วันก่อน สส.พรรคก้าวไกล นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล พากันยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอให้ทบทวนคำถามประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ที่ให้ถามว่า
‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์’
โดยพรรคก้าวไกลเสนอให้เปลี่ยนไปถามว่า
‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ’
สาเหตุที่ก้าวไกล ขอให้ปรับคำถามใหม่ เพราะ ‘กังวล’ การตั้งคำถามของรัฐบาล อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดและไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1.คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เป็นการถาม 2 ประเด็นใน 1 คำถาม โดยมีการบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องหมวด 1 และ หมวด 2) มีความ ‘ลังเลใจ’ ว่าควรจะลงมติเช่นไรที่สะท้อนเจตจำนงหรือจุดยืนของตนเอง
ทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน ‘เห็นชอบ’ เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ
2. คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เพิ่ม **‘ความเสี่ยง’**ที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาในเชิงกฎหมาย เพราะในเมื่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีการยกร่างเนื้อหาบางส่วนในหมวด 3 เป็นต้นไป ที่ทำให้เกิดความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ให้สอดคล้องกันกับหมวดอื่น ๆ
แต่การแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้พร้อมๆ กัน หากไม่เปิดให้มีการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
3. คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถ**‘แก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่าง’** ทางการเมืองในบริบทปัจจุบันได้ เพราะในเมื่อเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง การปิดกั้นข้อเสนอจากประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 (ที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ) อาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ไม่ได้ห้ามเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ก็มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 มาโดยตลอด
ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงเสนอญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการการออกเสียงประชามติ ด้วย ‘คำถามใหม่’ ที่เสนอ ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องการไม่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบรัฐ ล็อกไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ มาตรา 255
‘พริษฐ์’ ยังเสนอทางออกเอาไว้หากรัฐบาลยอมเลือกใช้คำถามตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ และประชามติ ‘ผ่าน’ ความเห็นชอบจากประชาชน รัฐบาลสามารถนำเรื่องการล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ไปใส่ไว้ในขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับรายละเอียดการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา (เช่น จำนวน ที่มา และอำนาจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
‘ในขั้นตอนนี้ หากรัฐบาลประสงค์ รัฐบาลสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ได้ว่า สสร. มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวด ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งก็สอดคล้องกับรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเข้าสู่รัฐสภา’
พริษฐ์ ย้ำว่าการเลือกคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะทำให้รัฐบาลยังคงเลือกที่จะล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ได้เช่นเดิมตามจุดยืนของรัฐบาล แต่จะช่วย ‘ลดความเสี่ยง’ ที่ประชามติรอบแรกจะไม่ผ่าน
แต่เรื่องนี้ ‘นิกร จำนง’ หนึ่งในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติของรัฐบาล มองว่า เป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหารอย่างไม่ทราบเจตนา ทั้งที่ก่อนหน้านั้น พรรคก้าวไกล เคยยื่นญัตติขอให้สภาทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งในครั้งนั้นที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบด้วย 262 เสียง เห็นชอบด้วยเพียง 162 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ทำให้ญัตติดังกล่าวตกไป และการกลับมายื่นอีกครั้ง เพื่อให้มีผลเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีของฝ่ายบริหาร ไม่ทราบว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร
‘ก่อนเป็นข้อสรุปในการตั้งคำถามประชามติของรัฐบาล ได้รับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนโดยประมวลความเห็นส่วนใหญ่ได้ว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ต้องคงไว้ตามเดิม สำหรับการตั้งเงื่อนไขนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือที่ร้ายแรงกว่าคืออาจเกิดเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ’
นิกร ย้ำว่าการยื่นญัตติดังกล่าวถือว่า ‘ก้าวก่าย’ หน้าที่และอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9 และเป็นการยื่นที่ผิดเวลา เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ
‘ผมเชื่อว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติไม่เห็นชอบกับญัตติดังกล่าวเหมือนกับที่เคยมีมติในญัตติทำนองเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว’
นาทีนี้คงพอคาดเดาล่วงหน้าได้ว่า ญัตติของพรรคก้าวไกล จะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เพราะหากพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย เสียงการลงมติคงไม่ต่างจากเที่ยวที่แล้ว
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลบางคนเดาทางไว้คือ หากยอมตามที่พรรคก้าวไกลเสนอมา ผลของการออกเสียงประชามติแบบเปิดกว้างดังกล่าว จะถูกนำไปใช้เป็น ‘ใบเสร็จ’ สำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบไร้ข้อจำกัด
เพราะอาจถูกนำไปเป็นข้ออ้างได้ว่า ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้มอบฉันทานุมัติมาให้แล้ว