ในที่สุดปาฏิหาริย์ก็ไม่เกิดกับพรรคก้าวไกล เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล พร้อมมีข้อความสำทับตามมาในบางช่วงว่า ‘อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’
แน่นอนเป็นคำตัดสินที่สวนทางกับความรู้สึกของคนในพรรคก้าวไกลอย่างมาก เพราะต่างเชื่อและมั่นใจว่า ได้ต่อสู้ครบทุกประเด็น ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดย ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ผู้นำจิตวิญญาณ ให้ความมั่นใจต่อชาวพรรคสีส้ม ก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเพียงไม่กี่นาทีว่า
‘ไม่ไปถึงขั้นยุบพรรคแน่’
เช่นเดียวกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่บอกกับสื่อมวลชนผ่านไปถึงสมาชิกพรรคก้าวไกล ก่อนเดินทางไปฟังคำตัดสินที่ศาลด้วยตัวเองว่า มั่นใจประวัติศาสตร์จะ ‘ไม่ซ้ำรอย’ การยุบพรรคอนาคตใหม่
แต่เวลาผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ผลคำตัดสินออกมาไปอีกทาง
หลังทราบผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ ที่กลายเป็น ‘อดีตผู้นำฝ่ายค้านฯ’ หมาด ๆ ด้วยผลของกฎหมาย ได้ลุกขึ้นกล่าวคำอำลาต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเดินนำอดีตสส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคอีกหลายคนออกจากห้องประชุมทันที
ในขณะที่ทั้งหมดเดินผ่านสื่อมวลชน ได้ชูกำปั้นหราเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ให้สื่อบันทึกภาพ และก่อนขึ้นรถกลับ ชัยธวัชได้บอกกับสื่อมวลชนสั้น ๆ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า
‘แล้วผมจะกลับมาใหม่’
อันเป็นการแสดงความมั่นใจอีกครั้ง แต่ต้องใช้เวลารอนานถึง 10 ปี ตามที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญแช่แข็งไว้
การยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 ซึ่งได้อ้างถึงคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เรื่องคดีมาตรา 112 ที่ถูกใช้เป็นสารตั้งต้นในการร้องยุบพรรค ซึ่งเป็นไปตามที่ วิษณุ เครืองาม เนติบริกร ณ เวลานั้น ได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อเอาไว้ว่า
‘คดีมาตรา 112 อย่างมากศาลก็แค่สั่งให้หยุดการกระทำ จะไม่นำไปสู่การยุบพรรคในทันที แต่จะเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การยื่นร้องยุบพรรคต่อไป’
วันนี้ ‘สารตั้งต้น’ ที่ว่านั้น ได้นำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลเรียบร้อยแล้ว และในคำวินิจฉัยยังอ้างถึงคำวินิจฉัยที่เป็นสารตั้งต้นด้วยว่า เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันกับทุกองค์กร ก็ย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย
เพียงแค่วรรคนี้ท่อนเดียว ก็พอเป็นคำตอบได้แล้ว และทำให้ทราบว่าทำไมถึงมีคำว่า ‘อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’ แนบท้ายมาด้วย
นอกจากนั้น ยังระบุรายละเอียดไว้ในคำวินิจฉัยบางตอน ที่อ้างถึงคำวินิจฉัยฉบับที่เป็นสารตั้งต้นดังกล่าวไว้ด้วยว่า
‘เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันมีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน
ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในที่สุด การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเข้าลักษณะการกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย..
ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’
ในเมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันกับทุกองค์กร รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วย จึงทำให้ต้องสั่งยุบพรรคก้าวไกลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ที่ต้องย้ำประโยคนี้หลายครั้ง ก็เพราะว่าเรื่องมาตรา 112 กับคนในก้าวไกล ที่เป็น ‘ชนวนเหตุ’ ของการยุบพรรคในครั้งนี้ ยังมีประเด็น 44 สส.ก้าวไกล อยู่ในการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งหากการเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 เป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การยุบพรรคได้
ฉันใด ก็ฉันนั้น กรณีของ 44 สส.ก้าวไกล หากยึดตามหลักการเดียวกันและมีผลผูกพันของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่เหมือน ๆ กัน สถานการณ์ของ 44 สส.ก้าวไกล ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.ก็ย่อมอยู่ในภาวะที่ ‘น่าเป็นห่วงยิ่ง’ ซึ่งไล่ชื่อดูแล้วมีสส.ปัจจุบันที่เป็นระดับแกนนำรวมอยู่ด้วยไม่ต่ำกว่า 10 คน
แม้แต่ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ ที่จะมาเป็นแม่ทัพหญิงคนใหม่ คู่กับ ‘ณัฐพงษ์ เรือปัญญวุฒิ’ ก็มีชื่อรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งหากต้องมีอันเป็นไปขึ้นมาจริง ๆ โทษานุโทษในเรื่องนี้ ไม่ได้แค่แช่แข็ง 5-10 ปีเท่านั้น
แต่มันคือโทษ **‘ประหารชีวิต’**ทางการเมืองเลยทีเดียว
ด้วยเหตุที่ว่า จึงทำให้วิบากกรรมของคนก้าวไกลยังไม่หมด อยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกรรมเก่าตามไล่ล่ากันต่อไป