ชะตากรรมพิธา อนาคตก้าวไกล - เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หรือเป็นแค่พิธีกรรม - รถไฟ 3 สนามบิน ช้าเพราะใคร

18 ธ.ค. 2566 - 09:45

  • ชะตากรรมพิธา -อนาคตก้าวไกล ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ธนาทร จึงรุ่งเรืองกิจ กับอนาคตใหม่

  • เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หรือเป็นแค่พิธีกรรม จะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 33 ปี

  • รถไฟ 3 สนามบิน กลายเป็นโครงการที่ไม่คืบหน้า เพราะการเจรจากับคู่สัญญา มีปัญหามากมาย

DEEP-SPACE-move-forward-party-social-security-srt-airport-SPACEBAR-Hero.jpg

ชะตากรรม ‘พิธา’ - อนาคตก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กำลังเดินย่ำรอย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในอดีต

วันเวลาที่ค่อนข้างจะยาวนาน ในการพิจารณาคดี ‘หุ้นสื่อ’  ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ของศาลรัฐธรรมนูญ กำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่ช้านี้  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดหมายให้เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดีในวันพุธที่ 20 ธันวาคมนี้ ก่อนนำไปการลงมติตัดสินคดีต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้อง ‘ปมหุ้นสื่อ’ ของพิธาไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมกับสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สส.นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา

จากนั้น การพิจารณาคดีก็ดำเนินไปอย่างช้าๆ ไม่รู้จะสิ้นสุดลงวันไหน เพราะเปิดให้ยืดเวลาส่งคำชี้แจงหลายครั้ง ทั้งให้ยื่นพยานบุคคลและส่งเอกสารเพิ่มเติม

วันนี้พิธา ดูจะมีความมั่นใจอยู่มากจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะหนังสือตอบกลับจาก กสทช.ที่ว่า ‘ไม่มีสัญญาอนุญาตทำสื่อของไอทีวี’ จึงทำให้เจ้าตัวมั่นใจชนิด 100% ว่าจะไม่ผิด แถมยังมีเรื่องของการเป็นผู้จัดการมรดกหุ้นสื่อ ที่มีหลักฐานไม่เคยเปิดที่ไหนมาก่อน จะนำมาชี้แจงเพิ่มด้วย

อาการมั่นใจของพิธาวันนี้ อารมณ์เดียวกับความมั่นใจเรื่องการถือหุ้นวีลัค มีเดีย ของธนาธร  อดีตสส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก กกต.ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้พ้นจากการเป็นสส.ในปี 2562 ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่รอด

เที่ยวนี้สำหรับพิธา ถ้าโชคดีจะมีโอกาสได้กลับมาทำหน้าที่สส.ในสภาอีกครั้ง รวมทั้ง อาจได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ นั่งขัดตาทัพอยู่ด้วย 

เมื่อถึงวันนั้น พิธาก็จะขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ กลับมานำทัพพรรคก้าวไกล รอชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี อีกรอบในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หากโชคร้าย พิธา ก็แค่สิ้นสภาพความเป็นสส.ลง และสามารถกลับคืนสู่สนามการเมืองได้อีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองใดๆ

เช่นเดียวกับเหล่าพลพรรคพรรคอนาคตใหม่ ณ เวลานั้น ต่างยังชูชื่อธนาธร ให้เป็นแม่ทัพในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อไป เพราะเหตุที่ยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองใดๆ นั่นเอง

ย้อนไปดูเหตุการณ์ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 2562 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องหุ้นวีลัค มีเดีย ให้ธนาธรพ้นจากการเป็นสส. ในวันดังกล่าวธนาธร ยังคงประกาศเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ที่พร้อมจะเดินหน้าทำงานการเมืองต่อไป

ทว่ากรณีของธนาธร กับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 4 ปีก่อน กับกรณีพิธาและพรรคก้าวไกลใน พ.ศ.นี้ มีสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างคือ นอกจากถูกร้องประเด็นคุณสมบัติส่วนตัวแล้ว ยังมีการยื่นร้องเกี่ยวกับพรรคตีคู่กันมาด้วย

พรรคอนาคตใหม่ ถูกร้องต่อกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรค เพราะพรรคกู้เงินของธนาธร จำนวน 191 ล้านบาท ในขณะที่พรรคก้าวไกล วันนี้ยังมีคดีมาตรา 112 ที่ถูกร้องว่าฝ่าฝืน มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง ‘ล้มล้างการปกครอง’ ที่เข้าข่ายนำไปสู่การยุบพรรค กำลังรอการไต่สวนในวันที่ 25 ธันวาคม นี้

หนก่อนธนาธร หลังพ้นสภาพการเป็น สส.แล้ว ต้องใช้เวลาต่อสู้เรื่องยุบพรรคต่ออีกร่วม 3 เดือน และถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี

ที่ในที่สุดไม่ใช่เฉพาะธนาธรเพียงคนเดียว แต่ยังรวมถึงกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ด้วย ที่ต้องพ้นจากการเมืองไปด้วยผลของกฎหมายชนิดตายกันยกรัง!!

วันพรุ่งนี้ ชะตากรรมทางการเมืองของพิธาและพรรคก้าวไกล จะเหมือนหรือต่างจากวิบากกรรมของธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ในอดีตอย่างไร หลังปีใหม่น่าจะมีคำตอบว่าจะเดินย่ำรอยเดิมอีกหรือไม่

เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หรือเป็นแค่พิธีกรรม??

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คริสต์มาสอีฟ 24 ธันวาคม หรือ วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของแรงงานไทย ในรอบ 33 ปี ตั้งแต่ประกาศใช้ พรบ.ประกันสังคม แต่ลองไปถามบรรดาผู้ประกันตนทั้งหลายกว่า 24 ล้านคน จะมีใครสักกี่คนที่รู้และสนใจที่จะไปเข้าคูหาเพื่อกาบัตร !!!

มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าพิลึก เพราะหลังจากอุตส่าห์ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน กว่าจะประสบชัยชนะในการผลักดันให้มีการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่จะมีการเลือกตั้ง ‘คณะกรรมการประกันสังคม’  หรือบอร์ดประกันสังคม แต่ภายใต้ กติกาและกลไกที่กระทรวงแรงงานกำหนดกลับ ‘พิกลพิการ’  ไม่ต่างอะไรกับ ‘รำแก้บน’  ที่จัดให้พอเป็นพิธี เหมือนเจตนา ‘วางยา’  ให้มีปัญหาในตอนจบ 

จากรูปแบบเดิมที่ใช้ระบบ ‘1 สหภาพ 1 เสียง’  (1 Union 1 Vote) โดยให้ผู้แทนของแต่ละสหภาพแรงงานฯ เข้าไปเลือกบอร์ดประกันสังคม ทั้งๆที่แรงงานที่อยู่ในสหภาพฯมีเพียง 5.5 แสนคน หรือแค่ 2.29% ของจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด 24 ล้านคน ที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการกำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 สามารถไปเลือกผู้แทนจากฝั่งผู้ประกันตน 7 คน เพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้าง และผู้ประกันตน

ส่วนบรรดานายจ้างก็จะไปเลือกตัวแทนฝั่งนายจ้างอีก 7 คนเช่นกัน เพื่อไปร่วมกับตัวแทนจากภาครัฐอีก 7 คน รวมเป็น 21 คน ทำหน้าที่ในการบริหารเม็ดเงินกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ภายใต้แนวคิด ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ จนตาย’ ที่เป็นเสมือนหัวใจหลักของผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน 

ฟังดูในแง่หลักการใหม่ก็น่าจะเป็นประชาธิปไตยดี แต่กลับปรากฏว่าเมื่อกระทรวงแรงงาน และบอร์ดประกันสังคมชุดรักษาการปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้ง กลับไปกำหนดรายละเอียดกติกาของการเลือกตั้งคราวนี้แบบ ‘พิสดารพิลึก และแปลกประหลาด’ จนทำให้เกิดคำถามตามมาถึงความจริงใจในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ และส่อเค้าว่าจะมีปัญหาฟ้องร้องหลังการเลือกตั้งตามมาอย่างแน่นอน 

พิลึกเรื่องแรกคือ กำหนดให้ผู้ประกันตนต้องไปลงทะเบียนก่อนถึงจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งๆที่การเลือกตั้งระดับชาติก็ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียน โดยสำนักงานประกันสังคมซึ่งได้รับจัดสรรเงินเพื่อจัดการเลือกตั้งคราวนี้ราว 200 ล้านบาท กลับไม่ได้มีท่าทีกระตือรือล้นในการประชาสัมพันธ์ให้บรรดาผู้ประกันตนทราบ จนต้องมีการขยายระยะเวลาลงทะเบียน แต่สุดท้ายก็มีคนไปลงทะเบียนกันเพียง 945,609 คน จากผู้ที่มีสิทธิ์ 12,831,713 คน 

พิลึกเรื่องต่อมาคือ มีการกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถไปเลือกตัวแทนได้ 7 คนจาก ผู้สมัครเกือบ 250 คน โดยในบัตรเลือกตั้ง จะมีแต่หมายเลขผู้สมัครไม่มีรูป ทำให้ผู้ประกันตนต้องจดจำหมายเลขที่ไปลงคะแนนทั้ง 7 คนเอาเอง

พิลึกอีกเรื่องคือ คูหาที่จะใช้ในการไปลงคะแนน ก็มีจำนวนน้อยมาก บางจังหวัดมีเพียงแห่งเดียว จังหวัดใหญ่ๆอย่าง กรุงเทพฯก็มีเพียง 4-5 จุด 

ทำให้เกิดข้อกังขาตามมาว่า หากผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนน้อยมาก จะถือว่าผู้ได้รับเลือกมากที่สุดทั้ง 7 คน จะมีศักดิ์และศรีพอที่จะอวดอ้างว่าเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนทั้งหมดจริงหรือ ยังไม่ต้องถามว่าจะเชื่อได้มากน้อยแค่ไหนว่า ผลการนับคะแนนที่ออกมาจะโปร่งใส

แต่ทุกอย่างก็เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ผีถึงป่าช้าแล้ว คงต้องรอดูว่าผลเลือกตั้งที่ออกมาจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ดูจากรายชื่อ ก็น่าจะมีการแข่งขันกันอยู่ประมาณ 4-5 กลุ่ม   

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของ นสพ.บูรณ์ อารยพล หรือ หมอบูรณ์  นักเคลื่อนไหว "กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน" ที่เคยเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้นำเงินสมทบกรณีชราภาพมาออกมาใช้ในยามวิกฤต ในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยสมัครรับเลือกตั้งในนาม ‘กลุ่ม 3 ขอต้องไปต่อ’ โดยมีผู้สมัครจำนวน 5 คน

กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ที่ส่งสมาชิกในเครือข่ายเข้าร่วมสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จำนวน 7 คนในฝั่งของผู้ประกันตน นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์ฯ

กลุ่มของ น.ส.สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ​ ในฐานะแรงงานนอกระบบ ซึ่งดูจะเน้นเรื่องแรงงานสตรี 

กลุ่มของ อาจารย์ อรอนงค์ นิธิภาคย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร​ สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ที่สนใจเรื่องการเข้าไปดูแลเรื่องการลงทุนทางตรงกับผู้ประกันตน

อีกกลุ่มที่น่าจับตามอง และน่าจะมาแรง ก็คือ กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า ที่นำโดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่มีแบ็คอัพใหญ่ คือกลุ่มก้าวหน้าของ ธนาทร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่นอกจากจะมีฐานแรงงานของ ไทยซัมมิตแล้ว ยังมีการรณรงค์ทั่วประเทศอีกด้วย    

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร? ใครจะเข้าป้าย? แต่มีเสียงลือดังๆมาจากแถวดินแดงว่า บทสุดท้ายอาจจะลงเอยแบบโดนจับแพ้ฟาวล์!!! เพราะจะมีการร้องเรียนกันอุตลุด อาจจะต้องไปจบที่ศาลปกครอง และสุดท้าย ‘คนที่อยู่บนภู’ อย่างบอร์ดชุดเดิมก็คงจะเสวยสุข ยึดครองเก้าอี้ต่อไปอีกพักใหญ่

รถไฟ 3 สนามบิน ช้าเพราะใคร

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เซ็นสัญญาตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562  ใช้เวลาส่งมอบพื้นที่ 2 ปี  ก่อสร้าง 5  ปี ระหว่างปี 2564-2569  เปิดใช้งาน ปี 2570

แต่ผ่านไป 4 ปีกว่าแล้ว ยังไม่ได้ลงมือตอกเสาเข็มสักต้น 

โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 224,000 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) รัฐและเอกชนร่วมลงทุน รัฐคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน อุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา เอกชนลงทุนค่าระบบเดินรถ  ซื้อขบวนรถ และรับผิดชอบการเดินรก จัดเก็บรายได้ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี โดยจัดสรรผลประโยชน์ให้ รฟท. 

เอกชนที่ชนะการประมูลคือ กลุ่มซีพี ซึ่งได้ตั้งบริษัท เอเชีย เอราวัน

สาเหตุความล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจาก ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติกับโครงการใหญ่ๆ โดยเฉพาะโครงการของ การรถไฟฯ ที่พื้นที่ถูกจับจอง บุกรุกเป็นที่พักอาศัย หรือให้หน่วยงานอื่นๆเช่าใช้พื้นที่ 

รฟท.ส่งมอบพื้นที่ช่วงนอกเมือง คือ จากสนามบินสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ครบ100% ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2565  เอเชีย เอราวัน สามาถลงมือก่อสร้างได้เลย แต่ไม่ได้ทำ

ส่วนพื้นที่ช่วงในเมือง คือ จากสนามบินดอนเมืองถึง สถานีแอร์พอร์ตลิงค์ พญาไท จะส่งมอบพื้นที่ให้ทั้งหมดภายในเดือนมกราคม 2567

การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าถูกอ้างเป็นสาเหตุว่า เหตุใดซีพี หรือเอเชีย เอราวัน จึงไม่ลงมือก่อสร้างสักที แม้ว่าพื้นที่ช่วงนอกเมือง ซึ่งมีระยะทาง160 กิโลเมตร เท่ากับ  3 ใน4 ของโครงการที่มีระยะทางรวม 220 กิโลเมตร จะได้ส่งมอบไปปีกว่าแล้ว รวมทั้งพื้นที่มักกะสัน  จำนวน140 ไร่ ซึ่งจะถูกพัฒนาเชิงพาณิชย์

สาเหตุที่แท้จริงที่ซีพี หรือเอเชียเอราวัน ไม่ยอมลงมือก่อสร้างสักที คือ ต้องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน  ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญคือ 

  1. เงินที่ต้องจ่ายให้รฟท . เป็นค่ากรรมสิทธิ์ รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟ3 สนามบิน จำนวน 10,671 ล้านบาท ต้องจ่ายหมดงวดเดียว ในเดือนตุลาคม ปี 2564 หลังจากรับโอนแอร์ พอร์ตลิงค์  แต่ เอเชีย เอราวัน ขอผ่อนจ่าย เป็น 7งวด 7 ปี  งวดที่1-6   งวดละ 1,067 ล้านบาท งวดที่7 จำนวน 5,238  ล้านบาท  โดยอ้างว่า โควิดทำให้ผู้โดยสารลดลง จ่ายก้อนเดียวไม่ไหว
  2. เงินที่ รัฐ คือ รฟท. ต้องอุดหนุนเอเชีย เอราวัน ตามสัญญา จ่ายในปี ที่10 คือ หลังก่อสร้างเสร็จและปิดบริการ   1 ปี จ่ายทีเดียว 133,474  ล้านบาท เอเชีย เอราวัน ขอให้จ่ายเร็วขึ้น คือ สร้างไปจ่ายไป ทุกปี เริ่มตั้งแต่ปีที่สองของการก่อสร้าง 

การเจรจาขอแก้ไขสัญญามีขึ้นสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ตั้งแต่กลางปี 2565  แต่รัฐบาลในตอนนั้น ยอมให้แก้ข้อเดียวคือ เงินค่าแอร์พอร์ต ลิงค์ ให้ผ่อนจ่ายได้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ด้วย ประมาณ 1,060 ล้านบาท   ครม. ในตอนนั้น เห็นชอบในหลักการ

ส่วนเงินอุดหนุนเอเชีย เอราวัน  ที่จ่ายเมื่อเสร็จงาน เอเชีย เอราวัณ ขอให้จ่ายเร็วขึ้น สร้างไปจ่ายไป  รัฐบาลไม่โอเค 

ข้อเสนอแก้ไขสัญญาของเอเชีย เอราวัน เป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน การที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุน เมื่อการก่อสร้างเสร็จ และเปิดบริการแล้ว เป็นการรับประกันความเสี่ยงว่า เอกชนที่ได้สัมปทานไปจะต้องสร้างให้เสร็จ และเปิดบริการตามกำหนดจึงจะได้เงินอุดหนุน  ถ้าเป็นการจ่ายแบบสร้างไปจ่ายไป รัฐมีความเสี่ยง ที่การก่อสร้างจะล่าช้า หรือสร้างไม่เสร็จ

ที่สำคัญคือ ผิดหลักการของ PPP ที่เอกชนต้องรับผิดชอบทุกอย่าง รวมทั้งการจัดหาสินเชื่อ ไม่ใช่ให้รัฐจ่ายตามงวดงาน  อันนั้นเป็น การจ้างผู้รับเหมา

แต่เอเชีย เอราวัน จะได้ประโยชน์ คือ กู้เงินมาก่อสร้างน้อยลง เพราะสร้างไปเบิกจากรัฐเป็นงวดๆได้ ประหยัดต้นทุนการเงินได้มหาศาล 

การประชุมร่วมระหว่างการรถไฟฯ  เลขาฯสำนักงาน อีอีซี และตัวแทนเอเชีย เอราวัน เมื่อวันที่ 13  ธค ที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่า จะมีการแก้ไขสัญญา ในส่วนเงินค่าแอร์พอร์ตลิงค์ ให้เอเชีย เอราวัน ผ่อนจ่าย 7 งวดได้  แต่ไม่มีการพูดถึง เงินอุดหนุน 133,474ล้านบาท ที่เอเชีย เอราวัน ขอแก้ไขสัญญาจาก จ่ายงวดเดียว เมื่อเสร็จงาน เป้นแบบ สร้างไปจ่ายไป

ไม่รู้ว่าซีพียอมถอย  หรือกำลังคุยกันอยู่ เพราะตามรายงานข่าว  คาดว่า จะส่งสัญญาที่แก้ไข ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ ในเดือนมกราคม 2567 ก่อนส่งให้ ครม. อนุมัติ ซึ่งคาดว่า จะเป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า 

ทำไมต้องใช้เวลานานเกือบครึ่งปี จึงจะเสนอ ครม. อนุมัติแก้สัญญา  หรือว่ายังคุยกันไม่จบระหว่างผู้มีอำนาจกับซีพี ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์