ประเทศไทยขึ้นชื่อในเรื่อง การทุจริตคอร์รัปชั่น มีนวัตกรรมในการหาช่องโหว่ ‘คอร์รัปชั่น’ เงินหลวง ได้อย่างแสนพิสดารและแยบยลจนน่าตกใจ
ที่ต้องบอกอย่างนี้ เพราะแทบไม่น่าเชื่อว่า ถึงแม้จะมีนโยบายที่ดี ที่ต้องการส่งเสริมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในเรื่องของ**‘นวัตกรรม’** ผ่านการขึ้น **‘บัญชีนวัตกรรมไทย’ ** แต่ก็ยังโดน ‘สุดยอดนักคิดค้นนวัตกรรมด้าน คอร์รัปชั่น’ บางกลุ่มอาศัยเป็น **‘ช่องโหว่’ ** นำไปใช้ในการหาประโยชน์เข้ากระเป๋าของภาคธุรกิจ และบรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันจนพุงกางไปตาม ๆ กัน
สำนักข่าวอิศรา เพิ่งออกมาเปิดเผยในเรื่องนี้ว่า มีสินค้าในบัญชีนวัตกรรมจำนวน 3 ชนิด คือ โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียว (All In One Solar Street Light) ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifsying Unit) ซึ่งถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่าอยู่ในข่ายส่อเป็นสินค้าบัญชีนวัตกรรม ที่มีความเสี่ยงต่อการผูกขาด และการคอร์รัปชั่น จากช่องโหว่ในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ย้อนกลับไปในช่วงของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. ที่มี ‘ลุงตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดเรื่องการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย โดยใช้ตลาดภาครัฐนำร่องเป็นฐานลูกค้าสำคัญให้เอกชนที่คิดค้นและผลิตสินค้านวัตกรรม ผ่านการขึ้น ‘บัญชีนวัตกรรมไทย’ โดยให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการขึ้นบัญชีโดยมีอายุคราวละ 8 ปี
ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมให้ภาครัฐจัดซื้อสินค้าหรือบริการในบัญชีนวัตกรรมไทยได้ไม่น้อยกว่า 10% แต่ไม่เกิน 30% ของงบประมาณที่ได้รับโดยสามารถจัดซื้อด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงเป็น ‘กรณีพิเศษ’ โดยไม่ต้องประมูล ซึ่งกลับกลายเป็นช่องโหว่ทีทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ
ในช่วงตั้งแต่ปี 2562 -2565 ในรายงานการตรวจสอบข้อมูลสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทยที่มีความเสี่ยงต่อการผูกขาด ของ ป.ป.ช.พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)’ หลายแห่งทั่วประเทศ มีการจัดซื้อสินค้าเหล่านี้จำนวนมาก คิดเป็นมูลค่ารวม ๆ กันเกือบ สองพันล้านบาท !!!
เฉพาะในส่วนโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียว มีการจัดซื้อเป็นจำนวนมากถึง 1,400 ล้านบาท ระบบผลิตน้ำประปา 426 ล้านบาท และ ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ 156 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่าเฉพาะโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียว (All In One Solar Street Light) ที่ ถูกขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย โดย ‘บริษัท เลคิเซ่ ไลท์ติ้ง จำกัด’ มีผู้แทนจำหน่าย 2 ราย ได้แก่ ‘บริษัท โซดิแอคท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด’ และ ‘บริษัท ธรรมศักดิ์ จำกัด’ ปรากฏว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อจัดจ้างสินค้าดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 60 โครงการ ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,400,330,870 บาท
โดยมี บริษัท โซดิแอคท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลมากที่สุดจำนวน 56 โครงการ มูลค่า 1,349,863,870 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของโครงการทั้งหมด ส่วนบริษัท ธรรมศักดิ์ จำกัด ได้รับงานไปจำนวน 4 โครงการ วงเงิน 50,470,000 บาท
ส่วนโครงการระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย โดย ‘บริษัท คิดพร้อมทำ จำกัด’ มีผู้แทนจำหน่ายแบบผูกขาดรายเดียว คือ ‘บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด’ พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 88 โครงการ ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 426,659,927.35 บาท โดยมี บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด เหมางานแบบผูกขาดไปทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifsying Unit) ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยโดย ‘บริษัท อีเกิ้ล ดรีม จำกัด’ โดยมี ‘บริษัทวอเทอร์ป๊อก จำกัด’ เป็นผู้แทนจำหน่าย พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดซื้อสินค้าดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 255 โครงการ ใน 10 จังหวัด ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น156,551,000 บาท โดยมีจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดบึงกาฬที่มีการจัดซื้อ สินค้าดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำหน่ายโดย ‘บริษัท อีเกิ้ล ดรีม’ จำกัด ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง
เทคนิคในการทำมาหารับประทานก็แสนง่าย ขอแค่ไปยื่นขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้ หลังจากนั้นก็ให้ตัวแทนอาศัยเส้นสาย คอนเนคชั่นกับผู้บริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่นไปเสนอขายโดยไม่ต้องประมูล หรือมีคู่เทียบให้วุ่นวาย เนื่องจากอาศัยช่องโหว่ของระเบียบที่เปิดช่องให้ซื้อโดยวิธีพิเศษ แจกถุงขนม หรือส่วนต่างให้ผู้มีอำนาจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกอย่างก็ลื่นไหล รับประทานคล่องกันทั้งคนซื้อคนขาย
เพราะอย่างนี้จึงไม่น่าประหลาดใจที่เราจะเห็น เสาไฟฟ้าหน้าตาพิลึก ๆ ที่มีหัวเสาเป็นสารพัดสัตว์ป่าในหิมพานต์ แต่กลับมีแผงโซลลาเซลล์ยื่นเป็นติ่งออกมาแสนอุดจาดสาย ติดตั้งอยู่ตามถนนสายหลัก ๆ เกลื่อนเขตเทศบาล อบจ. หรือ อบต.ตามต่างจังหวัด ชนิดถี่ยิบจนกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ประจำท้องถิ่นของไทยไปแล้ว เช่นเดียวกับ โครงการผลิตน้ำประปา และ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่บรรดา อปท.ทุกแห่งต่างลุกขึ้นมาแย่งจัดซื้อจัดจ้างโดยพร้อมเพรียงกัน แบบไม่ได้นัดหมาย จนเอกชนที่ผูกขาดรับงานแทบไม่ทัน
ไป ๆ มา ๆ นโนยายที่มีวัตถุประสงค์ดี ๆ กลับถูกผู้ประสงค์ร้าย อาศัยช่องโหว่ไปทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าและบริการทางด้านนวัตกรรมแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน แต่กลับทำให้เกิดการผูกขาดและไม่เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาดอย่างเป็นธรรม รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเพียงบางรายเท่านั้น
ป.ป.ช.ได้พิจารณาในเรื่องนี้ และมีมติเห็น ควรมีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต ต่อสำนักงบประมาณ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เห็นควรให้มีการทบทวนการจัดทำบัญชีนวัตกรรมใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือ เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง
นอกจากนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ควรกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศและเป็นกิจการของคนไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ภายในประเทศและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยภายในประเทศสามารถผลิตสินค้าแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน
คิดแล้วก็เศร้า เพราะบางทีพวกเราคนไทยอาจจะต้องยอมรับว่า ‘คอร์รัปชั่น’ ของไทยอาจจะเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทรงพลังที่สุดที่ทำให้ต่างประเทศยอมรับก็เป็นได้...