเบี้ยให้กับหุ้นกู้ที่ครบกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอันดับ 1 ของไทย หากมองอย่างผิวเผินไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเกินความสามารถของคนระดับเจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต แต่ในสถานการณ์ของ ITD ในตอนนี้ กลับเป็นเรื่องที่แสนยาก และอาจจะเกินกำลังของเขาก็เป็นได้
ที่ต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะหากไปควักดูไส้ในของ ITD แล้วอาจจะต้องตกใจแทบตกเก้าอี้ เพราะฐานะการเงินของอิตาเลียนไทยฯตอนนี้สาหัสมาก เนื่องจากมีปัญหาหนี้สะสมก้อนมหึมาสูงถึงราว 1.08 แสนล้านบาท ที่กลายเป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่รอวันระเบิด ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจไทยเกินกว่าจะคาดคิด
หนี้ทั้งหมดครึ่งหนึ่งมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย คือหนี้เงินกู้ 4-5 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ราว 3.6 หมื่นล้านบาท และหนี้หุ้นกู้อีกราว 1.45 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเจ้าหนี้การค้าอีกราว 2.6 หมื่นล้านบาท กับหนี้บรรดาซัพพลายเออร์ อีกก้อนหนึ่ง
ไม่เพียงมีภาระหนี้สูงเป็นภูเขาน้ำแข็งลูกมหึมา ซ้ำร้ายงบการเงินของ ITD ช่วง 5 ปีย้อนหลังก็ถือว่าย่ำแย่ เพราะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีรายได้ต่อปีระดับ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ก็ขาดทุนมาต่อเนื่อง เพิ่งเริ่มกลับมามีกำไรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ราว 379 ล้านบาท
ต้องยอมรับว่า ผลจากวิบากกรรมเรื่อง คดีฆ่าเสือดำ ทำให้เจ้าสัวเปรมชัย ที่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณ และทุกอย่างของอิตาเลียนไทยฯ ต้องวางมือไปจากการบริหารในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้ ITD เปรียบเสมือนเรือขาดหางเสือ และเกิดอาการชะงักงัน เพราะขาดผู้นำที่จะตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่ถาโถมเข้ามาชนิดแทบไม่ทันตั้งหลัก
ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยลบจากภายนอกหลายอย่างที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจของ ITD ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เรื่องโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบถึงต้นทุนในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ
ในเวลาเดียวกันโครงการเมกะโปรเจคหลายๆโครงการก็ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย โครงการรถไฟความเร็วสูง ไปจนถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้งโครงการเหมืองโปแตช ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
ยิ่งไปกว่านั้นผลจากการที่ ITD หันมาใช้วิธีระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ในช่วง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ก็กลับกลายเป็นภาระหนักในเวลานี้ เมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเริ่มกลับทิศทาง และกลายเป็นเรื่องยากลำบากในการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อนำไป Roll Over ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม
เพราะเหตุนี้ ทำให้สภาพคล่องของบริษัทตึงตัวอย่างมาก คือมีเงินสดในมือ 4.6 พันล้านบาท มีวงเงินโอดีเหลืออีก 8.2 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานราว 5 พันล้านบาท แต่มีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้ารวมกันสูงถึง 2.64 หมื่นล้านบาท ทั้งหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2 พันล้านบาท เงินกู้จากธนาคาร 2.32 หมื่นล้านบาท และหนี้สินจากสัญญาเช่าและหนี้สินทางการเงินอื่น ๆ อีก 1.2 พันล้านบาท
แต่ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น มาถึงนาทีนี้เชื่อกันว่า คนที่ทุกข์หนักที่สุดในตอนนี้ไม่ใช่ เจ้าสัวเปรมชัย แต่กลับกลายเป็นบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ๆทั้งหลายที่เคยเป็นแหล่งทุนให้กับ ITD ไม่ว่าจะเป็นแบงก์กรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย และ ไทยพาณิชย์ ต่างกุมขมับว่าจะตัดสินใจอย่างไร?
แนวคิดเรื่อง ‘Too Big to Fail’ เริ่มถูกนำกลับมา อธิบายถึงสถานการณ์ของ ITD ในเวลานี้ เพราะหากปล่อยให้อิตาเลียนไทยฯล้ม นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้แล้ว ยังกระทบเป็นโดมิโน หรือ ลูกระนาดไปถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งระบบ แรงงาน และบรรดาโครงการรับเหมาขนาดใหญ่ของรัฐบาล
เชื่อกันว่าตอนนี้แบงก์เจ้าหนี้มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ ยอมให้ ITD ได้ไปต่อ อัดฉีดเม็ดเงินกู้ก้อนใหม่ราว 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้หุ้นกู้และหนี้ระยะสั้นอื่นๆ ควบคู่ไปกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็คงช่วยได้แค่ประคองสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ยังไม่ถือว่ากลายเป็นหนี้เสียที่แบงก์ต้องกันสำรองหนี้เพิ่ม
ขณะเดียวกันในแง่การดำเนินธุรกิจของ ITD ระยะต่อไป ก็ไม่ติดข้อจำกัด เช่นการเข้าประมูล (bid) งานจากภาครัฐที่อาจติดขัดเรื่องคุณสมบัติการเข้าประมูลงาน
ส่วนอีกทางเลือก คือ การเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการฯโดยยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อเปิดทางให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการลดหนี้ ยืดหนี้ และ ขายสินทรัพย์บางอย่าง รวมทั้งการเพิ่มทุน โดยดึงทุนใหม่ที่น่าจะมีกลุ่มที่สนใจเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุน เพราะอิตาเลียนไทยฯ ยังมีสินทรัพย์ฯ และโครงการก่อสร้างในมืออีกเป็นจำนวนมาก
ถึงแม้ตอนนี้เสียงจากแบงก์ใหญ่ทั้ง 4 แห่งยังก้ำกึ่ง แต่เชื่อว่าท้ายที่สุด บทสรุปในตอนจบ ITD ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีอายุยาวนานมาถึง 70 ปี ก็คงไม่มีทางออก นอกจากยอมหมอบเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯในที่สุด..