18 วันแล้ว ที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ทางแอปฯ ‘ทางรัฐ’ แค่ 2 วันแรก มีคนเข้าไปลงทะเบียนทะลุ 20 ล้านคน
แต่พอเปิดเข้าไปตรวจสอบสถานะ อยากรู้ว่าจะได้สิทธิหรือไม่ได้ เข้าไปดูกี่ครั้ง ๆ ก็เหมือนเดิม คือ ยังอยู่ที่ขั้นตอนที่ 3 จากทั้งหมด 5 ขั้นตอน พร้อมข้อความ ‘เรากำลังตรวจสอบสิทธิของท่านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’
แสดงว่าเปิดให้ลงทะเบียน ‘ทางรัฐ’แล้ว ไม่มีการทำอะไรต่อ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ลงทะเบียนมีรายได้เกินเกณฑ์หรือไม่เลย
เปิดให้ลงทะเบียน เพื่อให้โครงการมีสถานะว่าดำเนินการแล้ว จะได้เป็นข้ออ้างในการใช้งบกลางปี 2567 จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาท ว่าเป็นงบผูกพัน ไม่ต้องใช้งบฯ ให้หมดภายในวันที่ 30 กันยายนนี้
ทางด้านร้านค้าที่จะร่วมโครงการ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชชชัย ‘เลื่อน’ การแถลงข่าวจาก 5 สิงหาคม ออกไปเป็นสิ้นเดือนกันยายน อ้างว่าเพื่อไม่ให้สับสนกับการลงทะเบียนของประชาชนที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน
ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่าบริษัทในเครือ ธนาคาร SCB ที่ถูกล็อคตัวไว้พัฒนา ‘วอลเล็ต’ หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ขอถอนตัวไม่ทำแล้วเพราะทำไม่ทันใช้งานในไตรมาส 4 ปีนี้แน่ ๆ กลัวเสียชื่อ และเสียหายถ้ารับงานแล้ว ทำไม่ทัน หรือใช้ไม่ได้
นี่คือสถานะของโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล ก่อนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเสียงข้างมากถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ให้พ้นจากนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
แม้โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล จะยังคงเดินหน้าต่อไปในรัฐบาลใหม่ที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นโครงการของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่โครงการของเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยได้ตอกย้ำหลายครั้งหลายหนว่า จะแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชน 50 ล้านคนตามที่หาเสียงไว้ จนความฝันแปรเปลี่ยนเป็นความหวัง
อย่างไรก็ตามด้วยสถานะของโครงการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่แทบจะ **‘ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน’**เลย มีแต่การแถลงข่าวความคืบหน้า ซึ่งไม่คืบหน้าเลยประกอบกับเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แม้โครงการนี้จะเดินหน้าต่อ แต่กระบวนการทุกอย่างต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่คือ รอให้มี ครม. รอให้ ครม. แถลงนโยบายต่อสภาฯ จึงจะเริ่มงานได้ รอแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ กันใหม่
ดังนั้น แม้รัฐบาลใหม่จะยืนยันว่า เดินหน้าต่อ แต่ไทม์ไลน์การแจกเงินที่เดิมตั้งไว้ว่า ภายในไตรมาส 4 ‘ไม่ทัน’ แน่นอน
เว้นเสียแต่ว่า จะแปลงร่าง เปลี่ยนขนาดให้เล็กลง จะลดจำนวนคน หรือจำนวนเงินก็ตามแต่ และแจกเงินสดผ่านแอป ‘เป๋าตัง’ ซึ่งทำได้ทันทีเลย
ในการแถลงข่าวของนายกฯ อุ๊งอิ๊ง หลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้จะยืนยันว่า จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่ก็พูดเป็นนัย ๆ ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลง
‘ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สภาพเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป เราจะต้องศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม แน่นอนว่าจะต้องอยู่ในระเบียบของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังด้วย’
โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล พรรคเพื่อไทย ‘เลิกไม่ได้’ เพราะคือหายนะครั้งใหญ่ในทางการเมือง ที่จะเป็นตราบาปตลอดไป แต่ถ้าดึงดันจะเดินเหมือนเดิมทุกอย่างต่อไป ความเสี่ยงเกิดขึ้นแน่นอน เสี่ยงที่จะทำไม่ได้ ทำไม่ทัน และเสี่ยงที่จะผิด พ.ร.บ วินัยการเงินการคลัง
คนที่จะต้องรับผิดก็คือ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร นั่นเอง
อย่าลืมว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากนายกรัฐมนตรี ให้น้ำหนักกับ ‘วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน’ ที่จะรู้ว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ ไม่น้อยกว่า การตัดสินโดยยึดข้อกฎหมาย