ก้าวไกลระทึก กกต.ยื่นยุบพรรคสัปดาห์หน้า

8 มี.ค. 2567 - 08:16

  • ก้าวไกล เอาคืน ยื่นญัตติขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ

  • เตรียมการแก้ไข เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอยอีกครั้งในอนาคต

  • รอดูว่า การยุบพรรคก้าวไกล กับการตั้งกรรมาธิการ ใครจบก่อนกัน

ยุบพรรคก้าวไกล-SPACEBAR-Hero.jpg

พรรคก้าวไกล เพิ่งจะยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ ไปเมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการตรวจสอบของฝ่ายกฎหมายสภาว่า จะบรรจุเข้าระเบียบวาระได้หรือไม่

การยื่นญัตตินี้ของพรรคก้าวไกล จะเป็นการแก้ลำที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การขอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือเพียงต้องการความชัดเจนเรื่องขอบเขตอำนาจที่ว่า หรือว่าหวังผลทั้งสองอย่างก็ตาม

แต่ดูแล้วน่าจะเป็นการมองไปข้างหน้า เพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับอนาคตเสียมากกว่า ดังที่ได้ระบุเหตุผลของการเสนอญัตติไว้ตอนหนึ่งว่า

‘การเสนอร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฉบับใด เป็นอำนาจของสส.ตามกระบวนการนิติบัญญัติ และการเสนอร่างกฎหมาย ไม่สามารถเป็นการล้มล้างการปกครองได้ เพราะรัฐกำหนดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้อยู่แล้ว 

แต่ปรากฏว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการตีความขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจโดยตรงในการเสนอกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจที่จะตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลต่อความชัดเจนของขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็น สส.หรือสมาชิกรัฐสภา

ดังนั้น จึงเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาโดยเร่งด่วนในการเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ กรณีการตรวจสอบการกระทำของ สส. รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลก่อนหน้านี้ เช่น 

คำวินิจฉัยที่ 15-18/2566 (ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ), คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และที่ 4/2564 (เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนกระทบต่อสมดุลและดุลยภาพอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างมีนัยสำคัญ’

กว่าที่ญัตตินี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านความเห็นของสภาออกมาได้ คงต้องใช้เวลาอีกนาน และถึงตอนนั้นคดียุบพรรคก้าวไกล ผลคงออกมาแล้วว่าหมู่หรือจ่าอย่างไร

ดังนั้น ญัตติร้อน ๆ ที่สส.พรรคก้าวไกลร่วมกันยื่นในวันก่อน จึงไม่ได้หวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคดียุบพรรคที่อยู่ในมือ กกต.แต่อย่างใด

และในวันเดียวกับที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตติ สว. ‘สมชาย แสวงการ’ ได้ออกมากระทุ้ง กกต.ให้เร่งยุบพรรคก้าวไกล โดยไม่ต้องเสียเวลาไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานอื่นใดอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยการกระทำดังกล่าวไปแล้วว่า เป็นการล้มล้างปกครอง ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันกับทุกองค์กร

นาทีนี้ไม่ว่า พรรคก้าวไกลจะออกแรงดิ้น หรือทำตัวเป็นเด็กดีอย่างไร หรือต่อให้ขาประจำอย่าง สว.สมชาย ไม่ออกมากระทุ้ง กกต.ก็ต้องเอาผิดยุบพรรคก้าวไกลอยู่ดี ซึ่งล่าสุดได้รับการยืนยันว่า อย่างช้าไม่เกินวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมนี้ กกต.จะได้ฤกษ์ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล   

ได้เวลาที่ชาวพรรคสีส้ม ต้องเจริญภาวนาบทมรณานุสติกันอีกครั้ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์