ถึงตอนนี้คงได้เห็นรายชื่อครม.ชุดฝ่าบ่วงจริยธรรม ‘อุ๊งอิ๊ง 1’ ไปกันบ้างแล้วว่า มีใครบ้างที่ไม่ได้ไปต่อ ด้วยเหตุผลของการไม่ผ่านเครื่องกรองที่ชื่อ ‘วิญญูชน’ ก็ต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่น สลับร่างสร้างชาติกันไป
ส่วนจะมีใครผิดหวัง สมหวัง หรือยังทำใจไม่ได้กับนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย ถึงเวลาก็คงต้องทำใจ ในเมื่อผ่านกระบวนการทางกฎหมายและพิธีกรรมต่าง ๆ มาแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้ทำงานพิสูจน์ตัวเองไป
เพราะมาตามครรลอง ผิดถูกอย่างไร ก็ต้องใช้กลไกที่มีอยู่ทั้งในสภานอกสภาตรวจสอบ และหากอยู่ไปจนครบวาระ ก็ให้กระบวนการเลือกเลือกตั้งเป็นตัวตัดสิน ถ้าได้กลับเข้ามาหรือไม่ได้กลับมาอีก ก็ต้องเคารพการตัดสินของประชาชน
แม้ในชีวิตจริง แพทองธาร ชินวัตร ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จนมาถึงตำแหน่งสูงสุดในฐานะผู้นำประเทศ มาเพราะนามสกุลล้วนๆ ก็ตาม
แต่ก็มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่อำนาจจากปากกระบอกปืน
ทีนี้มาถึงเรื่องเงินหนึ่งหมื่นบาท ที่รัฐบาลชุดก่อนทำค้างไว้ ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย แรก ๆ ทำท่าจะ ‘จอดป้าย’ ไปแล้ว หลังศาลรัฐธรรมนูญเอาบันไดมาพาดให้ลง จากการสอย เศรษฐา ทวีสิน พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
แต่นายกฯ คนใหม่ยัง ‘แบ่งรับแบ่งสู้’ ปฏิเสธเรื่องที่ ทักษิณ ชินวัตร สั่งล้มโครงการว่าไม่จริง เพราะการจะดำเนินโครงการใด จะต้องปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมตอบคำถามสื่อไว้อย่างระมัดระวังในวันรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
เรื่องเงินหมื่นบาท หากมองในมิติการเมือง แน่นอนเมื่อเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ พอเข้ามาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ไม่ว่าคนในพรรคใครจะมาเป็นนายกฯ โครงการแจกเงินหมื่นบาท ก็ต้องได้ไปต่อ และมีทางเดียวไม่เลี้ยวไปไหน
เพราะเป็น ‘ไฟต์บังคับ’ ที่ต้องทำ ยิ่งมาไกลถึงขนาดเปิดให้ผู้มาลงทะเบียนไปมากถึง 30 ล้านคน ก็ยิ่งทำให้เลี่ยงไม่แจกไม่ได้ ส่วนจะ ‘ปรับรูปแบบ’ หรือลดไซซ์ ลดขนาดลงอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ย้อนไปสมัยรัฐบาลเศรษฐา ที่ทำเรื่องนี้แบบกล้า ๆ กลัวๆ เลื่อนแล้วเลื่อนอีก โอ้เอ้อ้างสารพัดเหตุผลมาตลอด แม้กระทั่งมีเงินมารออยู่ตรงหน้าแล้วทั้งจากงบปี 67 และปี68 แต่กลับมีปัญหา**‘แอปพลิเคชั่น’** ที่จะนำมาใช้เบิกจ่ายยังทำไม่เสร็จ
หรือแม้แต่การลงทะเบียนร้านค้าของกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่จะแถลงรายละเอียดในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ต้องลากยาวไปเดือนกันยายนแทน เพราะสัญญาณตอบรับจากร้านค้าขนาดเล็กไม่ดี ไม่มีใครอยากได้เงินสมมติ ที่นำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้
ถูกบังคับให้นำเงินดิจิทัลที่ได้ไปเป็นทุนซื้อวัตถุดิบมาขายอย่างเดียว
อาการดึงเช็งของรัฐบาลเศรษฐา เห็นได้จาก ‘ไม่ยอมนำเรื่องเข้าครม.’ ให้ความเห็นชอบเสียที เพราะกลัวผลผูกพันทางกฎหมายที่เป็นความผิดสำเร็จ จนสุดท้ายต้องพ้นจากตำแหน่งไป และนโยบายเรือธงที่ว่าก็ค้างเติ่งมาถึงวันนี้
หากนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ไม่ได้ชื่อแพทองธาร แต่เป็น ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ การตัดสินใจเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คงไม่ต้องยุ่งยาก แจกเป็นแจก คุกเป็นคุก ไม่ต้องคิดมากให้เสียเวลาเปล่า
แต่นี่เป็นแพทองธาร ที่เป็นลูกสาวของทักษิณ การจะทำอะไรจึงต้องมองหน้ามองหลัง เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ทุกเรื่องแบบยาว ๆ ชนิดที่ไม่ต้องกลัวถูกร้องเรื่องครอบงำของทักษิณเมื่อวานนี้ (20 สิงหาคม)
ทักษิณ ที่มาในนามของ ‘ผู้สังเกตการณ์’ ได้แจกแจงความหมายของเงินดิจิทัลวอลเล็ตไว้ละเอียดยิบประกอบด้วยอะไรบ้าง พร้อมขมวดปมให้เสร็จว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องทำ และต้องทำอย่างรวดเร็ว รอช้าไม่ได้
‘รูปแบบจะอิงเทคโนโลยีหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องถูกกฎหมาย และไม่ให้ขัดแย้งกับคนที่เห็นต่างมากเกินไป’
แถมตบท้ายไว้ว่า หลังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเดินหน้าทำงานได้แล้ว ก็สั่งการได้เลย
ฟังดูแล้ว คงจะได้เห็นการแจกเงินหมื่นบาทเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เงินดิจิทัล และอาจพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมาย ตามที่หลายฝ่ายให้คำแนะนำไว้ โดยเฉพาะคำพูดก่อนหน้านี้ของโฆษกรัฐบาล ชัย วัชรงค์ ที่ว่า ‘กลุ่มเปราะบาง’ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้ก่อนใครภายในวันที่ 30 กันยายนนี้
กลายเป็นความจริงที่มาก่อนเวลาทันที
แม้เป็นการแจกแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า และต้องปรับรูปแบบการใช้จ่ายไม่ให้หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย งานนี้ต่อให้กลับมาใช้แอปฯเป๋าตัง ก็ต้อง **‘ยอมเสียหน้า’**ดีกว่าเสียคะแนน แถมไม่ต้องเสี่ยงติดคุกตอนหลังด้วย
เรื่องการแจกเงินหมื่นบาท จึงน่าจะทำได้ก่อนและทำทันทีหลังแถลงนโยบายรัฐบาลในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นไฟต์บังคับแล้ว ยังเป็นการ ‘เรียกขวัญ’ เสริมความ ‘ขลัง’ ให้นายกฯ คนใหม่ ที่จะเป็นผู้นำเศรษฐกิจไปด้วยพร้อม ๆ กัน
ต่อให้หน้าตา ครม.จะขี้เหร่ หรือเรือจะรั่วก่อนออกจากท่าอย่างไร ถ้าได้เงินหมื่นมาแจกนำร่องไปก่อน แม้เป็นรัฐบาลต้นทุนต่ำ ก็คงพอกล้อมแกล้มไปได้เองแหล่ะ