“ใบไผ่” วันนี้ขอยกยอดเรื่อง มหาภารตะยุทธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกไปก่อน เพราะอยากเขียนถึงบุคคลในตำนาน “พันเอกณรงค์ กิตติขจร” ตัวละครตัวสุดท้ายของตุลามหาวิปโยค ที่เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม
พันเอกณรงค์ กิตติขจร ในวัย 90 ปี ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบที่โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ ในช่วงสายของวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 หลังใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายกับลูกหลานที่ “บ้านถกลสุข” บ้านที่ตั้งชื่อมาจากชื่อ “จอมพลถนอม และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร”

“บ้านถกลสุข” เป็นบ้านที่ครอบครัวกิตติขจรต้องเช่าจากกรมธนารักษ์เป็นรายปี เนื่องจากเป็น 1 ในทรัพย์สินที่ถูกยึด หลังจอมพลถนอม และพันเอกณรงค์ กิตติขจร หมดอำนาจ เมื่อปี 2516
เรื่องราวของบ้านถกลสุข เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 เรื่องราวที่คงต้องปิดฉากลงพร้อมการถึงแก่อนิจกรรมของพันเอกณรงค์ กิตติขจร หนึ่งใน 3 ตัวละครสำคัญของเหตุการณ์เดือนตุลาคม 51 ปีก่อน
ช่วงเดือนตุลาคม ปี 2556 “พันเอกณรงค์” ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ TPBS เป็นครั้งแรก ที่บ้านถกลสุข เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ในสารคดี “หากไม่มีวันนั้น…14 ตุลา 2516” ในวาระ 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในช่วงเดือนตุลาคม 2556

การให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น มีหลายเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านการให้สัมภาษณ์สื่ออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งสุดท้ายที่พันเอกณรงค์พูดถึงเรื่องนี้ แต่กระนั้นบางเรื่องก็ยังไม่ถูกเปิดเผย และบางเรื่องก็ยังเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้
พันเอกณรงค์ กิตติขจร เมื่อปี 2516 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ตุลาฯ วิปโยค เป็นนายทหารหนุ่มที่มีบทบาทสูง ทั้งทางการเมืองและการทหาร จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5 หรือ จปร. 5 ที่โด่งดังในช่วงปี 2534
เพื่อนร่วมรุ่น จปร. 5 ของเขา คือ “บิ๊กสุ” พลเอกสุจินดา คราประยูร และ “บิ๊กตุ๋ย” พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ที่เวลานั้นทั้งคู่ยังดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยทูตทหารบกอยู่ในต่างประเทศในระดับยศพันโท ขณะที่ “พันเอกณรงค์” ติดยศพันเอกพิเศษ ในตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ไปแล้ว


หากไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “พันเอกณรงค์” น่าจะอยู่ในเส้นทางที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ไม่ยาก
ส่วนตำแหน่งทางการเมือง หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2514 “พันเอกณรงค์” ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ “คณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิวัติราชการ” หรือ ก.ต.ป. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและติดตามการกระทำทุจริตในแวดวงราชการ
ก.ต.ป. ถูกขนานนามว่า ย่อมาจาก “เกสตาโป” ประเทศไทย และทำหน้าที่เป็นองค์กรลับที่สร้างความหวาดวิตกทั้งในวงการข้าราชการ และนักการเมือง เพราะมีอำนาจเต็มในการจับกุม และสอบสวน
ขณะที่ตำแหน่งทางสังคม เขาคือ “ลูกชาย” ของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้มีอำนาจเต็มในคณะนั้น
อีกด้าน ยังดำรงสถานะ “ลูกเขย” ของ “จอมพลประภาส จารุเสถียร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารบก

“พันเอกณรงค์” ก่อนจะถึงเดือนตุลาคม 2516 จึงเป็นนายทหารที่ถูกกล่าวขานถึง และถูกจับตามองว่า จะเป็นทายาททางการเมือง และสืบทอดอำนาจของทั้งจอมพลถนอม และจอมพลประภาส
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2516 ทำให้ชีวิตของ “พันเอกณรงค์” พลิกผันอย่างสิ้นเชิง
จากนายทหารอนาคตไกล กลับต้องระเห็จออกจากแผ่นดินเกิดแบบไม่ทันตั้งตัว ทรัพย์สินทั้งของตัวเองและครอบครัวถูกยึดหมด ตามคำสั่งของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี 2 ฉบับในขณะนั้น คือ
- คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. ๔๒/๒๕๑๖ เรื่องการสอบสวนทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจร และภริยา จอมพลประภาส จารุเสถียร และภริยา และพันเอกณรงค์ กิตติขจรและภริยา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2516
- คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. ๓๙/๒๕๑๗ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2517 เรื่อง ให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจร และภริยา ทรัพย์สินของจอมพลประภาส จารุเสถียร และภริยา และทรัพย์สินของพันเอกณรงค์ กิตติขจร และภริยา ที่อายัดไว้ตาม คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. ๔๐/๒๕๑๖ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ ตกเป็นของรัฐ
แม้ “พันเอกณรงค์” จะกลับมาประเทศไทยได้ในภายหลัง และลงเล่นการเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึง 3 สมัย ในปี 2526 ปี 2529 และปี 2531 รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติอีกหนึ่งสมัยในปี 2534 หลังการรัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่นำโดยเพื่อนร่วมรุ่นจปร. 5 ของเขา


แต่ทรัพย์สินที่ถูกยึดเมื่อปี 2517 ก็ไม่เคยตกกลับมาเป็นของ “ครอบครัวกิตติขจร” อีกเลย แม้จะพยายามยื่นคำร้อง เพื่อขอคืนทรัพย์สินหลายครั้งก็ตาม
เรื่องราวของทรัพย์สินที่ถูกยึด เรื่องราวชีวิตที่พลิกผันจนต้องเดินทางออกนอกประเทศ อำนาจที่หลุดลอยออกไปจากมือภายในพริบตา
แม้บางส่วนจะถูกบันทึกในการให้สัมภาษณ์ของ “พันเอกณรงค์” ต่อ TPBS เมื่อปี 2556 ว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดของ “จอมพลประภาส” พ่อภรรยาของเขาที่มีคำสั่งให้จับกุม 13 นักศึกษา ที่ออกมาประท้วงและแจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2516 จนเกิดเหตุการณ์บานปลายไปสู่ประวัติศาสตร์การประท้วงครั้งใหญ่บนถนนราชดำเนิน แต่บางเหตุการณ์ก็ไม่ถูกบันทึก เพราะถูกทำลายทิ้ง โดยคำสั่งของนายทหารใหญ่ที่มีอำนาจในขณะนั้น
โดยเฉพาะใครสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุมของนักศึกษา ขณะที่กำลังจะยุติการชุมนุม หลังการปล่อยตัว 13 นักศึกษาที่ถูกจับกุมออกมาแล้ว
หรือบางเรื่องที่พันเอกณรงค์ยังไม่เคยพูด เรื่องเฮลิคอปเตอร์ลำไหนที่กราดยิงลงไปนถนนราชดำเนิน

บางเรื่องที่ยังไม่ถูกเปิดเผยถึงศึกชิงอำนาจในกองทัพบก เมื่อจอมพลถนอม และจอมพลประภาส ครองตำแหน่งผู้บัญชการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกนานเกินไป
ความจริงทั้งหมดถูกฝังลงไปพร้อมการถึงแก่อนิจกรรมของ “พันเอกณรงค์ กิตติขจร” ทิ้งไว้แต่เพียงบทความของมติชน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 เรื่อง “เงาสะท้อน ทักษิณา กรณีเดือนตุลาคม 2516 ความจริงจาก ณรงค์ กิตติขจร กรณีกฤษณ์ สีวะรา”
บทความที่ถูกจัดเก็บไว้ในกองประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” แม้จะเป็นบทความไม่ยาวมาก แต่น่าหาอ่านเป็นอย่างยิ่ง
เพราะบันทึกเพียงไม่กี่บรรทัด อาจเชื่อมจิ๊กซอว์ “ความจริงเดือนตุลา” ที่ถูกฝังไปกับการถึงแก่อนิจกรรมของ “พันเอกณรงค์ กิตติขจร” ได้อย่างแจ่มชัดยิ่ง