‘เดอะ แบก’ รัฐมนตรีคลัง พิชัย ชุณหวชิร

2 พ.ค. 2567 - 08:18

  • เป็นรัฐมนตรีคลังเต็มตัว ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีคลังเศรษฐา ทวีสินคนเดิม

  • รัฐมนตรีคลังพิชัย ชุณหวชิร กับวัย 75 ปี ยังต้องเหนื่อยอีกครั้ง

  • พลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ก่อนหน้านี้ ละเลย ขาดคนดูอย่างจริงจัง

ministry-foreign-affairs-SPACEBAR-Hero.jpg

ลำพังการตัดสินใจมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ของ พิชัย ชุณหวชิร แบบ ‘ฟูลไทม์’ ในวัย 75 ปี ก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสพอแรงอยู่แล้ว สำหรับคนในวัยที่ควรอยู่บ้านเลี้ยงหลาน แต่ที่อาจจะสาหัสมากกว่า คือภารกิจข้างหน้าที่เขาจะต้องมาหาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่กำลังอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ จนใกล้เป็น ‘กบต้ม’ อย่างที่มีบางคนในรัฐบาลเคยพูดไว้เข้าไปทุกขณะ

นอกจากนี้ยังต้องมาถอดสลัก ทุ่นระเบิดที่รัฐบาลวางไว้เองเพื่อผลักดันนโยบาย ‘เรือธง’ เจ้าปัญหา คือ ‘โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหมื่นบาท’ ที่ยังคงตกอยู่ในสภาพ ‘ลูกผีลูกคน’ ให้เดินหน้าต่อไปให้ได้  

ถึงแม้ พิชัย จะมาจากภาคธุรกิจ และมีประสบการณ์ในการบริหารด้านการเงินในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ๆ ระดับประเทศ อย่าง ปตท. และบางจาก และเพิ่งลุกออกจากเก้าอี้ของ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. มารับตำแหน่ง ทำให้ได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนทั้งในส่วนของ ภาคธุรกิจแท้จริง และ ภาคตลาดทุน แถมยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยอีกถึง 3 ตำแหน่ง แต่ต้องยอมรับว่าภารกิจในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทยที่กำลังอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ เป็นโจทย์ ‘สุดหิน’ ที่ท้าทายอย่างมาก 

ต้องยอมรับว่าตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา 1 ที่ควบตำแหน่ง รมว.คลังอีกตำแหน่ง มีลักษณะการทำงานแบบ ‘พาร์ทไทม์’ ส่งผลเสียที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปแบบ **‘ติด ๆ ดับ ๆ’**เดินหน้าถอยหลัง ไม่สามารถมุ่งไปสู่เป้าหมายได้อย่างที่หวัง 

แถมยังเดินหลงทางออกไปเปิดศึกกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกระทบไปถึงความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ จนทำให้ตลาดหุ้นตก ค่าเงินบาทอ่อนยวบ

7 เดือนที่ผ่านมา จึงกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้อ่อนแรงลง หลังจากต้องใช้เวลาถึงกว่า 7 ปี ในยุคของ ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา และทั้งหมดกลายเป็น ‘มรดกบาป’ ที่ รมว.คลังคนเดิมทิ้งไว้ให้ รมว.พิชัย ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะดิ่งเหวจมลึกไปมากกว่าที่เป็นอยู่ 

ที่ผ่านมาเพราะความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ต้องรอมาจนถึงปลายเดือนที่แล้วจึงเพิ่งมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพ **‘ตกหลุมอากาศ’**เครื่องยนต์หลักไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่ มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่รับบท ‘เดอะแบก’ เศรษฐกิจไทยเอาไว้ 

กลไกด้านงบประมาณที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐหยุดชะงักลง ส่งผลให้ภาคเอกชนก็ไม่ลงทุนเพิ่มเพราะขาดความมั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจ 

ในเวลาเดียวกันภาคการส่งออกของไทยก็มีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ จากเรื่องโครงสร้างอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย ที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ทำให้สินค้าส่งออกของไทยเริ่ม ‘ตกยุค’ และเริ่มปรากฏอาการให้เห็นคือ ‘หยุดการเติบโต’ และ ‘ติดลบ’ ในหลาย ๆ สินค้าที่เคยเป็นพระเอก

ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นเพียง ‘ตัวช่วย’ ที่เหลืออยู่ในการประคองให้ การใช้จ่ายของภาคประชาชนยังคงเติบโต แต่การบริโภคของภาคเอกชนก็เริ่มส่งสัญญาณ ‘อ่อนแรง’ ลงเรื่อย ๆ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทำให้กำลังซื้อลดลง และยังมีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อจะเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงต่อไป จากราคาพลังงาน และต้นทุนราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น และนโยบายเรื่องขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ที่หวังฐานเสียงจากผู้ใช้แรงงาน

เพราะเหตุนี้ทำให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่หลังจากผ่านมาเพียง4  เดือน โดยปรับจาก 2.8% ลงมาเหลือเพียง 2.4% เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด จากความสามารถการแข่งขันที่ลดลง โดยในเดือนมีนาคม กระทรวงพาณิชย์เพิ่งเปิดเผยตัวเลขออกมาว่า การส่งออกในเดือนมีนาคมลดลงจากปีที่แล้วถึง10.9% จากการที่สินค้าในหมวดอุตสาหกรรมในยุคเก่าส่งออกได้ลดลงเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า รวมถึงเครื่องปรับอากาศ 

ขณะเดียวกันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ควรจะเป็นผลงานสร้างชื่อดึงคะแนนนิยม กลับกลายเป็น ‘ตัวกด’ เศรษฐกิจไทยเอาไว้ไม่ให้เติบโต สะท้อนจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลไม่เร่งรัดการเบิกจ่ายงบในปี 2567 ซ้ำกลับชะลอการเบิกจ่ายงบจัดซื้อจัดจ้างและงบลงทุนในหลาย ๆ โครงการ  เพราะต้องการกันเงินงบประมาณเอาไว้1.75 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงปลายปี ทำให้เม็ดเงินไม่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็นในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ

ตามแผนการวางงบที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในวงเงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลหันมาใช้วิธีการ ‘ไฮบริด’ โดยจะกันงบปี 2567 ที่คาดว่าจะใช้ไม่ทันเนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียง 5 เดือน มาใช้ในวงเงิน 1.75 แสนล้านบาท และจะมีการขยายวงเงินงบประมาณปี 2568 เพิ่มอีก1.527 แสนล้านบาท เพื่อนำไปสมทบกับ เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ หรือ ธ.ก.ส. อีก 1.72 แสนล้านบาท 

ยิ่งไปกว่านั้นความล่าช้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังคงอยู่ในอาการ ‘ลูกผีลูกคน’ ทำให้ความหวังที่จะมีเม็ดเงินลงไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเจอโรคเลื่อน ‘ดีเลย์’ มาเรื่อย ๆ ไม่อาจจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างที่วาดหวังไว้

เพราะเหตุนี้ การบ้านที่ รมว.คลังป้ายแดง พิชัย ต้องรีบแก้ ปัญหานอกเหนือจากการกันงบประมาณ  และออก ‘พ.ร.ก.โอนงบประมาณปี 2567’ ให้ได้ตามแผนแล้ว ยังต้องเร่งจัดทำรายละเอียด ‘ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568’ รวมทั้งถอดสลักระเบิดเวลาใน ‘การยืมมือ ธ.ก.ส.’ ดึงเงินมาแจกเกษตรกรให้ได้โดยไม่ขัดกฎหมาย เพื่อดันนโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ตให้เดินหน้าให้ได้แล้ว 

ที่สำคัญต้องเร่งพิจารณาหาทางออกว่าในช่วงรอยต่ออีกเกือบครึ่งปี ก่อนที่จะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลจะเข็นมาตรการการคลังอะไรออกมาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ ‘อ่อนแรง’ ลงไปกว่านี้ โดยต้องใช้เม็ดเงินให้น้อยที่สุด

หากเปรียบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้ ตามทฤษฎีกบต้ม ที่ผ่านมารัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา โดย รมว.คลัง เศรษฐา และทีมงานด้านเศรษฐกิจที่ไร้ฝีมือนั่นแหละ เป็นคนที่ค่อยๆใส่ฟืนลงไปทำให้น้ำร้อนใกล้ถึงจุดเดือด จนกบกำลังจะโดนต้มตายคาหม้อ ถึงนาทีนี้ก็คงต้องดูฝีมือ รมว.คลังป้ายแดง พิชัย ว่าจะหาทางชักฟืนออกจากเตาไฟอย่างไร หรือจะปล่อยให้กบโดนต้มสุกตายคาหม้อ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์