ปัญหาความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มหากาพย์ที่พัฒนาขึ้นเป็นมหาภารตะยุทธกลางทุ่งปทุมวัน ปัญหาที่เกจิทางการเมืองชี้ตรงกันว่า “ไร้ทางออก” และนับวันจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกบีบให้จนมุม
ที่ผ่านมา คู่กรณีทั้งสองฝ่าย คือ “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก” ต่างมีชะตากรรมที่แตกต่างกัน

“บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ วันนี้ยังคงช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะเลยกำหนด 60 วันตามที่ระบุในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งครบกำหนด 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษาภาคมที่ผ่านมา

ส่วน “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูก “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ใช้อำนาจรักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามในคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567 โดยยึดอำนาจตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547
สถานการณ์ของทั้งคู่ก่อนวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เป็นสถานการณ์ที่ดูเหมือนไร้ทางออก เป็นภาวะการณ์ที่ดูเหมือนยังไม่เห็นจุดจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บิ๊กโจ๊ก” ที่ถูกปรามาสว่า นี่คือจุดจบของแมวเก้าชีวิตที่ชื่อ สุรเชษฐ์ หักพาล เพราะ “บิ๊กโจ๊ก” เหลือทางออกที่ค่อนข้างตีบตัน
เวลานั้น “บิ๊กโจ๊ก” ทำได้เพียงการยื้อเวลาการต่อสู้คดีออกไปให้มากที่สุด โดยใช้เทคนิคข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ที่เปิดช่องให้ขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และศาลปกครองเท่านั้น
เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ให้ ก.พ.ค.ตร. และศาลปกครอง เป็นเสมือนองค์กรถ่วงดุลอำนาจของนักการเมือง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้ใช้อำนาจกลั่นแกล้งข้าราชการ โดยมีห้วงเวลาที่ยืดได้ถึง 270 วันหรือ 9 เดือน ที่ “บิ๊กโจ๊ก” จะสามารถยื้อเรื่องนี้ออกไปได้
แต่ภายใน 9 เดือนนั้น “บิ๊กโจ๊ก” จะขาลอยจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ทันที ตามคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ “บิ๊กต่าย” รวมถึงสิ้นสุดความเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.คนใหม่ ประจำฤดูกาลโยกย้ายนายพลตำรวจประจำปี 2567 ทันทีเช่นกัน

แต่ทันทีที่มีการเผยแพร่บันทึกเรื่องเสร็จที่ 637/2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ตอบกลับมายังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
โดยมีสาระหลักๆ เกี่ยวกับคำสั่งของ “บิ๊กต่าย” ที่ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อนว่า มีผลทันทีหรือไม่ หรือจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งจึงจะมีผลทำให้ “บิ๊กโจ๊ก” พ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.
คำตอบของกฤษฎีกาคณะที่ 2 ซึ่งลงนาม โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกาและมีความยาวเกือบ 6 หน้ากระดาษ ได้ข้อสรุปว่า


- รักษาราชการแทนผบ.ตร.มีอำนาจตามกฎ ก.ตร. ปี 2547 ในการออกคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน แต่...
- คำสั่งนั้นจะต้องไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ซึ่ง...
- มาตรา 140 ระบุว่า การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจในระดับ ผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่า จะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดย...
- นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ที่จะเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูล และ...
- ก่อนจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของคำสั่งนั้นอย่างรอบคอบ และให้เป็นที่ยุติเสียก่อน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการยกร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ที่ให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม
- กฤษฎีกาจึงมีความเห็นท้ายบันทึกว่า หากคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นคำสั่งที่ออกตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น และ...
- ความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้บุคคลนั้นออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และ...
- เป็นธรรมแก่ผู้สอบสวน การนำความขึ้นกราบบังคมทูลย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม
ย่อยออกมาเป็นประเด็นขนาดนี้ ก็เพื่อให้เห็นชัดว่า คำสั่งของ “บิ๊กต่าย” ที่ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน แม้มีอำนาจแต่หมิ่นเหม่ที่จะขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 และหมิ่นเหม่อย่างยิ่งว่า เมื่อนายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ “บิ๊กโจ๊ก” พ้นจากตำแหน่ง นั่นหมายถึงวันนี้ “บิ๊กโจ๊ก” ยังคงอยู่ในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.
นอกจากนี้ยิ่งหมิ่นเหม่ว่า คำสั่งนั้นอาจออกโดยไม่ชอบธรรม เพราะมิได้ออกตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนวินัย “บิ๊กโจ๊ก”
เพราะคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่วันเดียวกันกับวันที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย “บิ๊กโจ๊ก”
ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ที่คณะกรรมการสอบสวนจะมีคำแนะนำให้รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ออกคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” พ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีการสอบสวน
ถึงนาทีนี้ แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกตว่า ความเห็นของคณะกรรมกฤษฎีกา เป็นเพียงความเห็นในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
แต่ข้อสรุปที่เด่นชัด ทั้งกรณีการจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล และผู้ที่จะกราบบังคมทูลได้ ต้องเป็น “นายกรัฐมนตรี” และก่อนนำความขึ้นกราบบังคมทูล ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยุติก่อน เพื่อให้ความที่จะนำขึ้นกราบคมทูลมีความชอบธรรมด้วยกฎหมาย
เป็นข้อสรุปที่ล้วนเด่นชัดว่า นาทีนี้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กำลังกลับมาสู่เส้นทางของการเป็นแมวเก้าชีวิตอีกครั้ง

เพราะหากเป็นจริงตามนั้น กระบวนการสอบวินัย “บิ๊กโจ๊ก” จะต้องดำเนินการต่อ ภายใต้สถานะของ “บิ๊กโจ๊ก” ที่ยังคงดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ต่อไป จนกว่าผลการสอบสวนจะชัดเจน และชอบธรรมเพียงพอที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2565
นอกจากนั้น ข้อสรุปของกฤษฎีกา ยังมีนัยยะของการส่งสัญญาณที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ถึงเวลาที่จะมีข้อยุติความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติของทั้งสองฝ่ายเสียที ก่อนที่ภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเลวร้ายลงไปมากกว่านี้
และเชื่อว่า จะมีคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับ “บิ๊กต่อ” ออกมาอีกคำสั่งหนึ่ง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีทางออก และยังเป็นทางออกแห่งความขัดแย้งที่สวยงาม และลงตัว เพื่อให้ทั้งคู่เข้ากระบวนการสอบสวนที่เป็นธรรมตามกฎหมายของตำรวจเอง
นั่นหมายถึง นี่คือสัญญาณแห่งการ “พักรบ” และสัญญาณแห่งความ “รอมชอม” ที่จะนำไปสู่ความสงบ สันติ และการเริ่มต้นใหม่ของทุ่งปทุมวัน ที่วันนี้เลือดนองเต็มท้องทุ่ง ยิ่งกว่ามหาภารตะยุทธกลางทุ่งกุรุเกษตร ที่มีการรบระหว่างตระกูลเการพ และตระกูลปาณฑพ ในมหากาพย์ยิ่งใหญ่หนึ่งในสองเรื่องของอินเดีย