เปิดตัว ‘เก๋าหยก’ ซีพี อย่าให้ซ้ำรอยหมอสีคางดำ

19 ก.ค. 2567 - 09:12

  • การคุมคามระบบนิเวศจากปลาหมอสีคางดำยังไม่จบ

  • จับตา ปลาเก๋าหยก อีกหนึ่งสายพันธุ์จากซีพี

  • พับโครงการไปแล้ว แต่ต้องดูว่ามีหลุดลงแหล่งน้ำหรือไม่

jade-grouper-fish-SPACEBAR-Hero.jpg

ซีพี ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีลงทุนกับ อาร์แอนด์ดี การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เป็นกุญแจก้าวสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมการเกษตร

การพัฒนาพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์  เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูง เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนในรูปแบบอุตสาหกรรมครบวงจร นอกจากส่งเสริมงานวิจัยเมล็ดพันธุ์พืชไร่ที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์อย่างข้าวโพด ถั่วเหลืองแล้ว กลุ่มซีพี ยังเป็นผู้ ‘ปฎิวัติ’ รูปแบบการเลี้ยงปศุสัตว์อย่าง หมู ไก่ ในรูปแบบ ‘เกษตรพันธสัญญา’  และนำไปสู่รูปแบบของอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค

4 ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มซีพียังรุกคืบมาสู่ ‘ธุรกิจสัตว์น้ำ’ จากการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จนทำให้ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงและกลายเป็นส่งออกกกุ้งรายใหญ่ของโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ซีพี ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ ‘ปลาทับทิม’ นำพันธุ์ปลานิลจากหลากหลายแหล่งทั่วโลกทั้งจากอิสราเอล ไต้หวัน และสหรัฐฯ มาพัฒนากับพันธุ์ปลานิลของไทย จนสามารถนำไปเพาะเลี้ยงเป็น ‘ปลาเศรษฐกิจ’  ที่คนไทยนิยมบริโภคได้อย่างน่าชื่นชม 

ซีพี เริ่มงานวิจัยและนำเข้าพันธุ์ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ มาจาก กานา แอฟริกา ในราวปี 2549 โดยตั้งใจจะนำมาเพื่อช่วยผสมและพัฒนาพันธุ์ปลานิลให้มีความต้านทาน ต่อโรคในสัตว์น้ำมากขึ้น และในปี 2553 มีการยื่นขอนำเข้าพันธุ์ปลามาราว 2,000ตัว กับ ‘คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC)’  และนำไปเพาะเลี้ยงพัฒนาสายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและเพาะเลี้ยง อัมพวา สมุทรสงคราม 

ตามปกติเมื่อมีการนำเข้ามา IBC จะมีกฎระเบียบที่จะต้องให้มี ‘การเลี้ยงในระบบปิด’  และรายงานผลการทดลองในรูปแบบเอกสารเป็นระยะ รวมทั้งต้องมีระบบการ ‘ป้องกันไม่ให้การหลุดรอด’ ลงไปในแหล่งน้ำอย่างเด็ดขาด

แต่หลังจากนำเข้ามาได้ไม่นาน มีการแจ้งโดยวาจา โดยไม่มีการจัดทำรายงานอย่างเป็นทางการจากกลุ่มซีพีว่าปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบหมด จึงทำลายปลาส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงซากในขวดโหลเพียงราว 50 ตัว ทำให้คาดว่าการวิจัยอาจล้มเหลว

แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวปี 2555 เริ่มมีสัญญาณที่นำไปสู่ ‘หายนะ’ กับสัตว์น้ำไทย เมื่อมีเกษตรกรในพื้นที่อัมพวา สมุทรสงคราม พบการ ‘แพร่ระบาด’ ของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก และจากจุดนั้นก็เริ่มลุกลามกระจายไปในแหล่งน้ำพื้นที่อื่นๆตามแนวชายฝั่งทะเลทั้งตะวันออก และตะวันตกของอ่าวไทย จนมาถึงตอนนี้มีการพบปลาหมอสีคางดำถึง 13 จังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลไทย

ปลาหมอสีคางดำ เป็นหนึ่งในพันธุ์สัตว์น้ำ ‘เอเลียนสปีชีส์’ ที่สุดอันตราย เพราะมันจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กจนหมด และยังสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สร้างความเสียหายให้กับแหล่งสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่ง และกำลังทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง จนภาครัฐคือกรมประมงต้องมีมาตรการที่จะเร่งรณรงค์ ‘กำจัดปลาหมอสีคางดำ’ กันทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ 

ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าปลาหมอสีคางดำที่หลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นมาจากไหน แต่ทั้งหมดยังเป็น **‘ปริศนา’**ลึกลับที่ไร้คำตอบที่ชัดเจน 

นอกเหนือจากงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ปลาหมอสีคางดำที่เลิกไปแล้ว ซีพี ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ ‘ปลาเก๋าหยก’ โดยหวังจะเป็นพันธุ์ปลาเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง 

‘ปลาเก๋าหยก’ เป็นพันธุ์ปลาที่อยู่ในสายพันธุ์เอเลียนสปีชีส์ของปลากะพง โดยซีพี มีการนำสายพันธุ์มาจากออสเตรเลีย ที่มีความอันตราย และน่ากลัวพอๆกับปลาหมอสีคางดำ คือมันจะกินสัตว์น้ำและพืชน้ำขนาดเล็กทุกอย่างเหมือนกัน 

ซีพี เคยนำ เก๋าหยกมาเปิดตัวในงานเกษตรแฟร์ เมื่อต้นปีที่แล้ว แต่เมื่อมีคนสงสัยสอบถามไปยังกรมประมง ซีพีจึงพับแผน ‘ชะลอการเปิดตัว’ ออกไปโดยไม่มีกำหนด ทำให้ไม่แน่ใจว่ามีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ หรือมีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงไปถึงระดับไหน

หวังว่าเก๋าหยก จะไม่มาแนวเดียวซ้ำรอยกับกรณีปลาหมอคางดำ ที่ถึงแม้ซีพีจะยืนยันว่า กำจัดไปหมดเมื่อ13 ปีที่แล้ว  แต่ทำไมจึงยังว่ายวนเวียนอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ล่าสังหารปลาและกุ้งเป็นอาหาร จนส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศอยู่ในขณะนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์