ระเบิดลูกใหญ่ที่ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทิ้งออกมากลางวงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ขณะเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมที่พุ่งเป้าไปยัง “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อีกครั้ง

แรงกระเพื่อมรอบนี้ ส่งผลให้คลื่นความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังก่อตัวโถมเข้าใส่ “บิ๊กโจ๊ก” ยกระดับจากคลื่นขนาดใหญ่เป็นคลื่นยักษ์สึนามิไปเรียบร้อย
แม้ “บิ๊กแป๊ะ” จะไม่เอ่ยชื่อหนึ่งในนายพล ส. ที่กล่าวถึง แต่ทั้งภาพ ทั้งข้อมูล ก็ชัดว่าพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กโจ๊ก” แน่นอน เพราะคนส่วนใหญ่ทราบดีว่า ทั้งสองเคยมีความสัมพันธ์แนบแน่นกันเพียงใด เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสุดแสนจะแนบแน่นและยาวนาน
แนบแน่นแบบเรียกใช้ เรียกหา ทำงานใกล้ชิดกันมาตลอด แม้แต่เส้นทางการเข้าสู่บ้านป่ารอยต่อของพี่ใหญ่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
ยาวนานตั้งแต่สมัย “บิ๊กแป๊ะ” ลงไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เมื่อปี 2554

ยาวนานจนสายสัมพันธ์มาสะบั้นในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของ “บิ๊กแป๊ะ” เมื่อวันนั้นรัศมีของ “บิ๊กโจ๊ก” รุ่งโรจน์ เรืองรองจนผ่องออกมาเกินหน้าเกินตา และสุดท้ายขยายไปสู่ความ “เกินงาม”
การออกมาให้สัมภาษณ์ และขอโทษตำรวจรุ่นน้องที่ยังรับราชการอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะที่ตัวเองเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุน “นายพล ส.” ให้เติบโตอย่างรวดเร็วในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งครั้งประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งนี้ จึงชัดเกินชัดว่า “นายพล ส.” คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก”

ข้อความที่ส่งออกมาจากปาก “บิ๊กแป๊ะ” รุ่นพี่และนายที่รู้จัก “บิ๊กโจ๊ก” มากที่สุดคนหนึ่ง ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่มีการเปิดเผยข้อความในหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอบกลับหนังสือขอความเป็นธรรมของ “บิ๊กโจ๊ก” เรื่องคำสั่งพักราชการ จึงเสมือนเป็นอีกหนึ่งแรงกระหน่ำเข้าหา “บิ๊กโจ๊ก” จนแทบจะไม่เห็นทางรอด และหมดทางออกจากพายุแห่งความขัดแย้งรอบนี้
หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ลงนามโดย มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตอบกลับใน 3 ประเด็น คือ
- การดำเนินการออกคำสั่ง สำนักตำรวจแห่งชาติที่ 177/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาพ.ศ. 2547 แล้ว
- การดำเนินการออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 178/2567 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2547 แล้ว
- การเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 178/2567 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ก.พ.ค.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี จึงเห็นควรที่ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ต้องยื่นร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
แม้ “บิ๊กโจ๊ก” จะไม่รับทราบหนังสือฉบับนี้ โดยอ้างว่า ยังไม่เห็น และจะรอหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาเท่านั้น
แต่หนังสือฉบับนี้ ก็ค่อนข้างชัดเจนในประเด็นเรื่องอำนาจของรักษาราชการแทน ผบ.ตร.ของ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ และยังชัดว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับ ปี 2565 ที่มีหลักการมุ่งเน้นคุ้มครองตำรวจจากการเมือง

ท่าทีของ “บิ๊กแป๊ะ” และหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ทางออกของ “บิ๊กโจ๊ก” ดูจะตีบตันลงไปเรื่อยๆ เพราะสัญญาณที่แสดงการชักธงรบรอบสองของ “บิ๊กแป๊ะ” มาจากแค่ 2 ปัจจัย คือ
ประการแรก สุดจะทนต่อสัญญาณรบกวนจากเรื่องร้องเรียนที่คาอยู่ใน ป.ป.ช. เพราะเป็นจุดอ่อนที่ “บิ๊กแป๊ะ” เองก็ไม่มั่นใจว่า จะฝ่าด่านหินคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ได้หรือไม่
ประการที่สอง เป็นความมั่นใจว่า ปัจจัยภายนอกที่โหมใส่ “บิ๊กโจ๊ก” กำลังก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ ที่รอกระหน่ำ และกวาดกลุ่มก้อนของ “บิ๊กโจ๊ก” ให้ตกจากเส้นทางอำนาจ
ส่วนสัญญาณจากสำนักนายกฯ ที่มั่นสำคัญที่ “บิ๊กโจ๊ก” หวังวางหลังพิงอย่างเต็มที่ จากสายสัมพันธ์ที่เคยมีกับบ้านจันทร์ส่องหล้า ก็ยังเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความสิ้นหวัง
ทางออกหลายๆ ทางของ “บิ๊กโจ๊ก” วันนี้ ตีบลงและเหมือนจะเหลือแค่ 2 รอดในทางกฏหมาย คือ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และศาลปกครองเท่านั้น
เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ให้ ก.พ.ค.ตร.มีอำนาจในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางวินัยร้ายแรงของข้าราชการตำรวจ และหากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ก็ยังมีช่องทางที่จะยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองได้อีกขั้นตอนหนึ่ง
ก.พ.ค.ตร. มีระยะเวลาในการพิจารณาและวินิจฉัยคำอุทธรณ์ 120 วัน นับจากวันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ซึ่งหาก “บิ๊กโจ๊ก” ระบุว่าได้ยื่นคำอุทธรณ์ไปยัง ก.พ.ค.ตร.แล้ว ก็ต้องย้อนไปดูว่า ยื่นวันไหน จากนั้นก็นับต่อไป 120 วัน
แต่หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถพิจารณาจบใน 120 วันคณะกรรมการก็สามารถขอขยายเวลาได้อีก ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน หรือนับรวมๆ ก็อีก 120 วัน
นั่นหมายถึง เมื่อรวมระยะเวลาพิจารณาและการขอขยายเวลา ก.พ.ค.ตร. มีเวลาในการพิจารณาและวินิจฉัยคำอุทธรณ์ขอ “บิ๊กโจ๊ก” ถึง 240 วัน หรือเกือบๆ 8 เดือน ซึ่งหาก “บิ๊กโจ๊ก” ยื่นช่วงเดือนเมษายน ก็จะไปสิ้นระยะเวลาที่เดือนธันวาคมปีนี้
หลังจากผลวินิจฉัยออกมา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ยังระบุว่า ถ้าไม่เป็นคุณต่อผู้ร้อง ผู้ร้องก็ยังมีช่องทางการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองอีกทางหนึ่ง แต่ต้องยื่นภายใน 90 วันนับจากวันที่มีคำวินิจฉัยของก.พ.ค.ตร.
มหาภารตะยุทธในสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่าง “บิ๊กโจ๊ก” และกลุ่มคู่ขัดแย้ง จึงยังมีเส้นทางที่ต้องต่อสู้กันอีกยาวนาน ทั้งในกระบวนการของการพิจารณาวินัยตำรวจ และกระบวนการทางคดีในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญา
แต่ระหว่างนี้ ถ้าไม่มีอะไรพลิกออกมา การปรับกระบวนอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะยังคงดำเนินต่อไป ภายใต้การรักษาราชการแทน ผบ.ตร.ของ “บิ๊กต่าย” ที่นับวันจะยิ่งลงน้ำหนักเท้าที่มั่นคงมากขึ้น ท่ามกลางสายตาที่ห่วงใยและเป็นกำลังใจจากอดีตอาจารย์นักสืบอย่าง “บิ๊กปั้ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. เพื่อนรัก ตท.20 ของ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผบ.ทบ. การันตีกำแพงพิงหลังของ “บิ๊กต่าย” ให้เดินหน้าแบบมั่นคงมากขึ้น
พร้อมๆ การถดถอยและเซาะกร่อนพลังของ “บิ๊กโจ๊ก” ในสตช. ให้ลดลงทุกวัน